สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1

สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1


ทะเบียนวิจัย  -
ชื่อโครงการวิจัย การใช้ปุ๋ยชีวภาพเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา พด.13 เพื่อเพิ่มผลผลิตพืชสมุนไพร
  Application of L.D.13 Biofertilizer of Arbuscular Mycorrhizal Fungi for Increasing Herb Production
สถานที่ดําเนินการ สถานีพัฒนาที่ดินนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ผู้ดำเนินการ นายจิระ  มาตรทอง 
ผู้ร่วมดำเนินการ นายนัฐพงษ์  แก้วรัตนชัย นายศิรวิทย์ เชิดชู

บทคัดย่อ
การศึกษาการใช้ปุ๋ยชีวภาพเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา พด.13 เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสมุนไพร วัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลของการใส่ปุ๋ยชีวภาพเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา พด.13 ต่อการเจริญเติบโต ผลผลิต และปริมาณสารสำคัญ ในสมุนไพรบัวบก ฟ้าทะลายโจร และขมิ้นชัน โดยวางแผนการทดลองแบบ RCBD จำนวน 3 ซ้ำ ประกอบด้วย 4 ตำรับการทดลอง ได้แก่ (1) ไม่ใส่ปุ๋ยและไม่ใส่ปุ๋ยชีวภาพ พด.13 (2) ใส่ปุ๋ยชีวภาพ พด.13 (3) ใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำ และ (4) ใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำและใส่ปุ๋ยชีวภาพ พด.13 ผลการทดลองพบว่า การใส่ปุ๋ยชีวภาพเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา พด.13 มีผลทำให้การเจริญเติบโต ผลผลิต และปริมาณสารสำคัญ triterpenoids ในสมุนไพรบัวบก เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีผลทำให้ผลผลิตสดและแห้งเพิ่มขึ้น 30 และ 40 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และมีผลทำให้ปริมาณสารสำคัญ triterpenoids เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะสารสำคัญ asiaticoside, madecassoside และ madecassic acid อย่างไรก็ตาม การใส่ปุ๋ยชีวภาพเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา พด.13 ไม่มีผลต่อปริมาณผลผลิตฟ้าทะลายโจร แต่มีผลทำให้ปริมาณสารสำคัญ andrographolide ในฟ้าทะลายโจรเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ และมีผลทำให้การเจริญเติบโตด้านพื้นที่ใบและน้ำหนักแห้งทั้งหมดเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ การใส่ปุ๋ยชีวภาพเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา พด.13 มีผลทำให้ปริมาณผลผลิตสดและแห้ง และปริมาณสารสำคัญ curcuminoids ในขมิ้นชันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้น ผลการวิจัยนี้จึงชี้ให้เห็นว่า การใช้ปุ๋ยชีวภาพเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา พด.13 ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตสมุนไพรได้

ดูเพิ่มเติมคลิกที่นี่

ทะเบียนวิจัย 62 64 06 32 020001 013 103 01 11
ชื่อโครงการวิจัย การศึกษาการกระจายตัวของดินเนื้อปูนเพื่อจัดทําแผนที่สถานภาพของจุลธาตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดจุลธาตุบางชนิดในข้าวโพดที่ปลูกบนดินเนื้อปูนบริเวณพื้นที่
ภาคกลางของประเทศไทย
  Study on distribution of calcareous soil to create micronutrient status soil
map and amelioration of some micronutrient deficiency of corn in calcareous soil on central area, Thailand.
สถานที่ดําเนินการ สถานที่เก็บตัวอย่าง จังหวัดลพบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศไทย
ผู้ดำเนินการ นางสาวนัทฐา ทักษ์รัตนศรัณย์
ผู้ร่วมดำเนินการ นางสาวฐนชนก คำขจร, นางสาวกัญจน์รัชต์ ลชิตาวงศ์, นางสาวอรพิชา วรภักดี, นายกฤดิโสภณ ดวงกมล, นางสาวชนิดา เกิดชนะ, นายรัตนชาติ ช่วยบุดดา, นางสาววันวิสาข์ ปั้นศักดิ์

บทคัดย่อ
การศึกษาในครั้งนี้มี 2 การทดลอง ระยะเวลาดําเนินการทั้งสิ้น 3 ปี (2562-2564)  การทดลองที่ 1 การศึกษาการกระจายตัวของดินเนื้อปูนโดยศึกษาร่วมกับชุดดินตัวแทนหลักที่เป็นดินเนื้อปูนเพื่อหาความสัมพันธ์และแนวโน้มการแพร่กระจาย สําหรับจัดทําแผนที่สถานภาพของจุลธาตุของดินเนื้อ ปูนบริเวณพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่าดินมีสมบัติค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ในช่วง 7.4-7.8 มีความเป็นด่างเล็กน้อย ปริมาณไนโตรเจนอยู่ในระดับต่ํา อยู่ในช่วง 0.1-0.3% ฟอสฟอรัสที่เป็น ประโยชน์อยู่ในระดับปานกลางถึงสูง 16-45 mg/kg โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้อยู่ในระดับสูงมาก อยู่ ในช่วงมากกว่า 120 mg/kg เหล็กและสังกะสีที่สกัดได้อยู่ในระดับขาดแคลน น้อยกว่า 2.5 และ 0.5 mg/kg ตามลําดับ แมงกานีสและทองแดงที่สกัดได้อยู่ในระดับเกินพออยู่ในช่วงมากกว่า 1 mg/kg และ 0.2 mg/kg ตามลําดับ การทําแผนที่จากการประมาณค่าโดยวิธี Kriging และ IDW การวิเคราะห์ทางสถิติ มีค่าความแม่นยํา (RMSE) ทั้งสอง ทั้งสองวิธีไม่แตกต่างกัน
การทดลองที่ 2 การศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดจุลธาตุในข้าวโพดที่ปลูกบนดินเนื้อ ปูนชุดดินตาคลี ทําแปลงทดลอง ณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อหาแนวทางในการ จัดการดินและปุ๋ยอย่างเหมาะสม โดยวางแผนการทดลองแบบสุ่มบล็อกสมบูรณ์ (RCBD) 5x3 รวม 15 ตํารับการทดลอง ศึกษาอัตราของปุ๋ยจุลธาตุ Zn และ Fe ตามตํารับการทดลองดังนี้ อัตราของปุ๋ยจุลธาตุ สังกะสี ZnSO4 4 อัตรา 1, 2, 4, 8 mg Zn/ Kg soil และตํารับควบคุม (Control) อัตราปุ๋ยเหล็ก FeEDDHA 4 อัตรา 10, 20, 40, 80 mg Fe/ Kg soil และตํารับควบคุม (Control) ผลการทดลอง พบว่า ปุ๋ยสังกะสีอัตรา 2 mg Zn/ Kg soil (0.64 Kg Zn /rai) และปุ๋ยเหล็กอัตรา 40 mg Fe/ Kg soil (12.8 kg Fe/rai) มีการเจริญเติบโตและผลผลิตข้าวโพดสูงสุด

ดูฉบับเต็มคลิกที่นี่

ทะเบียนวิจัย 64 65 04 08 020000 013 102 01 23
ชื่อโครงการวิจัย การบูรณาการเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวพันธุ์ กข.43
  Integration of LDD's Technology for Enhancing Rice Yield RD.43 Varieties.
สถานที่ดําเนินการ
 
จังหวัดนครนายก กลุ่มชุดดินที่ 11 ชุดดิน รังสิต Rangsit Series : Rs
จังหวัดสระบุรี  กลุ่มชุดดินที่ 2 ชุดดิน มหาโพธิ์ Maha Phot Series : Ma
ผู้ดำเนินการ นางสาวฉลวย ดวงดาว Ms.Chaluai Duangdao
ผู้ร่วมดำเนินการ นางสาวศิริวรรณ แดงภักดี Ms.Siriwan Dangpukdee
นางสาวนํ้าฝน อิสระ Ms.Namfon Isara

บทคัดย่อ
การบูรณาการเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวพันธุ์ กข.43 วัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาการใช้เทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติดินของดินเปรี้ยวจัด การเพิ่มผลผลิต ข้าว และ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินในการปรับปรุง ดินเปรี้ยวจัด ให้แก่ เกษตรกร มีระยะเวลาดําเนินการ 2 ปี ประกอบด้วย 2 การทดลอง คือ การทดลองที่ 1 ในชุดดินรังสิต และการทดลองที่ 2 ในชุดดินมหาโพธิ์ เทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินที่ใช้คือ การใส่ปูนตามค่าความต้องการ ปูนแบบเต็มอัตรา ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และไถกลบตอซัง ชุดดินรังสิต ก่อนการทดลอง ค่าความเป็น กรดเป็นด่างของดินเท่ากับ 3.8 เป็นดินเปรี้ยวจัด เมื่อมีการใส่ปูนตามค่าความต้องการปูนแบบเต็มอัตรา ปีที่ 1 ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินเพิ่มขึ้นเท่ากับ 6.6 และ และ 5.7 ในปีที่ 2 จัดอยู่ในระดับกรด เล็กน้อยถึงเป็นกลาง ปริมาณอินทรียวัตถุ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ลดลงเล็กน้อย ผลผลิตข้าวปีที่ 1 เท่ากับ 452.68 ปีที่ 2 เท่ากับ 449.5 กิโลกรัมต่อไร่ ผลตอบแทนเหนือต้นทุนปีที่ 1 เท่ากับ 2,147 และ ปีที่ 2 เท่ากับ 5,149 บาทต่อไร่ อัตราส่วนวรายได้ต่อต้นทุน (B/C Ratio) ปีที่ เท่ากับ 1.3 ปีที่ 2 เพิ่มเป็น 2.7 น
ชุดดินมหาโพธิ์ ก่อนการทดลอง ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินเท่ากับ 5.2 ดินเป็นกรดจัด ปีที่ 1 ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินเพิ่มขึ้นเท่ากับ 5.7 จัดอยู่ในระดับกรดเล็กน้อย ปริมาณอินทรียวัตถุ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ลดลงเล็กน้อย ผลผลิตข้าวปีที่ 1 เท่ากับ 540.50 ปีที่ 2 เท่ากับ 445.05 กิโลกรัมต่อไร่ ผลตอบแทนเหนือต้นทุนปีที่ 1 เท่ากับ 4,417 และ ปีที่ 2 เท่ากับ 4,433 บาทต่อ ไร่ อัตราส่วนรายได้ต่อต้นทุน (B/C Ratio) ปีที่ 1 เท่ากับ 1.8 ปีที่ 2 เพิ่มเป็น 2.3
ชุดดินรังสิต และชุดดินมหาโพธิ์ เมื่อการใช้เทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินที่คือ การใส่ปูนตามค่า ความต้องการปูนแบบเต็มอัตรา ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และไถกลบตอซัง มีผลทําให้ผลตอบแทนเหนือ ต้นทุน และอัตราส่วนรายได้ต่อต้นทุนเพิ่มขึ้

ดูฉบับเต็มคลิกที่นี่

ทะเบียนวิจัย 62 64 06 32 020001 013 103 02 11
ชื่อโครงการวิจัย การสำรวจการกระจายตัวของดินเปรี้ยวจัดเพื่อจัดทำแผนที่ความต้องการปูนของประเทศไทยและการศึกษาระยะเวลาที่ปูนตกค้างในดินหลังจากใส่ปูนเพื่อยกระดับพีเอชของดินเปรี้ยวจัด
  Surveying on distribution of acid sulphate soil to create lime requirement map and study on residue time after liming for increasing soil pH of acid sulphate soil.
สถานที่ดําเนินการ
 
จังหวัดนครนายก กลุ่มชุดดินที่ 11 ชุดดิน รังสิต Rangsit Series : Rs
จังหวัดสระบุรี  กลุ่มชุดดินที่ 2 ชุดดิน มหาโพธิ์ Maha Phot Series : Ma
ผู้ร่วมดำเนินการ นางสาวนัทฐา ทักษ์รัตนศรัณย์ นางสาวฐนชนก คำขจร นางสาวกัญจน์รัชต์ ลชิตาวงศ์
นางสาวอรพิชา วรภักดี นายกฤดิโสภณ ดวงกมล และนางสาวชนิดา เกิดชนะ

บทคัดย่อ
การศึกษาในครั้งนี้ประกอบด้วย 2 ทดลอง การทดลองแรกเพื่อจัดทำแผนที่ความต้องการปูน (LR) จากชุดดินหลัก และศึกษาความสัมพันธ์ความต้องการปูนกับสมบัติทางเคมีดิน บริเวณพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดภาคกลางของประเทศไทย สำหรับเป็นแนวทางในการใส่ปูนเพื่อยกระดับพีเอชดิน ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่าย โดยสุ่มเก็บชุดดินตัวแทนที่เป็นดินเปรี้ยวจัด จำนวน 93 ตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์สมบัติทางเคมีบางประการของดิน ประมาณค่าช่วงเชิงพื้นที่ของปริมาณความต้องการปูนด้วยวิธีทางธรณีสถิติ Inverse Distance Weighted (IDW) วิเคราะห์ความแตกต่างความต้องการปูนระหว่างชุดดินด้วย One-way ANOVA และหาความสัมพันธ์เชิงเส้นระหว่างตัวแปรด้วย Pearson’s correlation การศึกษานี้ จัดกลุ่มข้อมูลชุดดิน เป็นจำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่ 1) ชุดดินอยุธยา (Ay) ชุดดินบางน้ำเปรี้ยว (Bp) และชุดดินมหาโพธิ์ (Ma) 2) ชุดดิน ฉะเชิงเทรา (Cc) 3) ชุดดินองค์รักษ์ (Ok) 4) ชุดดินรังสิต (Rs) 5) ชุดดินเสนา (Se) และ 6) ชุดดินธัญบุรี (Tan) พบว่าชุดดิน Rs มีค่าเฉลี่ยความต้องการปูนมากที่สุด 1,647 kgCaCO3/Rai ตามด้วยชุดดิน Ok ที่มี ความต้องการปูน 1,591 kgCaCO3/Rai ในขณะที่ปริมาณความต้องการปูน ต่ำสุด 468 kgCaCO3/Rai พบในกลุ่มชุดดิน Ay, Bp, Ma และ ชุดดิน Cc สำหรับความต้องการปูนสูงสุด 3,120 kgCaCO3/Rai พบในกลุ่มชุดดิน Ay, Bp, Ma จากการทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยตามกลุ่มชุดดิน พบว่า ความต้องการปูนของชุดดิน Rs มีมากกว่ากลุ่มชุดดิน Ay, Bp, Ma (p-value = 0.02) และชุดดิน Cc (p-value = 0.01) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อจัดตัวอย่างดินตามระดับความรุนแรงของ pH พบว่าดินที่มีสภาพกรดรุนแรงมากจะมีความต้องการปูนสูงกว่าดินที่มีสภาพกรดจัดมาก และดินที่มีสภาพกรดจัดตามลำดับ นอกจากนี้ LR มีความสัมพันธ์กับ pH, Mn, Cu และ Zn มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (r) ระหว่าง 0.525- 0.768 ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญอย่างยิ่งทางสถิติ (p-value ≤ 0.001) แผนที่ความต้องการปูนในการศึกษานี้สามารถใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับการใส่ปูน เพื่อยกระดับพีเอชของดินเปรี้ยวจัดได้เบื้องต้น หากต้องการความแม่นยำในระดับที่สูงขึ้นแนะนำให้ใช้สมบัติทางเคมีที่มีความเกี่ยวข้องกับ LR เป็นตัวแปรร่วมในการทำนายค่า LR ในแผนที่ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรได้ในระยะยาว
การทดลองที่ 2 การศึกษาระยะเวลาที่ปูนตกค้างในดินหลังจากใส่ปูนเพื่อยกระดับพีเอชของดินเปรี้ยวจัด ณ โครงการศึกษาทดลองการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิชัยพัฒนา โดยปลูกข้าวเป็นพืชทดสอบ วางแผนการทดลองแบบสุ่มบล็อกสมบูรณ์ (RCBD) 5×3 รวม 15 ตำรับการทดลอง ศึกษาอัตราของปูนตามตำรับการทดลอง ดังนี้ T1 ใส่ปูนตามกรรมวิธีของเกษตรกรอัตรา 2 ตันต่อไร่, T2 ใส่ตามความต้องการปูน 1,800 กก./ไร่, T3 ใส่ปูนโดยลดอัตราลง 0.5 เท่าของความต้องการปูน 900 กก./ไร่, T4 ใส่ปูนเพิ่ม 0.5 เท่าของความต้องการปูน 2,700 กก./ไร่ และ T5 ไม่ใส่ปูน (ตำรับควบคุม) ผลการทดลองพบว่า การเจริญเติบโตและผลผลิตของ T2 ให้จำนวนต้น ต่อพื้นที่ จำนวนเมล็ดดี (เมล็ดต่อรวง) เฉลี่ยสูงที่สุด ผลผลิตต่อไร่ treatment ที่ 4 (ใช้ปูน 2,700 กก/ไร่) ให้ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยสูงที่สุดอยู่ที่ 563 กก.ต่อไร่ รองลงมาคือ treatment 1 (ใช้ปูน 2,000 กก/ไร่) ผลผลิต 436 กก.ต่อไร่ และ treatment 5 ให้ผลผลิตต่ำที่สุด (ไม่ใส่ปูน) โดยมีผลผลิต 303 กก.ต่อไร่ จากผลการทดลอง แนะนำให้ใส่ตามความต้องการปูนอัตรา 1.8 ตันต่อไร่ร่วมกับธาตุ NPK ตามค่าวิเคราะห์ดิน (T2) เนื่องจากให้ผลผลิตต่อไร่ที่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ และมีจำนวนเมล็ดดีสูงที่สุด (จำนวนเมล็ดต่อรวง) เมื่อเทียบกับ treatment อื่น

ดูฉบับเต็มคลิกที่นี่

ทะเบียนวิจัย 64 65 01 07 020202 102 01 23
ชื่อโครงการวิจัย ประยุกต์ใช้โปรแกรมแบบจำลองการปลูกพืชเพื่อประเมินช่วงเวลาการปลูกที่เหมาะสมสำหรับพืชหลังนา
  Application of crop modeling for evaluation crop planting date after rice harvest
ผู้รับผิดชอบโครงการ นางสาวปรารถนา ปลอดดี
ผู้ร่วมดำเนินการ นางสาวกรรณิการ์ หอมยามเย็น นายชาญณรงค์ เขตแดน  นางสาวนิรมล เกษณา  นางสาวกชกร กานตารัมภ์  นางมลสิกานต์ ทัศวิล  นายโกศล เคนทะ

บทคัดย่อ
การศึกษาการประยุกต์ใช้โปรแกรมแบบจำลองการปลูกพืชเพื่อประเมินช่วงเวลาการปลูกและการให้น้ำที่เหมาะสมสำหรับพืชหลังนา จากการวิเคราะห์สภาพสมดุลน้ำของข้อมูลสภาพภูมิอากาศรายเดือนเฉลี่ย 10 ปี (พ.ศ. 2554-2563) พบว่า ช่วงเวลาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา ควรปลูกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมเป็นช่วงที่มีความเหมาะสมและทันเวลาเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก่อนฤดูทำนาในรอบถัดไป และไม่ควรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังเดือนธันวาคมเพราะจะทำให้ระยะออกดอกตรงกับช่วงอุณหภูมิสูง อาจทำให้ช่อดอกและไหมแห้ง ผสมไม่ติด ส่งผลให้เมล็ดไม่เต็มฝัก โดยศึกษาการให้น้ำที่เหมาะสมสำหรับพืชหลังนาในกลุ่มเนื้อดิน 3 ประเภท ได้แก่ 1) กลุ่มดินเหนียว 2) กลุ่มดินร่วนละเอียด และ 3) กลุ่มดินร่วนหยาบ โดยกำหนดการให้น้ำ 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) การให้น้ำตามวิธีของเกษตรกร (ให้น้ำเมื่อค่าวิกฤตของน้ำที่พร่องไป 50%) 2) ให้น้ำเมื่อค่าวิกฤตของน้ำที่พร่องไป 35% 3) ให้น้ำเมื่อค่าวิกฤตของน้ำที่พร่องไป 40% และ 4) ให้น้ำเมื่อค่าวิกฤตของน้ำที่พร่องไป 45% จากค่าความชื้นที่เป็นประโยชน์ในดินเริ่มต้น ผลการศึกษา พบว่า ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในกลุ่มเนื้อดิน 3 ประเภท และการให้น้ำทั้ง 4 รูปแบบ ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ อย่างไรก็ตาม การให้น้ำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาจำนวนน้อยครั้งที่สุด คือ จำนวน 4 ครั้งต่อฤดูการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาจะทำให้ลดต้นทุนในการให้น้ำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาได้
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแนวโน้มของผลผลิตตามกลุ่มเนื้อดิน พบว่า กลุ่มดินเหนียว จำนวนการให้น้ำที่เหมาะสม 4 ครั้งต่อฤดูกาลผลิต ด้วยวิธีการให้น้ำของเกษตรกร (ให้น้ำเมื่อค่าวิกฤตของน้ำที่พร่องไป 50%) มีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงสุด (1,386 กิโลกรัมต่อไร่) กลุ่มดินร่วนละเอียด จำนวนการให้น้ำที่เหมาะสม 6 ครั้งต่อฤดูกาลผลิต (ให้น้ำเมื่อค่าวิกฤตของน้ำที่พร่องไป 45%) มีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงสุด (1,007 กิโลกรัมต่อไร่) ส่วนกลุ่มดินร่วนหยาบ จำนวนการให้น้ำที่เหมาะสม 8 ครั้งต่อฤดูกาลผลิต (ให้น้ำเมื่อค่าวิกฤตของน้ำที่พร่องไป 40%) มีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงสุด (1,502 กิโลกรัมต่อไร่) และเมื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ พบว่า กลุ่มดินร่วนหยาบให้น้ำ 8 ครั้งต่อฤดูกาลผลิต มีกำไรสุทธิสูงที่สุด 7,526 บาทต่อไร่ รองลงมา ได้แก่ กลุ่มดินเหนียวให้น้ำ 4 ครั้งต่อฤดูกาลผลิต มีกำไรสุทธิ 6,956 บาทต่อไร่ และกลุ่มดินร่วนละเอียด คือ ให้น้ำ 6 ครั้งต่อฤดูกาลผลิต มีกำไรสุทธิ 3,893 บาทต่อไร่

ดูฉบับเต็มคลิกที่นี่

ทะเบียนวิจัย 63 63 99 99 020000 013 102 01 23
ชื่อโครงการวิจัย ผลของปุ๋ยอินทรีย์ต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตพืชผักในชุมชนเมือง
  Effect of Organic Fertilizer on Growth and Yield of Vegetable.
ผู้ดําเนินการ
 
นางสาวฉลวย ดวงดาว Miss Chaluai Duangdao
ผู้ร่วมดำเนินการ นางสาวกัญจน์รัตช์ ลชิตาวงศ์ Miss Kanjarat Lachitavong
นางสาวศิริวรรณ แดงภักดี Miss Siriwan Dangpukdee
นางสาวฐนชนก คำขจร Miss Thanachanok Khamkajorn

บทคัดย่อ
การศึกษาผลของปุ๋ยอินทรีย์ต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตพืชผัก วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของปุ๋ยอินทรีย์ต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืชผัก ต้นทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การทดลองครั้งนี้วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ภายในกลุ่ม (Randomize Complete Block Design) จำนวน 3 ซ้ำประกอบด้วย 7 ตำรับทดลอง คือ 1.ดินร่วน 2.ใบก้ามปู 3.ปุ๋ยหมัก 4.ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง 5.ปุ๋ยชีวภาพ 6.ปุ๋ยมูลไส้เดือน และ7.ปุ๋ยคอก ผลการทดลองพบว่า ตำรับทดลองที่มีปริมาณธาตุอาหารพืชเสถียรสูงสุดคือการที่ใช้ใส่ปุ๋ยมูลไส้เดือน ระยะเวลาวัสดุปลูกมีปริมาณธาตุอาหารหลักสูงสุดคือ ช่วงระยะเวลา 80 วัน การที่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงมีปริมาณผลผลิตสูง เท่ากับ 3,143 กรัมต่อตารางเมตร ส่วนการใส่ปุ๋ยหมักให้ผลตอบแทนสูงสุด เท่ากับ 58.02 บาทต่อตารางเมตร รองลงมาคือการใส่ใบก้ามปูเท่ากับ 55.62 บาทต่อตารางเมตร และการใส่ปุ๋ยชีวภาพ เท่ากับ 49.86 บาทต่อตารางเมตร วัสดุปลูกที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุดคือดินร่วนและใบก้ามปูเท่ากับ 75 บาทต่อตารางเมตร รองลงมาคือวัสดุปลูกที่ใส่ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกเท่ากับ 82.5 บาทต่อตารางเมตร
 

ดูฉบับเต็มคลิกที่นี่

ทะเบียนวิจัย 43 45 10 12 08203 05 206 06 11
ชื่อโครงการวิจัย การศึกษาชนิดพืชปุ๋ยสดเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินในชุดดินตาคลี (กลุ่มชุดดินที่ 52)
  Study on various green manure crops for soil improvement in Takli soil series.
กลุ่มชุดดินที่ .....
  .....
สถานที่ดําเนินการ .....
ผู้ดำเนินการ นายสุรชัย สุวรรณชาติ  Mr. Surachai Suwannachat
ศักดา รักชนะ

บทคัดย่อ
การศึกษาชนิดพืชปุ๋ยสดเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินในชุดดินตาคลี (กลุ่มชุดดินที่ 52) ดำเนินการที่สถานีพัฒนาที่ดินลพบุรี โดยวิธีการทดลองแบบ observation trial เพื่อศึกษาการเจริญเติบโต มวลชีวภาพของปุ๋ยพืชสดที่ปลูกในชุดดินตาคลี และการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดิน ประกอบด้วย 10 ตำรับการทดลอง ได้แก่ ถั่วพุ่มดำ ถั่วพุ่มแดง ถั่วพุ่มลาย ถั่วพร้า โสนอัฟริกัน โสนอินเดีย โสนจีนแดง โสนคางคก ปอเทือง และถั่วมะแฮะ ใช้วิธีการปลูกแบบหยอดเป็นหลุม ผลการศึกษา พบว่า ถั่วพร้าสามารถเจริญเติบโตได้ดี ให้น้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งสูงสุด คือ ให้น้ำหนักสดสูงสุดเฉลี่ย 3 ปี เท่ากับ 3,637 กิโลกรัมต่อไร่ รองลงมาคือ โสนอินเดีย ถั่วพุ่มแดง ถั่วพุ่มลาย ถั่วพุ่มดำ ถั่วมะแฮะ โสนอัฟริกัน โสนคางคก โสนจีนแดง และปอเทือง ซึ่งในน้ำหนักสดเท่ากับ 3,241, 2,131, 2,114, 1,959, 1,913, 1,843, 1,197, 1,123 และ 572 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ น้ำหนักแห้งเฉลี่ย 3 ปี สูงสุดได้แก่ ถั่วพร้าได้น้ำหนักแห้ง 707 กิโลกรัมต่อไร่ รองลงมาคือ โสนอินเดียวเท่ากับ 621 กิโลกรัมต่อไร่ และถั่วมะแฮะเท่ากับ 375 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ ส่วนสมบัติของดินพบว่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินเปลี่ยนแปลงลดลงเล็กน้อยจาก 7.3 เป็น 6.8 อินทรียวัตถุเพิ่มขึ้นจาก 2.1 เป็น 3.2 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ฟอสฟอรัสลดลงจาก 31.30 เป็น 26.69 ppm และ โพแทสเซียมลดลงเช่นเดียวกันจาก 51.25 เป็น 48.11 ppm

ดูเพิ่มเติมคลิกที่นี่

ทะเบียนวิจัย 46 47 04 12 30101 011 102 02 11
ชื่อโครงการวิจัย การจัดการดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ในกลุ่มชุดดินที่ 11
  Appropriate soil management for cultivation of pathumtani 1 rice variety in soil group 11
กลุ่มชุดดินที่ 11 ชุดดินรังสิต
  Rangsit soil series
สถานที่ดําเนินการ หมู่ที่ 7 ตำบลคลองเจ็ด อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
ผู้ดำเนินการ นายสุรชัย สุวรรณชาติ  Mr. Surachai Suwannachat
นายเมธิน ศิริวงศ์ Mr. Methin Siriwong

บทคัดย่อ
จากการศึกษา การจัดการดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ในกลุ่มชุดดินที่ 11 พื้นที่นาของเกษตรกร ตำบลคลองเจ็ด อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ในปี 2546 - 2547 โดยการทดสอบแบบ observation trial มี 12 ตำรับ คือ
 1.แปลงเกษตรกร (ปุ๋ยเคมี 16 - 20 - 0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่)
 2. แปลงควบคุม
 3.ใช้ปุ๋ยเคมีอัตรา 0 - 8 - 0 กิโลกรัมต่อไร่ + โสนอัฟริกัน
 4.ใช้ปุ๋ยเคมีอัตรา 8 - 8 - 0 กิโลกรัมกต่อไร่ + โสนอัฟริกัน
 5. ใช้ปุ๋ยเคมีอัตรา 12 -12 - 0 กิโลกรัมต่อไร่+ โสนอัฟริกัน
 6. ใช้ปุ๋ยเคมีอัตรา 0-8-0 กิโลกรัมต่อไร่ + ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
 7. ใช้ปุ๋ยเคมีอัตรา 8 - 8 - 0 กิโลกรัมต่อไร่ + ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
 8. ใช้ปุ๋ยเคมีอัตรา 12 - 12 - 0 กิโลกรัมต่อไร่ + ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
 9. ใช้ปุ๋ยเคมีอัตรา 0 - 8 - 0 กิโลกรัมต่อไร่ + โสนอัฟริกัน + ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
 10. ใช้ปุ๋ยเคมีอัตรา 8 - 8 - 0 กิโลกรัมต่อไร่ + โสนอัฟริกัน+ ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
 11. ใช้ปุ๋ยเคมีอัตรา 12 - 12 - 0 กิโลกรัมต่อไร่ + โสนอัฟริกัน + ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ และ
 12. โสนอัฟริกัน + ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ

  ผลการทดลอง พบว่า ดินมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างสูงขึ้นจาก 5.18 เป็น 5.80 ปริมาณอินทรียวัตถุสูงขึ้นจาก 3.61 เป็น 5.67 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัสลดลงจาก 22 เป็น 16 ppm. โพแทสเซียมลดลงจาก 170 เป็น 145.42 ppm.  การใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 8 - 8 - 0 กิโลกรัมต่อไร่ร่วมกับโสนอัฟริกันและปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ทำให้ข้าวมีความสูงสูงสุด เท่ากับ 96.1 เซนติเมตร ซึ่งแตกต่างจากตำรับอื่น รองลงมาได้แก่ การใส่ปุ๋ยเคมี อัตรา 12 -12 - 0 กิโลกรัมต่อไร่ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ข้าวมีความสูง เท่ากับ 90.95 เซนติเมตร และการใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 0 - 8 - 0 กิโลกรัมต่อไร่ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ข้าวมีความสูงต่ำสุด เท่ากับ 69.7 เซนติเมตร

 ส่วนผลผลิตข้าว พบว่า การใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 12 - 12 - 0 กิโลกรัมต่อไร่ร่วมกับโสนอัฟริกัน ข้าวให้ผลผลิตสูงสุด เท่ากับ 763.25 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งแตกต่างทางสถิติกับแปลงควบคุมและตำรับเกษตรกร รองลงมาได้แก่ การใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 12- 12 - 0 กิโลกรัมต่อไร่ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ข้าวให้ผลผลิตเท่ากับ 737.10 กิโลกรัมต่อไร่

 สำหรับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ พบว่า แปลงควบคุมให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจสูงสุด 1,928.45 บาทต่อไร่ เมื่อพิจารณาผลผลิตข้าวร่วมกับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ อาจกล่าวได้ว่า การใช้ปุ๋ยเคมีอัตรา 12 – 12 – 0 กิโลกรัมต่อไร่ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์น้ำ มีแนวโน้มให้ผลดีที่สุด เนื่องจากให้ผลผลิตสูงเท่ากับ 737.10 กิโลกรัมต่อไร่ซึ่งไม่มีความแตกต่างทางสถิติจากผลผลิตสูงสุด 763.25 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนี้ยังสามารถลดต้นทุนต่อหน่วยให้ต่ำลงได้ และส่งผลให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงขึ้นด้วย

ดูเพิ่มเติมคลิกที่นี่

ทะเบียนวิจัย 44 45 04 12 426 10 38 07 12
ชื่อโครงการวิจัย การศึกษาการจัดการหญ้าแฝกร่วมกับปุ๋ยหมักเพื่อรักษาความชุ่มชื้น และความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่ดินทรายเพื่อปลูกขมิ้นชัน
  Study on Vetiver grass and compost fertilizer for soil moisture conservation and soil fertility for Curcuma on Sandy soil
กลุ่มชุดดินที่ 44 ชุดดินจันทึก
  Chan Tuk series
สถานที่ดําเนินการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ผู้ดำเนินการ นายสุรชัย สุวรรณชาติ  Mr. Surachai Suwannachat
นายอาทิตย์ ศุขเกษม Mr. Arthit Sukhkasem
นางอโนชา เทพสุภรณ์กุล Mrs. Anocha Tepsupomgul
นายสมนึก ศรีทองฉิม Mr. Somnuk Srithongchim

บทคัดย่อ
การศึกษาการจัดการหญ้าแฝกร่วมกับปุ๋ยหมักเพื่อรักษาความชุ่มชื้นและความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่ดินทรายเพื่อปลูกขมิ้นชัน ได้ดำเนินการในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในปี 2544- 2545 โดยวางแผนการ ทดลองแบบ Randomized Complete Block Design จำนวน 3 ซํ้า 9 วิธีการ คือแปลงควบคุม, ใส่ ปุ๋ยหมัก 2 ตันต่อไร่, ใส่ปุ๋ยหมัก 4 ตันต่อไร่, ปลูกหญ้าแฝก, ปลูกหญ้าแฝกร่วมกับการใส่ปุ๋ยหมัก 2 ตันต่อไร่, ปลูกหญ้าแฝกร่วมกับการใส่ปุ๋ยหมัก 4 ตันต่อไร่, ปลูกหญ้าแฝกตัดใบคลุม, ปลูกหญ้าแฝก ตัดใบคลุมร่วมกับการใส่ปุ๋ยหมัก 2 ตันต่อไร่ และปลูกหญ้าแฝกตัดใบคลุมร่วมกับการใส่ปุ๋ยหมัก 4 ตันต่อไร่ ผลการทดลองพบว่า การปลูกหญ้าแฝกตัดใบคลุมร่วมกับการใส่ปุ๋ยหมักอัตรา 4 ตันต่อไร่ มีปริมาณความชื้นในดินเฉลี่ยทั้ง 2 ปี สูงสุด 13.81 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแปลงที่ไม่มีการปลูกหญ้าแฝก และไม่มีการใส่ปุ๋ย มีปริมาณความชื้นในดินตํ๋าสุด 6.10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการเจริญเติบโตและผลผลิตของขมิ้นชันนั้น พบว่าการปลูกหญ้าแฝกตัดใบคลุมร่วมกับการใส่ปุ๋ยหมักอัตรา 4 ตันต่อไร่ ขมิ้นชันมีการเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตมากที่สุด 1,350 กิโลกรัมต่อไร่

ดูเพิ่มเติมคลิกที่นี่

แนะนำผู้บริหาร

นายชาคริต อินนะระ
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1

ค้นหา



 
 
 
 
 
 
 
 

แบบประเมินความพึงพอใจการให้บริการ

มุมประชาสัมพันธ์กรมพัฒนาที่ดิน