ตั้งอยู่ในภาคกลางตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 20 กิโลเมตร มีพิกัดภูมิศาสตร์อยู่ที่ ละติจูดที่ 13 องศา 47 ลิปดาเหนือ ถึงละติจูดที่ 14 องศา 04 ลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ 100 องศา 34 ลิปดา ถึง 100 องศา 15 ลิปดาตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 622.303 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 388,987.50 ไร่ ทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทิศใต้ติดต่อกับกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกติดต่อกับกรุงเทพมหานครและจังหวัดปทุมธานี ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดนครปฐม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีคูคลองทั้งตามธรรมชาติและที่ขุดขึ้นมาใหม่เป็นจำนวนมากเชื่อมโยงติดกันโดยทั่วไปพื้นที่ของจังหวัดส่วนที่อยู่ห่างจากแม่น้ำและลำคลองจะเป็นสวนและไร่นา ซึ่งมักเกิดน้ำท่วมเสมอแต่ปัจจุบันพื้นที่ในบางอำเภอที่มีเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานครเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อพยพ มาจากทุกภาคของประเทศ และบางส่วนของบางอำเภอยังเป็นที่รองรับการขยายตัวในด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางใหญ่อำเภอบางบัวทอง ซึ่งมีการจัดสรรที่ดินและการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นอย่างหนาแน่น (ตารางที่ 1)
พื้นที่การเกษตรของจังหวัดนนทบุรี แบ่งพื้นที่การปกครองเป็น 6 อำเภอ มีเนื้อที่ 388,939 ไร่ ซึ่งพื้นที่การเกษตรในอำเภอไทรน้อยมากที่สุด 73,436 ไร่ และอำเภอเมืองนนทบุรีมีพื้นที่การเกษตรน้อยที่สุด 2,422 ไร่ ชนิดการเกษตรในจังหวัดนนทบุรีใช้ประโยชน์ทางการเกษตร 219,012 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 56.31 และเนื้อที่ใช้ประโยชน์นอกการเกษตร 169,927 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 43.69 เนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในการทำนามากที่สุดถึง 150,221 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 68.51 รองลงมาสวนผักและไม้ดอกมีพื้นที่การเกษตร 25,748 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 11.74 และที่การเกษตรอื่นๆ มีพื้นที่การเกษตร 22,324 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 10.18 ขณะที่ไม้ผลไม้ยืนต้นมีพื้นที่การเกษตรน้อยที่สุด 20,719 คิดเป็นร้อยละ 9.45 ตามลำดับ สำหรับครัวเรือนเกษตรกรมากที่สุดในอำเภอไทรน้อย จำนวน 3,953 ครัวเรือน รองลงมาอำเภอบางใหญ่ จำนวน 2,667 ครัวเรือนเกษตรกรน้อยที่สุดในอำเภอบางกรวย จำนวน 1,513 ครัวเรือน ซึ่งจังหวัดนนทบุรีมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ 20 อันดับแรก จัดอันดับตามเนื้อที่เพาะปลูก (ตารางที่ 2)
จังหวัดนนทบุรีมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน เกษตกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา พืชผัก และสวนไม้ผล
ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินคือดินเป็นกรดจัดหรือดินเปรี้ยวจัดมากในช่วงความลึก 50-100 ซม. จากผิวดิน เกิดการตรึงธาตุอาหารพืชและปลดปล่อยสารพิษต่อพืช โครงสร้างดินแน่นทึบ เมื่อแห้งจะแข็งและแตกละแหง ทำให้ไถพรวนยาก คุณภาพน้ำเป็นกรด บางพื้นที่อาจพบชั้นดินเลนที่มีชั้นเกลือสะสมอยู่ในดินล่าง ขาดแคลนแหล่งน้ำจืด น้ำท่วมขังในฤดูฝน สร้างความเสียหายให้กับพืชที่ไม่ชอบน้ำ
กลุ่มชุดดินที่ 2 ชุดดินอยุธยา (Ay) ชุดดินบางเขน (Bn) เป็นกลุ่มดินเหนียว ที่เกิดจากการผสมระหว่างตะกอนลำน้ำและตะกอนลำน้ำทะเล บริเวรที่ราบลุ่มที่เป็นน้ำกร่อย อยู่ห่างจากทะเลไม่มาก มีน้ำแช่ขังในฤดูฝน ดินลึกมาก สีดินส่วนใหญ่สีเทา มีจุดประสีน้ำตาล สีเหลืองของสารจาโลไซ หรือชั้นดินกรดกำมะถันที่เป็นกรดรุนแรง ลึกกว่า 100 ซม. ทับถมอยู่บนชั้นดินเลนตะกอนน้ำทะเลที่มีสีเทาปนเขียวดินมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง
กลุ่มชุดดินที่ 3 ชุดดินบางกอก (Bk) ชุดดินบางเลน (Bl) เป็นกลุ่มดินเหนียวลึกมากที่เกิดจากตะกอนน้ำกร่อย อาจพบชั้นดินเลนของตะกอนน้ำทะเลที่ไม่มีศักยภาพก่อให้เกิดดินกรดกำมะถันภายในภายลึก 150 ซม. จากผิวดิน ปฏิกิริยาดินเป็นกลางถึงด่าง การระบายน้ำเลว ความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงสูง
กลุ่มชุดดินที่ 11 ชุดดินรังสิต (Rs) ชุดดินเสนา (Se) กลุ่มดินเหนียวเปรี้ยวจัดลึกปานกลางในช่วงความลึก 50 -100 ซม. จากผิวดิน เกิดจากตะกอนน้ำทะเล ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมาก เกิดการตรึงของธาตุอาหาร ปลดปล่อยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อพืช มีโครงสร้างดินแน่นทึบ ไถพรวนยาก การระบายน้ำเลว
กลุ่มชุดดินที่ 8 ชุดดินธนบุรี (Tb) เป็นกลุ่มชุดดินที่ถูกยกร่อง มีลักษณะของดินตอนบนทับถมเป็นชั้นๆ จากดินในร่องขึ้นมาถมบนคันดิน เพื่อใช้ปลูกพืชและไม่ให้ท่วมถึง ส่วนใหญ่พบบริเวณที่ราบลุ่มที่มีน้ำทะเลท่วมถึง หรือที่ลุ่มใกล้ทะเล การระบายน้ำดีปานกลาง ดินล่างมีสีเทา อาจมีเปลือกหอยปะปนอยู่ปฏิกิริยาดินเป็นกรดปานกลางถึงกลาง ดินมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงสูง
ปลูกข้าว ไถกลบดินในขณะที่ดินมีความชื้นเหมาะสม ลดและควบคุมความเป็นกรดด้วยวัสดุปูนอัตรา 500-1,000 กก./ไร่ (ในกลุ่มชุดดินที่ 2 และชุดดินที่ 11 หว่านให้ทั่วแปลงปลูก) ไถกลบตอซัง ปล่อยไว้ 3-4 สัปดาห์ หรือไถกลบพืชปุ๋ยสด (หว่านปอเทือง อัตรา 5 กก./ไร่ แล้วไถกลบเมื่ออายุ 45 วัน ปล่อยไว้ 1-2 สัปดาห์) ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำหรือปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 ใส่ปุ๋ยแต่งหน้าหลังปักดำ 35-40 วัน พัฒนาแหล่งน้ำไว้ใช้ในช่วงที่ข้าวขาดน้ำหรือทำนาครั้งที่ 2 ใช้ปลูกพืชไร่หรือพืชผักหลังเก็บเกี่ยวข้าว ไถกลบตอชังและทำร่องแบบเตี้ย ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2-3 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์
ปลูกพืชผักและไม้ผล ยกร่องกว้าง 6-8 เมตร คูน้ำกว้าง 1-1.5 เมตร ลึก 0.5-1 เมตร มีคันดินอัดแน่นล้อมรอบ ก่อนยกร่อง ควรแยกหน้าดินมาทับบนดินที่ขุดมาจากร่องคูน้ำ ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2-3 ตัน/ไร่ หว่านวัสดุปูน 500 กก./ไร่ บนสันร่องและร่องคูน้ำ หรือขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 ซม. ปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก 20-35 กก./หลุม ในช่วงเจริญเติบโตก่อนเก็บผลผลิตและหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกร่วมกันกับปุ๋ยอินทรีย์น้ำตามชนิดพืชที่ปลูก
สมัยโบราณชาวสวนชอบปลูกทุเรียนด้วยเมล็ด และตอนกิ่ง โดยปลูกแบบยกร่อง เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มดินเหนียวและน้ำท่วมถึง ชาวสวนจึงต้องทำคันดินป้องกันน้ำท่วม เมื่อถึงฤดูน้ำเหนือหลากลงมา และขุดยกเป็นร่องกว้างประมาณ 3 วา ส่วนความยาวนั้นตามขนาดของที่ดิน ระยะปลูกระหว่างต้นห่างกันประมาณ 3-6 วา ชาวสวนจะขุดดินกลางร่องสวนกว้าง 2x2 วา ลึก 1 วา เอาดินทั้งหมดไปถมบนคันสวน ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ปี ส่วนดินบนร่องนั้นชาวสวนจะปลูกไม้ล้มลุก กล้วย อ้อย และต้นทองหลาง ต้นหมากไว้ด้วย ประมาณ 2-3 ปี ต้นทองหลาง ต้นหมาก โตพอที่จะบังร่มให้กับต้นทุเรียนที่ปลูกได้แล้ว ชาวสวนก็กวาดเศษใบไม้ ใบหญ้า ใส่ก้นหลุม และดินร่วน ดินขี้เลน จากท้องร่องตากแห้ง ใส่ในหลุมจนเต็ม และให้สูงจากปากหลุมประมาณ 1 ศอก อัดดินให้แน่นพอควร แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ขุดหลุดตรงกลางโคก กว้าง 1 ศอก ลึก 1 ศอก เอาไม้เนื้อแข็งขนาดข้อเท้า ยาว 1 วา ปักลงกลางหลุมที่ขุดลึกต่ำกว่าปากหลุม 1 คืบ เพื่อทำเป็นเสาเข็มกันดินยุบ หรือ กันต้นทุเรียนทรุด ต้นทุเรียนที่ปลูกนั้น ชาวสวนได้ชำไว้ในเข่ง หรือ ปี๊บ ตั้งแต่ยกร่องทำสวน เลี้ยงจนโตจึงนำมาปลูกเพียง 3-5 ปี ก็ตกผล ทุเรียนที่ปลูกใหม่ต้องรดน้ำเช้าเย็นทุกวัน จนฤดูฝนจึงเว้นได้ ถึงปีที่ 2 และ 3 จึงหยุด และรดน้ำให้บ้าง 3-5 วันต่อครั้ง การปลูกทุเรียนแบบโบราณนี้เสียเวลาและแรงงานมาก แต่ทุเรียนขึ้นได้งอกงามดีและแข็งแรง ออกผลดก
ปัจจุบันการปลูกทุเรียน ก็ยังเป็นแบบยกร่อง ระยะปลูก 8x12 เมตร ขุดหลุมกว้าง 1x1 เมตร เอาดินขึ้นทำเป็นคันสวน มีการใส่ปุ๋ยเคมีรองก้นหลุมและเอาดินผสมใบไม้หรือปุ๋ยคอกใส่หลุมอัดให้แน่นพอควร ยกโคกให้สูงจากปากหลุม ประมาณ 50 ซม. ขุดหลุมให้ลึกพอควร เอาต้นลงปลูกผูกกับหลัก เพื่อกันต้นล้ม รดน้ำให้ชุ่มเช้าเย็น เอาทางมะพร้าวมาปักบังแดด ส่วนใหญ่ใช้กิ่งทาบปลูก ได้แก่ พันธุ์ก้านยาว หมอนทอง และกระดุมทอง สาเหตุที่นิยมปลูกก้านยาว เนื่องจากจังหวัดอื่นปลูกรสชาติสู้ปลูกที่เมืองนนท์ไม่ได้ และขายได้ราคาแพงมาก
สวนทุเรียนของนนท์ได้ลดน้อยลงเนื่องจาก การขยายตัวของชุมชนมีการก่อสร้างที่อยู่อาศัย หมู่บ้านต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย หลายโครงการมีการตัดถนน การเปลี่ยนเส้นทางเดินของน้ำ ภาวะน้ำท่วมใหญ่ ปี 2538-2539 และปี 2545 จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น การพัฒนาท้องถิ่นของหน่วยราชการ ปัญหาน้ำเน่าเสียจากหมู่บ้านปล่อยสู่ลำคลอง ทั้งหมดล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ปลูกทุเรียนของจังหวัดนนทบุรี ลดลงเป็นอย่างมาก จนน่าวิตกว่าทุเรียนนนท์ซึ่งเลื่องลือว่าเป็นทุเรียนเหนือชั้น รสชาติเป็นเลิศ และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนนทบุรีจะยังคงมีอยู่หรือเป็นตำนานเล่าขานให้ลูกหลานได้รับรู้
สถานีพัฒนาที่ดินนนทบุรี ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ดินจำนวน 40 ศูนย์ ใน 40 ตำบล ของ 6 อำเภอ ภายในพื้นที่ของหมอดินประจำตำบล เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยจัดทำแปลงสาธิตเป็นแหล่งถ่ายทอด/สาธิต/ศึกษาดูงาน และเรียนรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการพัฒนาที่ดินของเกษตรกรในพื้นที่ และเป็นเครือข่าย (Node) ให้แก่โครงการศูนย์การเรียนรูเศรษฐกิจพอเพียงชุมชนของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ของหมอดินอาสาที่มีศักยภาพในการจัดทำแปลงสาธิต และมีความสามารถในการเป็นวิทยากรได้ นอกจากนี้ยังต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และอยู่ใกล้ถนนหรือเส้นทางคมนาคมสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก
1. โครงการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าการวิเคราะห์ดิน คือการใช้ปุ๋ยเท่าที่จำเป็น ตามความต้องการของพืช หากดินมีปัญหาต้องมีการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยมีการประเมินหรือวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ก่อนปลูกพืช ซึ่งอาจได้จากการตรวจสอบจากโปรแกรมดินไทยและธาตุอาหารพืช หรือเก็บตัวอย่างดิน วิเคราะห์ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณธาตุที่มีอยู่ในดิน สภาพความเป็นกรด-ด่าง แล้วนำมาเปรียบเทียบกับปริมาณความต้องการธาตุอาหารของพืชที่ปลูกแต่ละฤดูจากนั้นจึงคำนวณปริมาณธาตุอาหารหลัก (เอ็น-พี-เค) เพิ่มตามคำแนะนำ ซึ่งอาจเลือกปุ๋ยสูตรที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกับคำแนะนำการใช้ปุ๋ยให้มากที่สุด หากมีมีปุ๋ยสูตรแนะนำให้ใช้แม่ปุ๋ยมาผสมแล้วใส่ให้กับพืช ถ้าดินมีปัญหา เช่น ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินเสื่อมโทรม ต้องปรับปรุงแก้ไขก่อนการปลูกพืช/ก่อนการใส่ปุ๋ย
2. การใช้วัสดุปูนเพื่อปรับปรุงดินกรดในพื้นที่ปลูกข้าว เนื่องจากจังหวัดนนทบุรีตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง กลุ่มชุดดินเป็นดินเหนียว ปฏิกิริยาดินเป็นกรด (pH4.0-5.0) สถานีพัฒนาที่ดินนนทบุรีจึงแนะนำให้เกษตรกรใช้ปูนมาล์นในการปรับปรุงดินและเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่นาส่งวิเคราะห์ เพื่อหาปริมาตรความต้องการปูนที่เหมาะสม
3. การไถกลบต่อซัง เพิ่มอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์ดิน จังหวัดนนทบุรีมีพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งคือ ข้าว มีพื้นที่เพราะปลูกมากเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัดคือ 93,435 ไร่ และเป็นพื้นที่เขตชลประทาน เกษตรกรปลูกข้าวได้ต่อเนื่อง 2-3 ครั้ง/ปี โดยไม่พักดิน ทำให้ดินเกิดการเสื่อมโทรม โครงสร้างดินเปลี่ยนแปลง สูญเสียอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน ทำลายจุลินทรีย์และแมลงที่เป็นประโยชน์ก่อให้เกิดฝุ่นละอองที่ก่อมลพิษและอันตรายต่อสุขภาพสถานีพัฒนาที่ดินนนทบุรีได้ส่งเสริมให้เกษตรกรที่ทำนา งดเผาฟางและหันมาใช้การหมักตอซังแทน ตลอดจนให้ความรู้กับเกษตรกรถึงประโยชน์ของการหมักตอซังข้าวทดแทนการเผา
4. การผลิตน้ำหมักชีวภาพโดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 สถานีพัฒนาที่ดินนนทบุรีได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ ผลิตน้ำหมักชีวภาพโดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เศษผักผลไม้ที่ตัดแต่งทิ้ง เปลือกสับปะรด มาหมักร่วมกับกากน้ำตาล และสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 เพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยสลาย โดยกิจกรรมของจุลินทรีย์ นำมาใช้ประโยชน์ในการหมักตอซัง ซึ่งประโยชน์ของน้ำหมักคือเป็นสารเสริมการเจริญเติบโตของพืช ประกอบด้วยฮอร์โมนหลายชนิด กรดอินทรีย์รวมถึงวิตามินหลายชนิด ช่วยในการกระตุ้นการเจริญและเพิ่มจุลินทรีย์ดินที่ทำหน้าที่ย่อยสลายตอซังได้ดีขึ้น ต่อซังอ่อนนุ่ม ย่อยสลายง่าย และไถกลบสะดวกขึ้น
5. การผลิตปุ๋ยหมักโดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 พื้นที่ทำการเกษตรในส่วนของสวนผักและไม้ดอกซึ่งรองลงมาจากนาข้าว ในจังหวัดนนทบุรีมีพื้นที่ 25,748 ไร่ สถานีพัฒนาที่ดินนนทบุรี จึงส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ทลายปาล์ม เชื้อเห็ดร่วมกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เพื่อใช้ในพื้นที่การเกษตร ช่วยลดต้นทุนการผลิต