"รัฐมนตรีเกษตรฯ" มอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานปีงบประมาณ 2559

   

      "รัฐมนตรีเกษตรฯ" มอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานปีงบประมาณ 2559 ประกาศเป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร มุ่งเพิ่มผลผลิตสอดคล้องความต้องการตลาด จัดหาแหล่งน้ำเพิ่ม ป้องกันการทุจริตในภาครัฐ พร้อมหนุน กษ. จังหวัด เป็นกลไกสำคัญนำนโยบายรัฐสู่การปฏิบัติในพื้นที่เพื่อประโยชน์เกษตรกร
       พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวมอบนโยบายในโอกาสเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง "ผลการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแนวทางการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2559" ให้กับผู้บริหารของหน่วยงานในส่วนกลาง และเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ณ โรงแรม ปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค ว่า ปัจจุบันภาคเกษตรกรรมไทยยังคงประสบปัญหา ทั้งด้านเชิงโครงสร้างการตลาด ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรง โดยการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทรวงเกษตรฯ จึงมีภารกิจสำคัญ ในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับเกษตรกร และเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมในอนาคต โดยการเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในครั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยมีนโยบายเป็นกรอบในการทำงาน ประกอบด้วย ต้องไม่มีปัญหาการคอรัปชั่น มีความโปร่งใสด้านการเงินและข้อมูลต่างๆ ยึดถือนโยบายของรัฐบาล/ของท่านนายกรัฐมนตรี ทำก่อน ทำทันที และแบ่งการทำงาน เป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะต่อเนื่อง และระยะยั่งยืน โดยเป้าหมายการทำงาน คือ เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง และการทำงานทุกระดับจะต้องมีผู้รับผิดชอบชัดเจน รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ​
        โดยยึดถือนโยบายของรัฐบาลที่มอบให้ดูแลกระทรวงเกษตรฯ ในปีงบประมาณ 2559 ทั้ง 6 ด้าน เป็นกรอบการดำเนินงาน ได้แก่ 1) ดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสมด้วยวิธีการต่างๆ 2) ปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการ 3) บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้เป็นเอกภาพในทุกมิติ 4) สหกรณ์ของกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มบทบาทในฐานะผู้ซื้อพืชผล/แปรรูป/ส่งออกได้ 5) ป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ และ 6) ปรับปรุงระบบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งเร่งรัดดำเนินการในเรื่องเร่งด่วน ดังนี้ ​
 1.การแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขกฎหมายและบทลงโทษที่เหมาะสม รวมทั้งการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ และเรื่องปัญหาแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
 2.ลดต้นทุนการผลิต กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินการมาแล้ว และต้องให้ความสำคัญในการดำเนินงานต่อ โดยกระทรวงเกษตรฯ ประกาศให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร โดยการดำเนินงานจะไม่เป็นเรื่องของกรมใดกรมหนึ่ง แต่จะเป็นการบูรณาการร่วมกัน ก่อให้เกิดกิจกรรมการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร โดยวัดผลได้ภายใน 3 เดือน
 3.จัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรที่ครอบคลุม สามารถนำไปแก้ปัญหาและการช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีต่างๆ ได้ เช่น ด้านหนี้สินเกษตรกร ด้านอาชีพ ด้านสถิติต่างๆ ของภาคเกษตรกรรมเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการตามนโยบาย ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่มีระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกรเร่งหารือในการบูรณาการฐานข้อมูลให้เกิดเป็นเอกภาพ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
 4.การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 2558/2559 หน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ต้องรู้สถานการณ์ปัจจุบันอย่างชัดเจนและคาดการณ์แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งเตรียมหามาตรการรองรับสภาพปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที รวมทั้งต้องมีการวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงได้ทำอยู่แล้ว รวมทั้งการทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ และในฤดูแล้งที่จะมาถึงนี้ จะต้องมีการหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรเพิ่มเติม และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรต่างๆ ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ สื่อสารให้เกษตรกรเข้าใจ รู้จักการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
 5.การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับเกษตรกร และผู้บริโภคจะได้บริโภคสินค้าที่มีความปลอดภัย ซึ่งมอบหมายให้หน่วยสานที่เกี่ยวข้องวางแผนและขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ​
สำหรับงานที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง ต้องผลักดันให้มีการทำการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ ปัจจัยการผลิต และความต้องการของตลาด พัฒนาผลผลิตการเกษตรให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีสุขภาพอนามัยในระดับสากล ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการให้เหมาะสม ปรับปรุงรัฐวิสาหกิจ ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ กำหนดมาตรการในการตรวจสหกรณ์ที่จริงจัง รวมทั้งเร่งรัดแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ​

         งานเพื่อความยั่งยืน ต้องเร่งผลักดันงานวิจัยสนับสนุนเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ตรงตามความต้องการของตลาด การจัดโซนนิ่งการปลูกพืช มีผลผลิตที่ตรงกับความต้องการทั้งปริมาณและคุณภาพ จัดหาแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อ พัฒนาสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งรวมกลุ่มสมาชิกดูแลช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต ขณะที่ภาคราชการต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือในการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง รวมทั้งการฟื้นฟูโครงการตามแนวพระราชดำริ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแล ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด จะเป็นกลไกสำคัญในการนำนโยบายของรัฐไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ นำผลประโยชน์สู่เกษตรกรอย่างทั่วถึง โดยเป็นแกนหลักในการบูรณาการหน่วยงานของกระทรวงในระดับจังหวัด ภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป