กลุ่มชุดดินที่ 9

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : หน่วยดินนี้เป็นกลุ่มชุดดินที่มีเนื้อดินเป็นพวกดินเหนียว สีดินเป็นสีเทา มีจุดประสีเหลืองหรือสีแดงปะปน และพบจุดประสีเหลืองฟางข้าวของสารจาโรไซต์อยู่ในระดับตื้นกว่า 50 ซม. ดินล่างมีสีเทา หรือสีเทาปนเขียว และมีเศษพืชที่กำลังเน่าเปื่อยปะปนอยู่ด้วย พบบริเวณที่ราบลุ่มตามชายฝั่งทะเล อาจมีน้ำทะเลหรือน้ำกร่อยท่วมเป็นครั้งคราว เป็นดินที่มีการระบายน้ำเลวถึงเลวมาก มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ ปฏิกิริยาดินชั้นบนเป็นกรดจัดมาก มีความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 4.0 หรือน้อยกว่า ส่วนดินล่างที่เป็นดินเลนเป็นกลางถึงด่างแก่ มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 7.0-8.5 และเป็นดินเค็ม ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวเป็นที่รกร้างว่างเปล่า บางแห่งใช้ทำนาในช่วงฤดูฝนแต่มักไม่ได้ผล ตัวอย่างชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ชุดดินชะอำ

ปัญหาสำคัญในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ได้แก่ ดินเป็นกรดจัดมาก ในฤดูแล้งมีคราบเกลือลอยหน้า ปลูกพืชไม่ขึ้น จึงจัดเป็นดินปัญหาเรียกว่า ดินเปรี้ยวจัด หรือดินกรดกำมะถัน

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : ในสภาพปัจจุบันพื้นที่มีศักยภาพค่อนข้างไม่เหมาะสมในการเพาะปลูก เนื่องจากเป็นดินทั้งเป็นกรดจัดมากและเค็มมาก พบในสภาพราบเรียบถึงเกือบราบเรียบ เนื้อดินเป็นดินเหนียว มีสภาพการระบายน้ำเลว ในช่วงฤดูฝนมีน้ำขังอยู่ระหว่าง 5-6 เดือน โดยทั่วไปแล้วใช้ประโยชน์ในการขุดเป็นบ่อเลี้ยงปลา เช่น ปลาสลิด ปลานิล และปลาไน ไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการปลูกพืชไร่ พืชผลและไม้ผล แต่พอที่จะพัฒนาที่ดินโดยการยกร่องปลูกไม้ผลได้บางชนิด เช่น มะพร้าว หรือไม้ผลทนเค็ม และทนกรดของดิน บางพื้นที่มีการปลูกข้าว แต่ให้ผลผลิตต่ำ การพัฒนาที่ดินเพื่อปรับปรุงดินกลุ่มนี้ต้องลงทุนสูงทั้งด้านการแก้ความเค็ม และความเป็นกรดจัดของดินและทำได้ค่อนข้างยาก

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 9

ปลูกข้าวหรือทำนา ปัญหาดินเป็นกรดจัด ใส่ปูน เช่นปูนขาว ปูนมาร์ล หิน
ปูนบดหรือหินฝุ่น อัตรา 2-3 ตัน/ไร่ หว่านให้ทั่วแปลง แล้วไถคลุกเคล้ากับดินแล้วปล่อยน้ำให้ขังประมาณ 3 อาทิตย์ เสร็จแล้วระบายออก หลังจากนั้นปล่อยน้ำขังอีกครั้งเพื่อทำเทือกปักดำ พันธุ์ข้าวที่แนะนำ พันธุ์ที่แนะนำข้าวลูกแดง ขาวตายก สีรวง อัลฮัมดูลิวละห์ ดอนทราย ลูกเหลือง ข้าวน้อย มัทแคนดุ กข.7 กข.21 กข.23 ช่อนางเอื้อง ปัญหาดินเค็มจัด ปล่อยให้น้ำขังแช่และระบายออก 2-3 ครั้ง ก่อนปลูกข้าว

การใช้ปุ๋ยเคมี สำหรับข้าวนาปี ใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 เพียงอย่างเดียว อัตรา 123 - 150 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้งเท่า ๆ กัน ส่วนที่เหลือจะใส่ระยะปักดำและส่วนที่สองใส่หลังครั้งแรก 30 วัน หรือระยะที่กำเนิดช่อดอก หรือใส่ปุ๋ย 16-20-0 อัตรา 30 กก./ไร่ โดยใส่ร่วมกับแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 74-96 กก./ไร่ หรือยูเรีย อัตรา 33-43 กก./ไร่ การใส่ให้แบ่งปุ๋ยร่วมออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกใส่พร้อมกับปุ๋ย 16-20-0 ระยะปักดำ ส่วนที่สองใส่หลังครั้งแรก 30 วัน หรือระยะข้าวตั้งรวง สำหรับข้าวนาปรัง ใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อย่างเดียว อัตรา 87-103 กก./ไร่ หรือปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 30 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับปุ๋ยอื่น ได้แก่ แอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 46-58 กก./ไร่ หรือยูเรีย อัตรา 20-26 กก./ไร่ วิธีการใส่เช่นเดียวกับการปลูกข้าวนาปีที่ได้กล่าวมาแล้ว

ไม้ผลและไม้ยืนต้น ปัญหาน้ำท่วมขังและการระบายน้ำของดินเลว ทำคันดินรอบพื้นที่ปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในฤดูฝนและติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อระบายน้ำออก ยกร่อง ขนาดกว้าง 6-8 เมตร และร่องระบายน้ำระหว่างร่องปลูกกว้าง 1.5-2.0 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร เพื่อช่วยการระบายน้ำของดินและช่วยการล้างความเค็ม และความเป็นกรดจัดของดิน

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น มะพร้าว ปรับปรุงแก้ไขโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์(ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก) และปุ๋ยเคมี สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ให้ใส่ 10-15 กก./ตัน/ปี ส่วนปุ๋ยเคมีให้ใส่ดังนี้ อายุ 1-5 ปี ใส่ปุ๋ยสองครั้งในช่วงต้นและปลายฤดูฝนใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 1.0 กก./ต้น x อายุปี ร่วมกับปุ๋ยสูตร 0-0-6 อัตรา 0.5 กก./ต้น x อายุปี อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ใส่ปีละ 2 ครั้งเช่นเดียวกัน ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 6 กก./ต้น x อายุปี ร่วมกับปุ๋ยสูตร 0-0-6 อัตรา 0.5 กก./ต้น x อายุปี

มะม่วง ปุ๋ยอินทรีย์ 10-15 กก./ตัน/ปี ส่วนปุ๋ยเคมีให้ใส่ดังนี้ ก่อนตกผล (อายุ 0-4 ปี) ใส่ปุ๋ย 4 ครั้ง เดือนมีนาคม พฤษภาคม สิงหาคม และตุลาคม ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 400-500 กรัม/ต้น x อายุปี หรือสูตร 15-30-15 อัตรา 300-400 กรัม/ต้น x อายุปี ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 200-250 กรัม/ต้น x อายุปี หรือปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 100-125 กรัม/ต้น x อายุปี หรือสูตร 20-20-10 อัตรา 500-600 กรัม/ต้น x อายุปี ตกผลแล้วใส่ปุ๋ยสูตร 14-9-20 หรือ 15-5-20 อัตรา 500-600 กรัม/ต้น x อายุปี ร่วมกับปุ๋ยสูตร 14-0-20 อัตรา

ปาล์มน้ำมัน(ปลูกเฉพาะภาคใต้และภาคตะวันออก) ใช้ปุ๋ยอินทรีย์(ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก) 10-15 กก./ตัน/ปี ส่วนปุ๋ยเคมีให้ใส่ดังนี้ อายุ 1 ปี ใส่ 5 ครั้ง ปุ๋ยสูตร 12-12-17 หรือ 13-13-21 อัตรา 2.0-2.5 กก./ต้น/ปี ร่วมกับปุ๋ยเดี่ยวสูตร 21-0-0 อัตรา 2.0-2.5 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ปุ๋ยผสม 3 ครั้งสลับกับปุ๋ยเดี่ยว 2 ครั้ง อายุ 2-4 แบ่งใส่ 3 ครั้ง ต้นและกลางฤดูฝน ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 14-14-21 หรือ 15-15-21 อัตรา 3.0-5.0 กก./ต้น/ปี และปลายฤดูฝนใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-17 อัตรา 3.0 - 6.5 กก./ต้น/ปี อายุ 5 ปีขึ้นไป แบ่งใส่ 3 ครั้ง กลางและปลายฤดูฝนใช้ปุ๋ยสูตร 14-9-21 หรือ 14-9-20 หรือ 12-9-21 อัตรา 8-9 กก./ต้น/ปี ร่วมกับโบแรกซ์ 50-100 กรัม/ต้น/ปี