กลุ่มชุดดินที่ 8

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นพวกดินเหนียว ดินบนมีลักษณะการทับถมเป็นชั้น ๆ ของดินและอินทรียวัตถุที่ได้จากการขุดลอกร่องน้ำ ดินล่างมีสีเทา บางแห่งมีเปลือกหอยปะปนอยู่ด้วย พบบริเวณที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล ปัจจุบันเกษตรกรได้ทำการขุดยกร่องเพื่อพืชผลต่าง ๆ ทำให้สภาพพื้นผิวดินเดิมเปลี่ยนแปลงไป ตามปกติดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลางถึงสูง pH 6.0-7.0 ได้แก่ชุดดิน ธนบุรี สมุทรสงคราม ดำเนินสะดวก

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินยกร่องบางแห่งพื้นที่ ๆ ยกร่องใหม่ ๆ จะมีปัญหาเรื่องดินเค็ม

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : การจัดชั้นความเหมาะสมของกลุ่มชุดดินที่ 8 นั้นได้จัดในการเกษตรคือ ใช้ปลูกไม้ผล พืชผักและปลูกพืชไร่บางชนิด พร้อมกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาควบคู่กับการปลูกพืชดังกล่าว เนื่องจากได้มีการยกร่องปลูกพืชและมีร่องน้ำระหว่างร่องปลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับปรุงให้เหมาะแก่การเลี้ยงปลาก็จะทำให้เกิดรายได้เสริม

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 8

ปลูกพืชไร่ เนื่องจากกลุ่มชุดดินนี้ ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงสภาพพื้นที่เดิม โดยมีการทำคันดินรอบพื้นที่ปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมและน้ำทะเลเข้าถึง และมีการยกร่องปลูกไม้พืชผลพืชผักและพืชไร่อย่างถาวร ปัญหาการระบายน้ำของดินเลว จัดให้มีการสูบน้ำออกจากร่องสวนเพื่อให้การระบายน้ำของดินดีขึ้น มีปัญหาความเค็มของดิน ปรับปรุงดินให้ร่วนซุยโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้แก่ ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตรา 1.5-2.0 ตัน/ไร่ ใส่คลุกเคล้ากับเนื้อดินเมื่อมีการเตรียมดินปลูกพืชจะช่วยล้างเกลือออกจากดินได้ง่าย รักษาระดับน้ำในร่องสวนให้อยู่ในระดับต่ำกว่าร่องปลูกประมาณ 50 ซ.ม. เพื่อช่วยเร่งการล้างเกลือออกจากดิน

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น ข้าวโพด-ข้าวฟ่าง ใส่ปุ๋ยสูตร 20-20-0 อัตรา 25 กก./ไร่ กรณีดินมีฟอสฟอรัสต่ำ โดยใส่รองก้นหลุมทั้งหมดหรือใส่สองข้างแถว แล้วพรวนดินกลบโคนเมื่ออายุได้ 25-30 วัน หรือใส่ปุ๋ยสูตร 20-0-0 อัตรา 40-60 กก./ไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 20-30 กก./ไร่ ใส่ในกรณีที่ดินมีฟอสฟอรัสสูงหรือใส่ปุ๋ย 16-20-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ใส่รองก้นหลุม ใส่ร่วมกับ 20-0-0 อัตรา 20-30 กก./ไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 10-15 กก./ไร่ โดยใส่โรยสองข้างแถวแล้วพรวนดินกลบเมื่อปลูกได้ 20-25 วัน

พืชตระกูลถั่วต่าง ๆ (ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง) ใส่ปุ๋ยสูตร 0-46-0 หรือ 0-40-0 อัตรา 15-20 กก./ไร่ หรือสูตร 0-20-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ โดยใส่ตอนปลูกหรือหลังปลูก 20-25 วัน ใส่รองก้นร่องปลูกหรือโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ

อ้อยเคี้ยว อ้อยปลูกใส่ปุ๋ยสูตร 20-10-10 อัตรา 50 กก.ต่อไร่ ใส่ครั้งเดียว โรยสองข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ เมื่ออ้อยอายุ 30-60 วัน อ้อยตอ ใส่ปุ๋ยอัตราต่ำสูตร 10-15-5 อัตรา 40-50 กก./ไร่ โรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบหลังการแต่งกอหรือใส่ปุ๋ยอัตราสูง สูตร 15-10-10 อัตรา 100 กก./ไร่ ใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่หลังแต่งกอ ครั้งที่สองใส่หลังครั้งแรก 45-60 วัน โดยโรยสองข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ

ฝ้าย โดยทั่วไปใส่ปุ๋ยสูตร 20-0-0 อัตรา 20-30 กก./ไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 15-20 กก./ไร่ ใส่หลังปลูก 20-25 วัน โรยสองข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ ในกรณีดินขาดฟอสฟอรัส ใช้ปุ๋ยสูตร 20-20-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ หรือสูตร 23-23-0 อัตรา 35-45 กก./ไร่ ใส่หลังปลูก 20-25 วัน โรยสองข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ

ปลูกพืชผัก ปัญหาการระบายน้ำเลวและความเค็มของดิน การจัดการให้ดำเนินการเช่นเดียวกับการปลูกพืชไร่ที่ได้กล่าวมาแล้ว

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น ผักรับประทานใบและต้น (กระหล่ำปลี คะน้า และผักกาดต่าง ๆ)ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 40-50 กก./ไร่ หรือสูตร 16-16-16 อัตรา 35-40 กก./ไร่ แบ่งใส่สองครั้ง ๆ ละเท่า ๆ กันใส่ครั้งแรกเมื่อย้ายกล้าปลูก 5-7 วัน ครั้งที่สองใส่หลังครั้งแรก 20-25 วัน หรือใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 อัตรา 25-30 กก./ไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 8-10 กก./ไร่ ใส่สองครั้ง ครั้งแรกใส่ปุ๋ย 8-24-24 ทั้งหมดหลังย้ายปลูก 5-7 วัน ครั้งที่สองใส่ 21-0-0 หรือ 46-0-0 ใส่หลังครั้งแรก 20-25 วัน ผักรับประทานผล (พริก มะเขือ - แตง) ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 60-65 กก./ไร่ แบ่งใส่สองครั้ง ครั้งแรกใส่หลังย้ายปลูก 5-7 วัน ครั้งที่สองใส่เมื่อเริ่มออกดอกหรือหลังครั้งแรกประมาณ 1 เดือน หรือใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 อัตรา 40-50 กก./ไร่ ใส่รวม สูตร 21-0-0 อัตรา 25-30 กก./ไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 10-15 กก./ไร่ สำหรับสูตร 8-24-24 ใส่ครั้งแรกทั้งหมด เมื่อย้ายกล้าปลูก 5-7 วัน ครั้งที่สองใส่สูตร 21-0-0 หรือ 46-0-0 เมื่อเริ่มออกดอกหรือหลังครั้งแรกประมาณ 1 เดือน

ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น ปัญหาการระบายน้ำเลวและความเค็มของดิน การจัดการให้ดำเนินการเช่นเดียวกับการปลูกพืชไร่ที่ได้กล่าวมาแล้ว

การใช้ปุ๋ยเคมี มะพร้าว ใช้ปุ๋ยสูตรและอัตราดังต่อไปนี้ อายุ 1-2 ปี ใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 1 และ 2กก./ต้น ตามลำดับ แบ่งใส่ 2 ครั้ง/ปี อายุ 3-4, 5 และ6 ปี ใช้สูตร
13-13-21 อัตรา 2,2.5 และ 3 กก./ต้น ตามลำดับ แบ่งใส่ 2 ครั้ง/ปี

ส้มโอ ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่ 2 ครั้ง/ปี ใช้อัตรา 1 กก./ต้น คูณอายุปี เช่น อายุ 5 ปี 5 กก./ต้น