กลุ่มชุดดินที่ 61

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : ดินนี้มีการผสมของดินหลายชนิด ซึ่งเกิดจากการผุพังสลายตัวของหินต้นกำเนิดชนิดต่าง ๆ แล้วถูกพัดพามาทับถมบริเวณที่ลาดเชิงเขา เหมาะสมที่จะคงเป็นธรรมชาติ มีบางแห่งทำไร่เลื่อนลอย มีสภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดถึงลอนชัน มีความลาดชันประมาณ6-20 %ดินที่พบส่วนใหญ่มีการระบายน้ำดีถึงปานกลาง มีลักษณะและคุณสมบัติแตกต่างกันไปตามวัตถุต้นกำเนิดดิน เช่น เนื้อดิน สีดิน ความลึกของดิน ปฏิกิริยาดิน ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ทางพื้นที่ เศษหิน ก้อนหิน และพื้นหินโผล่กระจัดกระจายทั่วไป ได้แก่ชุดดินที่ลาดเชิงเขา ปัจจุบันมีการทำไร่เลื่อนลอยบริเวณที่มีความลาดชันสูง เกิดปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยปราศจากมาตรการในการอนุรักษ์ดินและน้ำ

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดถึงลอนชัน มีการกัดกร่อนของดินที่มีความลาดชันสูง

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : ความเหมาะสมหรือศักยภาพของดินกลุ่มนี้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อการเพาะปลูกพืช แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความลึกของดิน เนื้อดิน สภาพพื้นที่และความลาดเท ในการประเมินความเหมาะสมของดิน จึงได้ใช้ชั้นความลาดเทของพื้นที่เป็นหลักในการประเมิน เพราะค่อนข้างจะมีความสัมพันธ์กับความลึกของดิน ปัญหาการชะล้างพังทลายและระดับความชื้นในดิน

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 61 เพื่อการปลูกพืช

ในกรณีที่จะนำพื้นที่บางส่วนของกลุ่มดินที่ 61 มาใช้ในการเพาะปลูก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความลาดเทน้อยกว่า 20 % และดินมีความลึกกว่า 50 ซม. การจัดการควรเน้นเรื่องต่อไปนี้

1) การอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการชะล้างพังทลายของดินเกิดขึ้นในระดับรุนแรงปานกลางถึงรุนแรง ถ้านำมาใช้ในการเพาะปลูกโดยมิได้นำมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมมาปฏิบัติ มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่จะนำมาใช้ในพื้นที่ส่วนนี้ควรเป็นทั้งมาตรการด้านพืชหรือมาตรการทางด้านเกษตรกรรมและมาตรการด้านวิศวกรรม

มาตรการทางเกษตรกรรม ที่จะนำมาใช้มีหลายอย่าง เช่น การใช้ปุ๋ยพืชสดและพืชคลุมดิน การใช้เศษพืชคลุมดิน การเตรียมดินระบบอนุรักษ์ การไถพรวนและปลูกพืชตามแนวระดับ การปลูกพืชเป็นแถบตามแนวระดับและการปลูกพืชหมุนเวียน การสร้างสิ่งกีดขวางตามแนวระดับ (คันซากพืช แถบหญ้า แถบไม้พุ่มตระกูลถั่ว) การใส่ปุ๋ยและปรับปรุงคุณสมบัติของดิน และการใช้ที่ดินแบบวนเกษตร

ส่วนมาตรการทางวิศวกรรม ที่ควรนำมาปฏิบัติได้แก่ คูรับน้ำขอบเขา ขั้นบันไดดิน และการทำบ่อดักตะกอน เป็นต้น

การที่จะเลือกมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำมาปฏิบัติในไร่นานั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของดิน สภาพพื้นที่หรือความลาดเท และสภาพเศรษฐกิจสังคมของเกษตรกร บางพื้นที่อาจจำเป็นต้องนำมาตรการมากกว่าหนึ่งมาตรการมาผสมผสานกันทั้งมาตรการทางเกษตรกรรมและวิศวกรรม

2) การพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้มีน้ำในการเพาะปลูก รักษาความชุ่มชื้นของพื้นที่ และยังเป็นส่วนช่วยในการดักตะกอนดินไม่ให้ถูกพัดมาลงมาทับถมในพื้นที่ราบ

3) การจัดการดินและปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากดินที่จัดอยู่ในกลุ่มชุดดินนี้มีดินหลายชนิดปะปนกัน มีคุณสมบัติและลักษณะที่แตกต่างกันมาก และพบในภูมิอากาศที่ค่อนข้างแตกต่างกันด้วย การจัดการจะขึ้นอยู่กับดินแต่ละชนิดหรือแต่ละชุด จำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบชนิดของดินก่อนที่จะนำมาตรการต่าง ๆ มาปฏิบัติ

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ดินที่พบในหน่วยแผนที่ 61 หรือกลุ่มชุดดินที่ 61 จะประกอบด้วยชุดดินในกลุ่มที่ 29 30 48 56 และ บางส่วนของกลุ่มชุดดินที่ 47 และ 35 ส่วนในภาคใต้และภาคตะวันออก จะประกอบด้วยชุดดินในกลุ่ม 45 50 และ 51 เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการจัดการดินและปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินให้อนุโลมใช้วิธีการที่กล่าวไว้ในกลุ่มชุดดินต่าง ๆ ที่กล่าวสำหรับการปลูกพืชแต่ละชนิด

ข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์กลุ่มชุดดินที่ 61

เนื่องจากกลุ่มชุดดินที่ 61 พบในบริเวณเขตลุ่มน้ำชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 เป็นส่วนใหญ่ สภาพพื้นที่เป็นเนินเขาถึงเป็นเขาชันและดินมีความลึกแตกต่างกันตั้งแต่ดินตื้นมีหินโผล่ถึงดินลึก ดินง่ายต่อการชะล้างพังทลาย การใช้ประโยชน์ต้องระมัดระวัง ถ้าพื้นที่มีความลาดเทตั้งแต่ 20 % ขึ้นไป ถ้าไม่มีความจำเป็นไม่ควรนำมาใช้ในการเพาะปลูกพืชที่ต้องการไถพรวนบ่อยครั้ง ควรรักษาไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติเพื่อเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อม บริเวณที่ป่าถูกบุกรุกควรมีการปลูกป่าทดแทน ส่วนพื้นที่ที่มีความลาดเทน้อยกว่า 20 % ควรใช้ประโยชน์ทางด้านวนเกษตร ซึ่งประกอบด้วยการปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้ผลบางชนิด การเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืชไร่แซมระหว่างแถวไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ตลอดทั้งการเลี้ยงปลาในแหล่งน้ำพัฒนา และการพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับศักยภาพของดินและที่ดิน และมุ่งการใช้ประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์เป็นประการสำคัญ