กลุ่มชุดดินที่ 60

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : ดินนี้มีการผสมของดินหลายชนิด ซึ่งเกิดจากตะกอนลำน้ำพัดพามาทับถมบริเวณสันดินริมน้ำ บริเวณพื้นที่เนินตะกอนซึ่งส่วนใหญ่ มีสภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบ จนถึงลูกคลื่นลอนลาดมีความลาดชันประมาณ 2 - 12 % โดยทั่ว ๆ ไปดินกลุ่มนี้มีการระบายน้ำดีถึงดีปานกลาง ส่วนใหญ่เป็นดินลึก เนื้อดินเป็นพวกดินร่วน บางแห่งมีชั้นดินที่มีเนื้อดินค่อนข้างเป็นทรายหรือมีชั้นกรวด ซึ่งแสดงถึงการตกตะกอนต่างยุคของดินอ้น เป็นผลมาจากการเกิดน้ำท่วมใหญ่ในอดีต ดินกลุ่มนี้โดยทั่ว ๆ ไปมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง และปฏิกิริยาดินเป็นกรดปานกลางถึงเป็นกลาง ได้แก่ชุดดินดินตะกอนลำน้ำที่มีการระบายน้ำดี (AL-W) ปัจจุบันดินนี้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินค่อนข้างกว้างขวาง นิยมปลูกพืชผัก พืชไร่ ไม้ผลและไม้ยืนต้น

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมในฤดูฝน และขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : โดยทั่วไปกลุ่มดินที่ 60 มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชผัก พืชไร่ ไม้ผล และไม้ยืนต้น เนื่องจากเป็นดินลึก การระบายน้ำดีปานกลางถึงดี ความอุดมสมบูรณ์อยู่ในระดับปานกลาง ในช่วงการเพาะปลูกดินมักไม่ขาดความชื้น หรือถ้าขาดก็สามารถนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ได้ เพราะส่วนใหญ่กลุ่มดินนี้พบบริเวณสันริมฝั่งแม่น้ำ และบริเวณหุบเขา มักมีน้ำเพียงพอ

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 60

ปลูกพืชไร่ ปัญหาน้ำท่วมบ่า ทำพนังหรือเขื่อนกั้นน้ำพร้อมทั้งจัดระบบการระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกหรือ ปรับระยะเวลาการปลูกพืชเพื่อหลีกเลี่ยงช่วงน้ำท่วมบ่า ปัญหาดินค่อนข้างเป็นทรายและมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยเทศบาล อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบลงดิน เมื่อปุ๋ยพืชสดอายุ 40-50 วันหรือออกดอกประมาณ 50 %

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ข้าวโพด ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 (ในกรณีดินมีโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชต่ำ) อัตรา 50-75 กก./ไร่ หรือสูตร 16-16-18 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 20-25 กก./ไร่ หรือ 46-0-0 อัตรา 10-15 กก./ไร่ ใส่ตอนปลูกและหลังปลูก 20-25 วัน โดยใส่รองก้นหลุมและโรยสองข้างแถวปลูก แล้วพรวนดินกลบ

ถั่วเหลือง ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-16 อัตรา 35 กก./ไร่ หรือสูตร 16-20-0 หรือ 20-20-0 อัตรา 30 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับโพแทสเซียมคลอไรด์ อัตรา 10 กก./ไร่ โดยหว่านปุ๋ยทั้งหมดในแปลงแล้วคราดกลบก่อนปลูก 1 วัน หรือโรยข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบเมื่อถั่วเหลืองอายุ 20-25 วัน

ถั่วลิสง ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-16 อัตรา 35 กก./ไร่ หรือสูตร 12-24-12 หรือ 10-20-10 อัตรา 25-35 กก./ไร่ ใส่ตอนปลูกหรือ หลังปลูก 20-25 วัน โดยใส่รองก้นหลุม หรือโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ

ปอแก้ว ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 25-30 กก./ไร่ โดยโรยข้างแถวหลังปลูก 1 เดือน แล้วพรวนดินกลบ

ปลูกไม้ผล ปัญหาน้ำท่วมบ่า ปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกพืชไร่ ปัญหาดินค่อนข้างเป็นทรายและมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ เตรียมหลุมปลูกขนาด 50 x 50 x 50 ซม. เป็นอย่างน้อย คลุกเคล้าดินในหลุมปลูกด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก 25-30 กก./หลุม

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มะม่วง ใส่ปุ๋ยเคมีอัตราครึ่งหนึ่งของจำนวนอายุ เช่น มะม่วงอายุ 10 ปี ใส่ปุ๋ยจำนวน 5 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง คือ 1 ใน 3 ส่วนใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ใส่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ครั้งที่สองใส่อีก 1 ใน 3 ส่วน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม และปุ๋ยที่เหลือ 1 ใน 3 ส่วนใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24 ใส่ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม

ลำใย เตรียมหลุมปลูก ใส่ปุ๋ยสูตร 0-3-0 อัตรา 500 กรัม/หลุม คลุกเคล้ากับดินในหลุมปลูก ก่อนตกผล (0-4 ปี) ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 300-400 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละ เท่า ๆ กัน โดยหว่านให้สม่ำเสมอรอบบริเวณทรงพุ่ม ห่างจากโคนต้น 30 ซม. แล้วพรวนดินกลบ ใส่ในเดือนเมษายนและมิถุนายน และใส่ปุ๋ยร่วมสูตร 14-0-20 หรือ 15-5-20 อัตรา 200-300 กรัม/ต้น x อายุปี เป็นการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 ในเดือนสิงหาคม ตกผลแล้ว ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 300-400 กรัม/ต้น x อายุปี หรือสูตร 15-30-15 อัตรา 250-300 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละ เท่า ๆ กัน โดยการขุดร่องหรือขุดเป็นหลุมรอบทรงพุ่มลึกประมาณ 20-30 ซม. หยอดปุ๋ยลงหลุมแล้วเอาดินกลบ ใส่หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต 2 ครั้ง และใส่ปุ๋ยร่วมหลังติดผลแล้ว 1 ครั้ง โดยใช้สูตร 14-0-20 หรือ 15-5-20 อัตรา 200-300 กรัม/ต้น x อายุปี หรือใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 14-14-21 อัตรา 500-600 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง ๆ ละ เท่า ๆ กัน คือหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 2 ครั้ง และหลังติดผล 1 ครั้ง