กลุ่มชุดดินที่ 6

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นดินเหนียว ดินบนมีสีเทาแก่ ดินล่างมีสีน้ำตาลปนเทาหรือสีเทา มีจุดประสีน้ำตาลหรือสีแดงตลอดชั้นดินบางแห่งมีศิลาแลงอ่อน หรือก้อนสารเคมีพวกเหล็กและแมงกานีสปะปนอยู่ด้วย กลุ่มดินนี้เกิดจาก พวกตะกอนลำน้ำเป็นดินลึกมาก มีการระบายน้ำเลวพบตามที่ราบ ตั้งแต่ที่ราบน้ำท่วมถึงลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ น้ำแช่ขัง 30-50 ซม. นาน 3 -5 เดือน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำหรือค่อนข้างต่ำ pH 4.5-5.5 ได้แก่ชุดดิน บางนรา มโนรมย์ เชียงราย นครพนม ปากท่อและแกลง สุไหงโกลก ท่าศาลา คลองขุด สตูล วังตง ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่ใช้ทำนา หรือปลูกพืชล้มลุกในช่วงฤดูแล้ง

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ปฏิกิริยาของดินเป็นกรดแก่ฤดูฝนน้ำแช่ขังนาน 3 - 5 เดือน

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : เนื่องจากสภาพพื้นที่พบบริเวณพื้นที่ราบเรียบถึงราบลุ่ม เนื้อดินเป็นดินเหนียวการระบายน้ำเลว ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำขังอยู่ที่ผิวดิน ระหว่าง 3-5 เดือน จึงมีศักยภาพเหมาะสมที่จะใช้ทำนาในช่วงฤดูฝน และในช่วงฤดูแล้งสามารถปลูกพืชไร่ พืชผัก หรือพืชอื่นที่มีอายุสั้นได้ สำหรับในบริเวณพื้นที่ที่มีน้ำชลประทานเข้าถึงหรือมีแหล่งน้ำธรรมชาติ สามารถใช้ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล หรือปลูกพืชไร่ และพืชผัก ตลอดทั้งปีจะต้องทำคันดินล้อมรอบพื้นที่เพาะปลูกและยกร่องปลูก เพื่อช่วยการระบายน้ำของดิน

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 6

ปลูกข้าวหรือทำนา เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดิน
ที่ 1 การใช้ปุ๋ยเคมี สำหรับพันธุ์ข้าวที่แนะนำ ให้ใช้ปุ๋ยสูตรและอัตราปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 2

ปลูกพืชไร่ การเตรียมพื้นที่เพาะปลูกกรณีปลูกในช่วงฤดูแล้งหรือหลังเก็บเกี่ยวข้าว และกรณีเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดินจากนาข้าวเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่แบบถาวรให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่ม
ชุดดินที่ 2

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น ข้าวโพดหวาน ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และอ้อย ใช้สูตรปุ๋ยและอัตรา เช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 2

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น การเตรียมพื้นที่ปลูกให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเตรียมพื้นที่ปลูกพืชไร่แบบถาวร

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น มะม่วง ส้มเขียวหวาน มะพร้าว ให้ใช้ปุ๋ยสูตรและอัตราเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 2

ลองกอง (ยังไม่ให้ผล)ใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 0.5 กก./ต้น/อายุ 1 ปี โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ในช่วงต้น และปลายฤดูฝน เมื่อให้ผลผลิตแล้วใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 ประมาณ 0.5-1 กก./ต้น

มังคุด ใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 0.5 กก./ต้น/อายุ 1 ปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง สำหรับมังคุดที่ออกผลแล้ว ใส่สูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กก./ต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง ต้นฤดูฝน และปลายฤดูฝน และก่อนออกดอก และติดผลเล็ก ๆ ใส่สูตร 12-12-17 อัตรา 1-2 กก. /ต้น

ทุเรียน (ที่ให้ผลแล้ว) ครั้งแรกใส่สูตร 15-15-15 อัตรา 3.0 - 5.0 กก./ต้น หลังเก็บผลแล้ว ครั้งที่ 2 ใส่สูตร 12-24-12 อัตรา 3.0-5.0 กก./ต้น ใส่ก่อนออกดอก 1-2 เดือน ครั้งที่ 3 ใส่สูตร 8-24-24 หรือ 8-24-24 อัตรา 1.0-2.0 กก./ต้น หลังจากออกดอกประมาณ 60 วัน

ส้มโอ ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่ 2 ครั้ง/ปี ดังนี้ อายุ 1 ปี ใช้อัตรา 1 กก./ต้น อายุ 2 ปี ใช้อัตรา 2 กก./ต้น อายุ 3 ปี ใช้อัตรา 3 กก./ต้น อายุ 4 ปี ใช้อัตรา 4 กก./ต้น อายุ 5 ปี ใช้อัตรา 5 กก./ต้น

เงาะ อายุ 1-3 ปี ยังไม่ให้ผล ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 0.5-1.0 กก./ต้น ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ในตอนต้นและตอนปลายฤดูฝน สำหรับปีต่อไปใส่ปุ๋ยเพิ่มขึ้น 0.5 กก./ต้น/ปี ให้ใส่ปุ๋ยหลังจากตัดแต่งกิ่งและกำจัดวัชพืชแล้ว โดยใส่ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ เงาะที่ให้ผลแล้วแบ่งใส่ 3 ช่วง ครั้งแรก ใส่สูตร 15-15-15 อัตรา 2.0-3.0 กก./ต้น หลังจากเก็บผลผลิตและได้ตัดแต่งกิ่งพร้อมกำจัดวัชพืชแล้ว ครั้งที่สองใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 อัตรา 2.0-3.0 กกก./ต้น ก่อนการออกดอก ครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ย 9-24-24 หรือ 15-15-15 อัตรา 1.0-2.0 กก./ต้น ใส่เมื่อติดผลแล้ว และในระยะก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-17-2 อัตรา 1-2 กก./ต้น

โกโก้ อายุ 1 ปี ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 0.2 กก./ต้น/ครั้ง อายุ 3 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-17-2 อัตรา 0.6 กก./ต้น/ครั้ง อายุ 4 ปี ใช้ปุ๋ยสูตร 12-12-17-2 อัตรา 0.7 กก./ต้น/ครั้ง โดยแบ่งใส่ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ใส่ก่อนฤดูฝน ครั้งที่ 2 ใส่กลางฤดูฝน และครั้งที่ 3 ใส่ปลายฤดูฝน