กลุ่มชุดดินที่ 59

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : ดินมีการผสมของดินหลายชนิด ซึ่งเกิดจากตะกอนลำน้ำพัดพามาทับถมกัน พบบริเวณที่ราบลุ่ม หรือบริเวณพื้นล่างของหุบเขา มีสภาพพื้นที่ราบเรียบ มีความลาดชันประมาณ 0-2 % ดินที่พบส่วนใหญ่มีการระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงเลว มีลักษณะและคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น เนื้อดิน สีดิน ความลึกของดิน ปฏิกิริยาดิน ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุต้นกำเนิดดินในบริเวณนั้น ๆ ส่วนมากมีก้อนกรวดและเศษหินปะปนอยู่ในเนื้อดิน ได้แก่ชุดดินตะกอน สีน้ำการระบายน้ำเลว (AL-P) ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ประโยชน์ในการทำนา ส่วนในฤดูแล้งถ้ามีแหล่งน้ำนิยมใช้ปลูกพืชผัก หรือพืชไร่อายุสั้น

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินมีการระบายน้ำเลว มีน้ำแช่ขังในฤดูฝน และดินแฉะเกินไปสำหรับพืช

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 59 มีศักยภาพเหมาะสมในการทำนาในช่วงฤดูฝน และเหมาะสมในการปลูกพืชไร่ในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากดินมีความชื้นพอที่จะปลูกพืชไร่ได้หลายชนิดหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว และพื้นที่บางส่วนของกลุ่มดินนี้อยู่ภายใต้ระบบชลประทานโดยเฉพาะในภาคเหนือ ส่วนการปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นนั้นไม่เหมาะสม เพราะมีน้ำท่วมขังในฤดูฝนและดินมีสภาพการระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงเลว

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 59

ปลูกข้าว หรือทำนา

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและ เนื้อดินค่อนข้างเป็นทราย ในบางพื้นที่ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้แก่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อัตรา 1.5-2.0 ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ปอเทือง โสน โสนอัฟริกัน ฯลฯ เป็นปุ๋ยพืชสด ข้าว ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 35 กก./ไร่ ใส่ระยะปักดำหรือก่อนปลูก และใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตหรือแอมโมเนียมคลอไรด์ อัตรา 20-30 กก./ไร่ หรือปุ๋ยยูเรีย อัตรา 10-15 กก./ไร่ เป็นการใส่ปุ๋ยครั้งที่สอง เมื่อข้าวอายุ 35-50 วัน หลังปักดำ

ปลูกพืชไร่ ปัญหาการระบายน้ำของดินค่อนข้างเลวถึงเลวในบางพื้นที่ และน้ำท่วมขังในฤดูฝน การเตรียมพื้นที่ปลูก ในกรณีปลูกพืชไร่ในช่วงฤดูแล้งหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ ทำร่องระบายน้ำรอบกระทงนา กว้าง 40-50 ซม. และลึกประมาณ 20 ซม. แล้วยกร่องปลูกมีขนาดสันร่องกว้างประมาณ 2 เมตร และระหว่างสันร่องปลูกมีทางเดิน กว้างประมาณ 30 ซม. เพื่อสะดวกในการให้น้ำและเข้าไปดูแลพืชที่ปลูก ในกรณีเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดินจากนาข้าวเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่อย่างถาวรคือ ปลูกทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ให้ทำคันรอบพื้นที่ปลูก และให้ยกร่องปลูกแบบถาวร สันร่องกว้างระหว่าง 6-8 เมตร และมีร่องระบายน้ำระหว่างสันร่องปลูก กว้างประมาณ 1.5 เมตร และลึกประมาณ 1 เมตร บนสันร่องปลูกอาจแบ่งซอยเป็นสันร่องย่อย โดยการยกแปลงให้สูงขึ้น 10-20 ซม. และกว้าง 1.5-2.0 เมตร เพื่อช่วยการระบายน้ำบนสันร่อง และสะดวกในการเข้าไปดูแลพืชที่ปลูก ปัญหาเนื้อดินค่อนข้างเป็นทรายในบางพื้นที่ แก้ไขโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่นปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก อัตรา 1-2 ตัน/ไร่

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ พืชตระกูลถั่ว (ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือ อัตรา 25-35 กก./ไร่ ใส่ตอนปลูกหรือหลังปลูก 20-25 วัน โดยใส่รองก้นหลุมหรือโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ

ข้าวโพด ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 20-25 กก./ไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 10-15 กก./ไร่ ใส่ตอนปลูกและหลังปลูก 20-25 วัน โดยใส่รองก้นหลุมและโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ

ปลูกไม้ผล ปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝนและดินระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงเลว ในกรณีเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดินจากนาข้าวเป็นที่ปลูกไม้ผลถาวร ปฏิบัติเช่นเดียวกับวิธีการปลูกพืชไร่ถาวร

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มะละกอ พันธุ์ที่แนะนำได้แก่ โกโก้ แขกดำ จำปาดะ สายน้ำผึ้ง ฮาวาย มาเลเซีย ควรใส่ปุ๋ยสูตร 14-12-12 หรือ 20-15-15 อัตรา 1 กก./ต้น ระยะต้นอ่อนถึงก่อนออกดอก หลังจาก 1 ปีขึ้นไปใส่ประมาณ 1-1.5 กก./ต้น

ฝรั่ง พันธุ์ที่แนะนำได้แก่ กลมสาลี ทูลเกล้า เวียตนาม ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตราประมาณ 1 กก./ต้น/ปี ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอัตรา 10 กก./ต้น

ลำใย พันธุ์ที่แนะนำได้แก่ อีดอ ชมพู แห้ว เบี้ยวเขียว เมื่อต้นลำใยเริ่มให้ผล ควรงดการให้น้ำช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ควรทำความสะอาดบริเวณโคนต้น ถางหญ้าและเก็บกวาดใบที่ร่วงออก เพื่อให้หน้าดินแห้ง เดือนกุมภาพันธ์ลำใยแทงช่อดอก เริ่มให้น้ำโดยค่อย ๆ เพิ่มปริมาณจนถึงปกติ เดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ใส่ปุ๋ยสูตรบำรุงผลสูตร 12-12-17 หรือปุ๋ยสูตรเสมอ (15-15-15) ในอัตราครึ่งหนึ่งของอายุต้นและควรมีการค้ำยันกิ่งและฉีดสารเคมีป้องกันโรคและแมลงด้วย ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ควรมีการลดการให้น้ำลงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ควรมีการตัดแต่งกิ่ง ฉีดยาป้องกันโรคและแมลง ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น สูตร 15-15-15 อัตราครึ่งหนึ่งของอายุต้นร่วมกับการใส่ปุ๋ยคอกในอัตราเท่ากับอายุของต้น