กลุ่มชุดดินที่ 58

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : หน่วยที่ดินนี้เป็นกลุ่มชุดดิน ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มชุดดินที่ 57 กล่าวคือเป็นดินอินทรีย์ ในพื้นที่พรุ แต่ชั้นดินอินทรีย์ที่พบหนากว่า 100 ซม. และมีเนื้อหยาบกว่าอีกทั้งมีเศษพืชขนาดเล็กและขนาดใหญ่ปะปนอยู่ทั่วไป ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่ยังคงสภาพป่าพรุ บริเวณขอบ ๆ พรุบางแห่งใช้ปลูกพืชล้มลุกและพืชผักสวนครัว แต่ไม่ค่อยได้ผล เมื่อป่าพรุถูกทำลายไปจะมีพืชต่าง ๆ เช่น กระจูด เฟริน์ และเสม็ดขึ้นแทนที่ ตัวอย่างชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ชุดดินนราธิวาส

ปัญหาสำคัญในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : เป็นดินอินทรีย์ที่มีคุณภาพต่ำเป็นกรดจัด ขาดธาตุอาหารพืชต่าง ๆ อย่างรุนแรง และยากต่อการใช้เครื่องมือทางการเกษตร เนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำและดินยุบตัว หากมีการระบายน้ำออกเมื่อดินแห้งจะติดไฟได้ง่าย

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 58 มีศักยภาพไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการเพาะปลูกพืช เนื่องจากเป็นดินอินทรีย์ที่มีชั้นวัสดุอินทรีย์หนากว่า 1 เมตร มีสภาพไม่อยู่ตัว พบในที่ราบลุ่มมีน้ำขังเกือบตลอดปีหรือตลอดปี ขาดธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชและดินเป็นกรดจัด การที่จะพัฒนามาใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชก็ให้ผลไม่คุ้มค่าในการลงทุน

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 58 ดังที่กล่าวแล้วกลุ่มชุดดินที่ 58 มีศักยภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการเพาะปลูกพืช การพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไข ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน การจัดการควรเน้นด้านการพัฒนาเป็นที่เลี้ยงสัตว์น้ำหรือเลี้ยงปลา แต่ต้องมีการปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำในบ่อเลี้ยงปลาไม่ให้เป็นกรดจัดจนเกินไปโดยการใช้ปูนขาวหรือหินปูนฝุ่นใส่ลงไปในก้นบ่อ อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ และใส่หินปูนบริเวณรอบขอบบ่ออัตรา 0.5-1 กก./ตารางเมตร ทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง จึงทำการตรวจวัดค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ ค่าความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 6.5-8.0

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อการปลูกพืชบางชนิดให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 57 ที่ได้กล่าวมาแล้ว