กลุ่มชุดดินที่ 56

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินช่วง 50 ซม.ตอนบนเป็นดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย ส่วนดินล่าง เป็นดินปนเศษหิน ดินสีน้ำตาลเหลืองหรือแดง เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินพวกหินตะกอนเนื้อหยาบ หรือหินอัคนีเนื้อหยาบ พบบนสภาพพื้นที่ลูกคลื่นลอนลาดถึงเนินเขา มีความลาดชันประมาณ 6 - 35 % เป็นดินลึกปานกลาง มีการระบายน้ำดี ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกกว่า 2 เมตร ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ pH 5.0-6.0 ได้แก่ชุดดินลาดหญ้า และโพนงาม, ภูสะนา ปัจจุบันดินนี้ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง โดยทั่ว ๆ ไปแล้วจะมีปัญหาเรื่องดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และอาจเกิดการชะล้างพังทลายได้ง่าย ถ้าปลูกพืชในบริเวณที่มีความลาดชันมาก ๆ โดยได้มีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินให้น้ำซึมผ่านค่อนข้างเร็วถึงปานกลาง มีการอุ้มน้ำต่ำระดับน้ำใต้ดินลึกมาก ดินมีการกัดกร่อนได้ง่าย ที่ความลาดชันสูง ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : โดยทั่วไปกลุ่มชุดดินที่ 56 มีศักยภาพค่อนข้างไม่เหมาะสมถึงเหมาะสมในการปลูกพืชไร่ ขึ้นอยู่กับสภาพและความลาดเทของพื้นที่ ไม่ค่อยเหมาะสมในการปลูกพืชผักต่างๆ และไม้ผล เนื่องจากขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก และในดินชั้นล่างจะพบชั้นเศษหินที่เป็นวัตถุต้นกำเนิดดิน จึงไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับไม้ผล

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 56

ปลูกพืชไร่ ปัญหาดินค่อนข้างเป็นทราย มีอินทรียวัตถุและความชื้นในดินต่ำ เพิ่มอินทรียวัตถุในดินโดยหว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1-3 ตัน/ไร่ หรือใช้ปุ๋ยพืชสด โดยหว่านเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดตระกูลถั่ว ได้แก่ โสนอัฟริกัน ปอเทืองหรือปอเทืองเตี้ย ถั่วพร้า หรือถั่วพุ่ม อัตราเมล็ดพันธุ์ 5 กก./ไร่ ควรหว่านรอฝน หรือต้นฤดูฝนกลางเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคม เมื่อพืชปุ๋ยสดออกดอก 50% หรืออายุ 60 วัน จึงทำการไถกลบหรือสับกลบลงดิน ก่อนปลูกพืช ดินเกิดการชะล้างพังทลาย ปลูกพืชไร่ตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ หรือใช้ระบบการปลูกพืชโดยปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียน หรือแซมในระหว่างแถวของพืชหลัก

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ข้าวไร่ ใส่ปุ๋ยเคมี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรก ใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 หรือสูตรอื่นที่มีธาตุอาหารใกล้เคียงกัน อัตรา 20-25 กก./ไร่ ใส่หลังข้าวงอก 20-30 วัน ครั้งที่สอง ใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตหรือ แอมโนเนียมคลอไรด์ อัตรา 15-30 กก./ไร่หรือปุ๋ยยูเรีย 7-15 กก./ไร่ ใส่ระยะกำเนิดช่อดอกหรือประมาณ 30 วัน ก่อนข้าวออกดอก

มันสำปะหลัง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือสูตรอื่นที่มีธาตุอาหารพืชใกล้เคียงกัน อัตรา 50-100 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่รองก้นหลุมปลูกและครั้งที่สอง โรยข้างต้นเมื่อมันสำปะหลังอายุ 2 เดือน

ข้าวโพด ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือสูตรอื่นที่มีธาตุอาหารพืชเท่าเทียมกัน อัตรา 50-75 กก./ไร่ แบ่งใส่โดยใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก และใส่ครั้งที่สองเมื่อข้าวโพดสูงประมาณ 40 ซม.ใส่โดยการโรยข้างแถว ห่างแถวข้าวโพดประมาณ 15-20 ซม. แล้วพรวนดินกลบโคนต้น

ถั่วลิสง ดินเกิดการชะล้างพังทลาย ปลูกถั่วลิสงตามแนวระดับขวางลาดเทของพื้นที่ปลูกแซมหรือปลูกหมุนเวียนกับพืชอื่นในระบบการปลูกพืช ปัญหาดินเป็นกรด หว่านปูนขาว อัตราตามความต้องการปูนของดิน พร้อมปุ๋ยอินทรีย์ก่อนเตรียมแปลง หรือใส่ยิปซั่มอัตรา 50-100 กก./ไร่ โดยโรยข้างแถวพืชขณะต้นถั่วแทงเข็ม หรือเมื่อต้นถั่วอายุ 40-50 วันให้โรยระหว่างแนวปลูกห่าง 15-20 ซม. แล้วพรวนดินกลบโคนต้น ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 3-9-6 (N-P2O5-K2O) กก./ไร่ หรือสูตร 8-24-16 อัตรา 35 กก./ไร่ แบ่งใส่สองระยะ คือใส่รองก้นหลุมก่อนปลูกและใส่ครั้งที่สองโดยโรยข้างแถวพืชเมื่อต้นถั่วออกดอก หรือเมื่อต้นถั่วอายุ 20 วัน ดินค่อนข้างเป็นทราย มีอินทรียวัตถุและความชื้นในดินต่ำ เพิ่มอินทรียวัตถุในดินโดยใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกอัตรา 1-3 ตัน/ไร่ ไถกลบเศษซากถั่วเหลืองลงดินหรือเกลี่ยคลุมผิวดินหลังจากการเก็บเกี่ยว

ถั่วเหลือง ดินเกิดการชะล้างพังทลาย ให้ปลูกถั่วเหลืองตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่หรือใช้ระบบปลูกแซมหรือหมุนเวียนพืชในระบบการปลูกพืช ปัญหาดินเป็นกรด ใช้ปูนขาวอัตราตามความต้องการปูนของดิน หว่านให้ทั่วแปลงพร้อมกับการหว่านปุ๋ยอินทรีย์ตอนเตรียมแปลงแล้วไถกลบทิ้งไว้ 30 วัน ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 3-9-6 (N-P2O5-K2O) กก./ไร่หรือปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 20-20-0 อัตรา 30 กก./ไร่ ร่วมกับโพแทสเซียมคลอไรด์ 15 กก./ไร่ หรือสูตร 8-24-16 อัตรา 35 กก./ไร่ โดยหว่านปุ๋ยทั้งหมดในแปลงแล้วพรวนหรือคราดกลบก่อนปลูก 1 วัน หรือโรยข้างแถวพืชหลังจากดายหญ้าครั้งแรกแล้วพรวนดินกลบโคนต้น

ปลูกไม้ผล ปัญหาดินลึกปานกลาง ขุดหลุมให้มีขนาด 75 x 75 x 75 ซม.เป็นอย่างน้อย ปัญหาดินเป็นทรายความชื้นในดินต่ำ เพิ่มอินทรียวัตถุในดินโดยใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกหรือเศษใบไม้แห้ง อัตรา 3-5 กก./หลุม ตอนเตรียมหลุมปลูก ปัญหาดินเป็นกรด ใส่ปูนขาว อัตรา 3-5 กก./ต้น คลุกเคล้ากับดินในหลุมให้ดี

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มะม่วง ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี โดยใส่ทุกปี ปีละ 4 ครั้ง ในช่วงเดือนมีนาคม พฤษภาคม สิงหาคม และ ตุลาคม โดยใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 20-50 กก./ต้นร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 กก./ต้น/ปี จะมีอัตราเฉลี่ยเท่ากับครึ่งหนึ่งของอายุมะม่วงถึงเท่ากับอายุมะม่วง การใส่ปุ๋ยให้ใส่โดยหว่านให้รอบรัศมีทรงพุ่ม ปุ๋ยคอกให้โรยรอบรัศมีทรงพุ่มแล้วพรวนดินกลบ

มะม่วงหิมพานต์ ในระยะก่อนตกผลใส่ปุ๋ย 4 ครั้งในเดือนมีนาคม พฤษภาคม สิงหาคม ตุลาคม ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 20-30 กก./ต้น และควรใส่ทุกปี ร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีเฉลี่ยเท่ากับครึ่งหนึ่งของอายุมะม่วงถึงกับอายุมะม่วงหิมพานต์ ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 300-800 กรัม/ต้น เมื่ออายุ 1-2 ปี และใส่ในอัตรา 1 กก./ต้นเมื่ออายุ 3 ปี ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1.5-5 กก./ต้น เมื่ออายุ 4-6 ปี ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 2-3 กก./ต้น เมื่ออายุ 7 ปีขึ้นไป

ขนุน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กก/ต้น ตอนต้นฤดูฝน และปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1-2 กก./ต้น ช่วงปลายฝน และควรใส่ปุ๋ยคอกทุกปี อัตรา 20-30 กก./ต้น โดยใส่รอบรัศมีทรงพุ่ม