กลุ่มชุดดินที่ 54

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นพวกดินเหนียว โดยปกติจะมีก้อนปูนหรือเศษหินที่กำลังผุพัง สลายตัวปะปนอยู่ในเนื้อดินด้วย ดินสีเทาเข้มหรือสีน้ำตาล หรือน้ำตาลปนแดง ชั้นดินล่างอาจมีจุดประสีเหลืองและสีแดง พบบริเวณพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดถึงลูกคลื่นลอนชัน มีความลาดชันประมาณ 6 - 20 % เป็นดินลึกปานกลาง มีการระบายน้ำดีถึงดีปานกลาง ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกกว่า 1 เมตร มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลาง pH 6.5-8.0 ได้แก่ชุดดินสมอทอด และลำนารายณ์, ลำพญากลาง ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง ปอ และถั่ว หรือปลูกไม้ผลบางชนิด

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินลึกปานกลาง มีชั้นที่มีก้อนปูนหรือเศษหินปะปนมีสภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่น ยากแก่การเก็บกักน้ำ และมีการกัดกร่อนของดินที่ความลาดชันน้อยสูง

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 54 มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ผลหรือไม้ยืนต้น และพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ แต่ในฤดูแล้งไม่สามารถปลูกพืชล้มลุกได้เนื่องจากดินมีความชื้นไม่เพียงพอ และยังไม่มีระบบชลประทานเข้าถึง ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกเฉพาะในช่วงฤดูฝน

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 54

ปลูกพืชไร่ ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ปัญหาดินขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกในบางช่วง การไถเตรียมดินปลูกพืชไร่ขวางความลาดเทของพื้นที่ ทำคันดินขวางความลาดเทของพื้นที่ ช่วยชลอการไหลบ่าของน้ำที่ผิวดินเมื่อฝนตกหนัก ขุดบ่อดักตะกอน เพื่อช่วยชลอการไหลบ่าของน้ำที่ผิวดิน และยังสามารถใช้น้ำเสริมในการเพาะปลูก นำมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำทางพืชมาใช้ เช่น การปลูกพืชเป็นแถบสลับกับ การปลูกพืชเป็นแถวขวางความลาดเทของพื้นที่ การปลูกพืชตระกูลถั่วแซมพืชหลัก เป็นต้น

ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่างและดินขาดความชื้นในบางช่วง ใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก อัตรา 1.5-2.0 ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชปุ๋ยสด แล้วไถกลบลงดินเมื่อปุ๋ยพืชออกดอกได้ประมาณ 50% ปลูกพืชตระกูลถั่วสลับกับพืชไร่หลักหรือปลูกพืชตระกูลถั่วแซมกับพืชหลัก จะช่วยรักษาและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินและยังช่วยเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำของดินอีกด้วย เช่น

ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือสูตร 10-30-20 อัตรา 20-30 กก./ไร่ ใส่รองก้นร่องปลูก หรือโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบเมื่อถั่วอายุ 20-25 วัน

ข้าวโพด-ข้าวฟ่าง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-0 อัตรา 40-50 กก./ไร่ โรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ ใส่หลังปลูก 20-25 วัน หรือใส่ปุ๋ยสูตร 20-20-0 อัตรา 40-50 กก./ไร่หรือสูตร 23-23-0 อัตรา 35-45 กก./ไร่ หรือสูตร25-25-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ โรยข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบใส่หลังปลูก 20-25 วัน

ปลูกไม้ผล ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกพืชไร่ และปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินระหว่างแถวไม้ผล นอกจากช่วยป้องกันการชะล้างหน้าดินแล้ว ยังช่วยรักษาความชื้นของดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินอีกด้วย

ปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ แก้ไขโดยการใช้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี สูตร อัตรา และวิธีการใช้ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ผล เช่น

ส้ม เตรียมหลุมปลูก ใส่ปุ๋ยสูตร 0-3-0 อัตรา 500 กรัม/ต้น คลุกกับดินในหลุมปลูก ก่อนตกผล ใส่ปุ๋ยสูตร 18-6-6 อัตรา 250-300 กรัม/ต้น x อายุปี หรือสูตร 25-7-7 อัตรา 200-250 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละเท่า ๆ กัน เป็นการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 และครั้งที่ 3 ปุ๋ยร่วมได้แก่ปุ๋ยสูตร 14-0-20 อัตรา 200-250 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่สองครั้ง ครั้งละ เท่า ๆ กัน ใส่เป็นครั้งที่ 2 และ 4 วิธีใส่ปุ๋ยผสมและปุ๋ยร่วมหว่านให้สม่ำเสมอ รอบบริเวณทรงพุ่มห่างจากโคนต้นประมาณ 30 ซม. แล้วกลบด้วยปุ๋ยอินทรีย์หรือเศษซากพืช หรือใส่ปุ๋ยสูตร 16-3-5 อัตรา 600-750 กรัม/ต้น x อายุปี หรือสูตร 18-4-5 อัตรา 400-500 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 4 ครั้ง ๆ ละ เท่า ๆ กัน ทุกๆ 3 เดือน ตกผลแล้ว ใส่ปุ๋ยสูตร 12-3-6 อัตรา 600-700 กรัม/ต้น x อายุปี หรือสูตร 14-4-9 อัตรา 500-600 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละ เท่า ๆ กัน หลังเก็บผลผลิตแล้ว สำหรับปุ๋ยร่วม สูตร 14-0-20 อัตรา 100-150 กรัม/ต้นxอายุปี ใส่หลังติดผลแล้ว หรือใส่ปุ๋ยสูตร 15-3-12 อัตรา 500-600 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง ครั้งละเท่า ๆ กัน หลังเก็บผลผลิตแล้ว 2 ครั้งและติดผลแล้ว 1 ครั้ง

ลิ้นจี่ เตรียมหลุมปลูก ใส่ปุ๋ยสูตร 0-3-0 อัตรา 500 กรัม/ต้น คลุกกับดินในหลุมปลูก ก่อนตกผล (0-3 ปี) ใส่ปุ๋ยสูตร 12-4-20 หรือ 15-5-20 อัตรา 200--300 กรัม/ต้น x อายุปี ร่วมกับปุ๋ย 14-0-20 อัตรา 200-300 กรัม/ต้น x อายุปี ปุ๋ยหลักแบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละเท่า ๆ กัน โดยหว่านให้สม่ำเสมอรอบบริเวณทรงพุ่ม ห่างจากโคนต้น 30 ซม. แล้วพรวนดินกลบ ส่วนปุ๋ยร่วมเป็นการใส่ครั้งที่ 3 ให้ใส่เช่นเดียวกันระยะเวลาที่ใส่คือเดือน เมษายน มิถุนายน และสิงหาคม ตกผลแล้ว ใส่ปุ๋ยสูตร 14-5-20 หรือ 15-5-20 อัตรา 200-250 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละ เท่า ๆ กัน เป็นการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 และ 2 การใส่ครั้งที่ 3 เป็นการใส่ปุ๋ยร่วมสูตร 14-0-20 อัตรา 50-100 กรัม/ต้น x อายุปี ใส่หลังเก็บเกี่ยวผลิตผลแล้ว 2 ครั้ง และติดผลแล้ว 1 ครั้ง วิธีการใส่ ๆ เช่นเดียวกับการใส่ปุ๋ยก่อนตกผล