กลุ่มชุดดินที่ 53

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : หน่วยที่ดินเป็นกลุ่มชุดดินที่มีเนื้อดินบน เป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนดินเหนียว ส่วนดินล่างในระดับความลึกระหว่าง 50-100 ซม. เป็นดินลูกรังหรือดินปนเศษหินผุ ซึ่งเป็นพวกหินดินดานพบในเขตฝนตกชุกเช่น ภาคใต้ ลักษณะพื้นที่เป็นลูกคลื่นหรือเนินเขา ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติค่อนข้างต่ำ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดแก่ มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ประมาณ 5.0-5.5 ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ปลูกยางพารา ไม้ผล กาแฟ และพืชไร่บางชนิด ตัวอย่างชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ชุดดินตราด ชุดดินตรัง ชุดดินปาดังเบซาร์ ชุดดินนาทอน ชุดดินโอลำเจียก ชุดดินคลองเต็ง

ปัญหาสำคัญในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินชั้นล่างมีลูกรัง หรือเศษหินปะปนอยู่เป็นปริมาณมาก ทำให้การปลูกพืชรากลึก อาจมีปัญหาและดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ บริเวณที่มีความลาดชันสูงอาจเกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้ง่าย

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินนี้มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน ยางพารา พืชไร่ และพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ แต่มีปัญหาบ้างเล็กน้อย เนื่องจากมีชั้นกรวดและเศษหินในตอนล่างของหน้าตัดดิน ดินนี้ไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับปลูกพืชผัก เนื่องจากมีโอกาสที่จะขาดแคลนน้ำในฤดูเพาะปลูกได้ และไม่เหมาะสมในการทำนา เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านสภาพพื้นที่ที่อยู่สูงเกินไปที่จะเก็บกักน้ำ

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 53

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ปัญหาเป็นดินลึกปานกลาง หลุมปลูกควรมีขนาดอย่างน้อย 50 x 50x50 ซม. ยึดลำต้นกับหลักไม้ เพื่อไม่ให้ลำต้นโยก ปัญหาพื้นที่มีความลาดเทสูง มีมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ใช้วิธีพืชเมื่อมีความลาดชันน้อยกว่า 12 % เช่น ปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน ใช้วิธีกลเมื่อความลาดชันมากกว่า 12 % เช่น ทำขั้นบันไดดิน ปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในไร่นา เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ลดการคายน้ำในดินโดยใช้วัสดุทางการเกษตรคลุมดิน

ปัญหาความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น ยางพารา มังคุด และเงาะ การใช้อินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี ใช้สูตรอัตราและปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 50 สำหรับทุเรียน และมะม่วงหิมพานต์ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี อัตรา 20-50 กก./ต้น/ปี หลุมปลูกใส่ปุ๋ยร็อคฟอสเฟต 500 กรัม/ต้น คลุกเคล้ากับดินบนและอินทรียวัตถุ 20 กก./หลุม ส่วนการใช้ปุ๋ยเคมีสูตรปุ๋ย และอัตราปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 51

ส้มเขียวหวาน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี อัตรา 20-50 กก./ต้น/ปี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 20 กก.และปุ๋ยร็อคฟอสเฟต 500 กรัม คลุกเคล้ากับดินบนเตรียมหลุมปลูก อายุน้อยกว่า 3 ปี ใส่ปุ๋ย 4 ครั้ง ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 18-6-6 หรือ 25-7-7 อัตรา 250-300 หรือ 200-250 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 และ 3 และสูตร 14-0-20 หรือ 16-3-5 หรือ 18-4-5 อัตรา 200-250 หรือ 500-600 หรือ 400-500 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 และ 4 ตกผลแล้ว ใช้สูตร 12-3-6 หรือ 14-4-9 อัตรา 600-700 หรือ 500-600 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง หลังเก็บผลผลิตแล้ว ร่วมกับสูตร 14-0-20 หรือ 15-3-12 อัตรา 100-150 หรือ 500-600 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง หลังติดผลแล้ว การใส่หว่านให้สม่ำเสมอ ห่างโคนต้น 30 ซม. แล้วพรวนดินกลบ

กาแฟพันธุ์อาราบิก้า ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี อัตรา 20-50 กก./ต้น/ปี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 20 กก.และปุ๋ยร็อกฟอสเฟต 200 กรัม ผสมกับดินบน เตรียมหลุมปลูก ซึ่งมีขนาดอย่างน้อย 60 x 60 x 60 ซม ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 17-17-17, 15-15-15 หรือ 13-13-13 อัตรา 300-450, 600-750 และ 900 - 1,050 กรัม/ต้น/ปี เมื่อายุ 1, 2 และ 3 ปี ตามลำดับ แบ่งใส่ 3 ครั้ง/ปี อายุ 4 ปีขึ้นไป ใช้สูตร 13-13-21, 14-14-21 หรือ 10-5-20 อัตรา 250, 300, 350 และ 450 เมื่อกาแฟให้ผลผลิต 150, 180, 220 และ 250 กก./ไร่ ตามลำดับ แบ่งใส่ 3 ครั้ง/ปี การใส่ โรยปุ๋ยให้สม่ำเสมอรอบทรงพุ่มรัศมี 15-50 ซม. แล้วพรวนดินกลบ

ปลูกพืชไร่ พืชผัก ปัญหาความลาดชันสูง ไม่ปลูกในที่มีความลาดชันสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการชะล้างพังทลายของดิน ปัญหาขาดแคลนน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรองในไร่นา เช่น ทำอ่างเก็บกักน้ำขนาดเล็ก

ปัญหาความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น ข้าวโพด ใช้สูตร 20-10-0 อัตรา 40-50 กก./ไร่ หลังปลูก 20-25 วัน โรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ ถั่วต่าง ๆ ใช้ 12-24-12 หรือ 10-20-10 อัตรา 20-30 หรือ 25-35 กก./ไร่ โดยรองก้นหลุมก่อนปลูก หรือโรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน แล้วพรวนดินกลบ

พืชผัก ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ร่วมกับปุ๋ยเคมี ใส่ปุ๋ยสูตร 20-10-10 หรือ 15-15-15 อัตรา 50-60 หรือ 30-40 กก./ไร่ ใส่หลังย้ายกล้า 5-7 วัน และสูตร 21-0-0 หรือ 46-0-0 อัตรา 30-40 หรือ 15-20 กก./ไร่ หลังจากใส่ครั้งแรก 20-25 วัน