กลุ่มชุดดินที่ 52

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นพวกดินเหนียวหรือดินร่วนเหนียว ที่มีก้อนปูนหรือปูนมาร์ลปะปนอยู่มากตั้งแต่ 30 ซม. จากผิวดิน ดินสีดำสีน้ำตาลหรือแดงพบบริเวณเชิงเขาหินปูน ลักษณะพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาด มีความลาดชันประมาณ 2 - 4 % เป็นดินตื้นถึงตื้นมาก ระดับน้ำใต้ดินลึกกว่า 2 เมตร มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลางถึงสูง pH 7.0-8.5 ได้แก่ชุดดินตาคลี และบึงชะนัง ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ปลูกพืชไร่ เช่น ฝ้าย ข้าวโพด ถั่ว และไม้ผลบางชนิด เช่น มะม่วง มะพร้าว และน้อยหน่า ถ้าในกรณีที่พบชั้นปูนมาร์ลในระดับความลึกกว่า 25 ซม. บ้างนำมาใช้ปลูกพืชไร่

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : เป็นดินตื้น มีชั้นดินหรือก้อนกรวด การไถพรวนยาก ดินเป็นด่างปานกลางถึงด่างแก่ ถ้าพบชั้นปูนมาร์ลในระดับความลึกกว่า 25 ซม. ชั้นปูนอยู่ตื้น จะมีปัญหาการไถพรวน

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : โดยทั่วไปกลุ่มชุดดินที่ 52 มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชไร่และพืชผักหลายชนิด ถึงแม้จะเป็นดินตื้น แต่มักจะมีหน้าดินหนากว่า 15 ซม. เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงและลักษณะทางกายภาพดีเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยเหมาะสมในการปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น และไม่เหมาะสมในการทำนา เพราะพบในบริเวณที่ดอนและสภาพพื้นที่ค่อนข้างสูง จึงเก็บกักน้ำที่ผิวดินไม่ค่อยอยู่ มีความเหมาะสมอย่างมากในการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์หรือพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 52

ปลูกพืชไร่ ปัญหาดินตื้นและดินมีความชื้นในดินต่ำในบางช่วง เลือกดินที่มีหน้าดินหนากว่า 15 ซม. ไม่มีก้อนปูนหรือเศษหินปูนปะปนอยู่มาก ไถเตรียมดินให้ลึกกว่า 15 ซม. พร้อมกับใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1-1.5 ตัน/ไร่ เพื่อช่วยทำให้ดินร่วนซุยยิ่งขึ้น หรือปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบลงดิน เมื่อปุ๋ยพืชสด อายุ 60 วัน หรือออกดอกประมาณ 50 % พันธุ์พืชปุ๋ยสดที่แนะนำได้แก่ ปอเทือง หว่านเมล็ดพืชปุ๋ยสดในกลางเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคม เลือกพันธุ์พืชรากตื้นมาปลูก ใช้วัสดุคลุมดินเช่น ฟางข้าว เศษหญ้า ตอซังข้าวโพด ข้าวฟ่างหรือวัสดุอย่างอื่น โดยเฉพาะการปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง เมื่อวัสดุที่กล่าวสลายตัวจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินอีกทางหนึ่ง พัฒนาแหล่งน้ำเสริมในการเพาะปลูก ได้แก่แหล่งน้ำในไร่นา หรือปรับปรุงแหล่งน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

ปัญหาดินเป็นด่างจัด ทำให้ธาตุอาหารพืชบางอย่างถูกตรึง ไม่ละลายมาเป็นประโยชน์ต่อพืช เลือกพันธุ์พืชที่สามารถขึ้นได้ดีในดินที่เป็นด่าง เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มะละกอ น้อยหน่า มะพร้าว ฯลฯ การไถเตรียมดินปลูกให้ลึกและทำให้ดินร่วนซุย เมื่อเวลาฝนตกจะได้ชะเอาปูนบางส่วนลงไปในส่วนลึกของหน้าตัดดิน พร้อมกับใส่ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยลดความเป็นด่างของดินลง ใส่สารเคมีแก้ความเป็นด่างของดิน เช่น ผงกำมะถัน กรดกำมะถัน จะช่วยลดความเป็นด่างของดินและเพิ่มธาตุรองได้แก่ ซัลเฟอร์ให้แก่ดิน เมื่อมีการปลูกพืชตระกูลถั่ว

ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่างและความอุดมสมบูรณ์เสื่อมลง เช่น ปลูกพืชตระกูลถั่วสลับกับพืชไร่หรือปลูกพืชตระกูลถั่วแซมระหว่างแถวพืชหลัก หรือปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบเมื่อพืชปุ๋ยสดอายุประมาณ 60 วัน หรือออกดอกประมาณ 50 % ใส่ปุ๋ยเคมี ถั่วเหลือง ถั่วเขียว หรือ ถั่วลิสง ใส่ปุ๋ยสูตร 0-45-0 อัตรา 15-20 กก./ไร่ หรือสูตร 0-40-0 อัตรา 20-25 กก./ไร่ หรือสูตร 0-20-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ เลือกใช้สูตรใดสูตรหนึ่ง ใส่รองก้นร่องปลูกหรือโรยข้างแถวปลูก แล้วพรวนดินกลบเมื่อถั่วอายุ 20-25 วัน และพ่นเหล็กซัลเฟต 0.5 % ทางใบ หลังปลูก 3-5 ครั้ง

ข้าวโพด-ข้าวฟ่าง ใส่ปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 40-60 กก./ไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 20-30 กก./ไร่ ในกรณีที่ดินมีธาตุฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืชสูง ถ้าในกรณีที่มีอยู่ต่ำให้ใช้ปุ๋ยสูตร 20-20-0 อัตรา 40-50 กก./ไร่ หรือสูตร 23-23-0 อัตรา 35-45 กก./ไร่ หรือสูตร 25-25-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ เลือกใช้สูตรใดสูตรหนึ่ง ใส่โดยโรยข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ หลังปลูก 20-25 วัน

อ้อย ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-8-8 หรือสูตร 16-16-16 อัตรา 70-90 กก./ไร่ หรือสูตร 18-6-6 หรือ 18-8-8 อัตรา 65-85 กก.ต่อไร่ เลือกใช้สูตรใดสูตรหนี่ง การใส่ให้แบ่งครึ่งใส่ สำหรับอ้อยปลูกใส่ครั้งแรกหลังปลูก 1 เดือน ครั้งที่สองใส่หลังปลูก 2-3 เดือน ส่วนอ้อยตอใส่ครั้งแรกต้นฝนและครั้งที่สองหลังจากครั้งแรก 30-45 วัน วิธีใส่โรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ

ปลูกไม้ผล ปัญหาดินตื้น และความชื้นในดินต่ำในบางช่วง ขุดหลุมปลูกให้มีขนาดไม่เล็กกว่า 75 x 75 x 75 ซม. แล้วหาหน้าดินมาใส่และผสมคลุกเคล้ากับปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 20-30 กก./หลุม ก่อนปลูก ปลูกพืชคลุมดินระหว่างแถวไม้ผล พัฒนาแหล่งน้ำเสริมในการเพาะปลูก

ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่างหรือมีไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต เช่น มะละกอ ควรใส่ปุ๋ยสูตร 14-12-12 หรือ 20-15-15 อัตรา 1 กก./ต้น ระยะต้นอ่อนถึงก่อนออกดอก หลังจาก 1 ปีขึ้นไปใส่ประมาณ 1-1.5 กก./ต้น

ขนุน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-10 อัตรา 100-200 กรัม/ต้น/ครั้ง อายุ 1-3 ปี ใส่ 6 ครั้ง/ปี อายุ 4-6 ปี ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หนึ่งครั้งต่อปี อัตรา 20-30 กก./ต้น ใส่ห่างต้น ก่อนออกดอก 3 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กก./ต้น/ปี ปลายฤดูฝนใส่ปุ๋ยสูตร 14-14-14 อัตรา 1-2 กก./ต้น/ปี

มะขามหวาน อายุ 1-2 ปี ควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก 30-50 กก./ต้น/ปี หรือใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 450 กรัม/ต้น/ปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง ๆ ละ 100, 150 และ 200 กรัม ตามลำดับ อายุ 3-5 ปี หรือติดผลแล้วควรใส่ปุ๋ยผสมที่มีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมสูง เช่นสูตร 12-12-17 , 13-13-21 หรือ 14-14-14 อัตราที่ใส่ปีละครึ่งหนึ่งของอายุต้นมะขาม โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน หว่านให้สม่ำเสมอรอบบริเวณทรงพุ่ม ห่างจากโคนต้นประมาณ 30 ซม. แล้วพรวนดินกลบ อายุเกิน 6 ปีขึ้นไป หรือมะขามติดผลเต็มที่แล้วให้ใส่ปุ๋ยดังนี้

1) ระยะพักตัว ให้ปุ๋ยทางใบสูตร 11-45-11 หรือ 10-52-17 ให้ทุก 2-3 สัปดาห์ เพื่อช่วยให้มะขามออกดอกมาก

2) ระยะแตกใบอ่อน ให้ปุ๋ยทางใบสูตร 11-45-11 หรือ 10-52-17 พ่นทุก ๆ 7 วัน

3) ระยะเริ่มออกดอก ให้ปุ๋ยทางใบสูตร 11-45-11 หรือสูตร 10-52-17 หรือ 15-30-17 ก็ได้

4) ระยะเริ่มติดฝัก พ่นด้วยสารอิมเบลเสลลิน 1 หลอด (50 มิลลิกรัม) ต่อน้ำ 100 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน

5) ระยะติดฝักเล็ก ให้ปุ๋ยทางใบสูตร 30-20-10 อัตรา 2-3 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน

6) ระยะฝักขนาดกลาง ให้ปุ๋ยทางใบสูตรเท่า เช่น 15-15-15 หรือ 20-20-20 อัตราที่ใช้ตามคำแนะนำในสลาก

7) ระยะฝักขนาดใหญ่แล้ว ให้ปุ๋ยทางใบสูตร 12-22-32 หรือ 6-30-30 อัตราที่ใช้ตามคำแนะนำในสลาก