กลุ่มชุดดินที่ 51

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : หน่วยที่ดินนี้เป็นกลุ่มชุดดิน ที่มีเนื้อดินเป็นพวกดินร่วนปนเศษหิน พบในเขตฝนตกชุก เช่น ภาคใต้ เศษหินส่วนใหญ่เป็นพวกเศษหินทรายและควอร์ต หรือหินดินดาน สีดินเป็นสีน้ำตาล สีเหลืองหรือสีแดง พบทั่ว ๆ ไปในบริเวณที่ลาดเชิงเขาหรือเนินเขาต่าง ๆ เป็นดินตื้นมาก มีการระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดแก่ มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 5.0-5.5 ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวเป็นป่าดิบชื้น บางแห่งใช้ปลูกยางพาราหรือปล่อยทิ้งเป็นป่าละเมาะ ตัวอย่างชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ชุดดินห้วยยาง ชุดดินระนอง ชุดดินยี่งอ

ปัญหาสำคัญในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : เป็นดินตื้นมีเศษหินปะปนอยู่ในเนื้อดินเป็นปริมาณมาก และดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ บริเวณที่มีความลาดชันสูงมีปัญหาเกี่ยวกับการชะล้างพังทลายของหน้าดิน

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 51 ไม่ค่อยเหมาะสมในการที่จะนำมาใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจทุกชนิด เนื่องจากเป็นกลุ่มดินตื้นที่พบชั้นกรวดเศษหินปะปนในดินตื้น และพบในสภาพพื้นที่มีความลาดชันสูง แต่ถ้ามีการพัฒนาหรือการจัดการที่เหมาะสมก็จะสามารถปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ยางพารา ไม้ผลบางชนิด พืชไร่ได้

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 51

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ปัญหาดินตื้น ขุดหลุมปลูกให้ใหญ่กว่าปกติเพื่อทำลายชั้นหินหรือเอาเศษหินออก อย่างน้อยขนาด 1 x 1 x 1 ม.แล้วผสมดินบนด้วยปุ๋ยอินทรีย์ 20-50 กก./หลุม ยึดลำต้นกับหลักไม้เพื่อไม่ให้ลำต้นโยก ปัญหาพื้นที่มีความลาดเทสูง พื้นที่ลาดเทน้อยกว่า 12 % ใช้มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำวิธีพืช เช่น ปลูกพืชตามแนวระดับ ปลูกพืชคลุมดินพวกพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น ส่วนพื้นที่ความลาดเทมากกว่า 12 % ใช้วิธีกล เช่น การทำคันดินกั้นน้ำ ทำคูรับน้ำรอบเขา ทำขั้นบันไดดิน ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำ, วางระบบการให้น้ำร่วมกับการใช้วัสดุคลุมดินพวกฟางข้าว เศษหญ้า

ปัญหาความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น ยางพารา ใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ร็อคฟอสเฟต อัตรา 170 กรัม/ ต้น คลุกเคล้ากับดินในหลุม อายุ 2-40 เดือนใช้สูตร 11-6-4 หรือ 12-8-4 อัตรา 100-300 กรัม/ต้นหว่านให้ทั่วในแถวยางทุกๆ 2 เดือน อายุ 42-72 เดือนใช้สูตร 18-4-5 อัตรา 400 กรัม/ต้น หว่านให้ทั่วในแถวยางทุก 6 เดือน อายุมากกว่า 72 เดือนใช้สูตร 15-5-20 หรือ 14-9-20 อัตรา 500 กรัม/ต้น หว่านให้ทั่วในแถวยางทุก 6 เดือน พื้นที่มีความลาดเทสูง ใส่ปุ๋ยแบบหลุมแล้วกลบ

ทุเรียน ก่อนตกผล ใช้สูตร 12-6-7 หรือ 15-5-20 อัตรา 500-600 หรือ 600-700 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง สลับกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 หรือ 46-0-0 อัตรา 400-500 หรือ 200-250 x อายุปี หรือสูตร 14-4-9 อัตรา 1-1.1 กก./ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 4 ครั้ง ตกผลแล้ว ใช้สูตร 14-5-20 หรือ 15-5-20 อัตรา 300-350 กรัม/ต้น x อายุปี หลังเก็บผลผลิต และสูตร 14-0-20 หรือ 15-5-20 อัตรา 600-700 หรือ 800-900 กรัม/ต้น x อายุปี เมื่อติดตาดอก ใส่โดยหว่านรอบๆทรงพุ่มแล้วพรวนดินกลบ

มะพร้าว ใส่เคมีสูตร 13-13-21, 15-15-15 หรือ 16-16-16 1 กก./ต้น x อายุ(ปี) ร่วมกับ 0-0-60 อัตรา 500 กรัม/ต้น x อายุ(ปี) แบ่งใส่ 2 ครั้ง ต้นและปลายฝนโดยโรยปุ๋ยในร่องรอบโคนต้นแล้วพรวนดินกลบ

มะม่วงหิมพานต์ ก่อนตกผล ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือ 15-30-15 อัตรา 300-350 หรือ 250-300 กรัม/ต้น x อายุ(ปี) แบ่งใส่ 4 ครั้ง / ปี ตกผลแล้ว ใช้สูตร 16-8-8 ร่วมกับ 15-15-15 16-16-16 อัตรา 200-300 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง หลังเก็บผลผลิตแล้ว ใส่โดยหว่านรอบทรงพุ่มแล้วพรวนดินกลบ สำหรับเงาะและมังคุด ปฏิบัติเหมือนกลุ่มชุดดินที่ 50

ปลูกพืชไร่ พืชผัก ปัญหาพื้นที่มีความลาดเท ไม่ควรปลูกในพื้นที่มีความลาดเทสูง และถ้าจะปลูกจะต้องมีการจัดมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทั้งวิธีกลและวิธีพืช

ปัญหาความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ข้าวไร่ ปลูกพืชที่เป็นปุ๋ยพืชสด เช่น ปอเทือง แล้วไถกลบเมื่ออายุ 45 วัน ใช้ปุ๋ยเคมี 15-15-15 อัตรา 25-50 กก./ไร่ เมื่อข้าวอายุ 20-30 วัน

ข้าวโพด ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-0 อัตรา 40-50 กก./ไร่ หลังปลูก 20-25 วัน โรยข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ

ถั่ว ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือ 10-20-10 หรือ 10-30-20 อัตรา 20-30 หรือ 25-35 หรือ 20-30 กก./ไร่ หลังจากใส่ครั้งแรก 20-25 วัน

ปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ การปลูกไร่ พืชผัก จำเป็นต้องมีการพัฒนาแหล่งน้ำลำธารเอาไว้ใช้โดยอาจขุดเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กหรือบ่อน้ำประจำไร่นา