กลุ่มชุดดินที่ 50

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : หน่วยที่ดินนี้เป็นกลุ่มชุดดินที่มีเนื้อดินช่วง 50 ซม. ตอนบนเป็นดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนเหนียวปนทราย ในระดับความลึกประมาณ 50-100 ซม. จะพบชั้นดินปนเศษหินหรือลูกรัง สีดินเป็นสีน้ำตาล สีเหลืองหรือสีแดง พบบริเวณเขตฝนตกชุก เช่น ภาคใต้ มีสภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดจนถึงเนินเขา เป็นดินลึกปานกลาง มีการระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดแก่ มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ประมาณ 5.0-5.5 ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ปลูกยางพารา ไม้ผล สับปะรด กล้วยและแตงโม ตัวอย่างชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ชุดดินสวี ชุดดินพะโต๊ะ

ปัญหาสำคัญในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และเนื้อดินค่อนข้างเป็นทราย ถ้าพบบริเวณที่มีความลาดชันสูง จะมีปัญหาเรื่องการชะล้างพังทลายของหน้าดิน

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินนี้มีศักยภาพในการปลูกพืชเศรษฐกิจทุกชนิด เช่น ไม้ยืนต้นทุกชนิด ยางพารา พืชไร่ ตลอดจนพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ แต่อาจมีข้อจำกัดเล็กน้อย เนื่องจากมีก้อนกรวดปะปนในตอนล่างของดิน ไม่ค่อยเหมาะสมในการปลูกพืชผัก เนื่องจากมีโอกาสขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกได้ และไม่เหมาะสมในการใช้ทำนา เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านสภาพพื้นที่ที่อยู่สูงเกินไปที่จะเก็บกักน้ำ

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 50

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ปัญหาเป็นดินลึกปานกลาง หลุมปลูกควรมีขนาดอย่างน้อย 50 x 50 x 50 ซม. สำหรับไม้ผล ยางพารา มะพร้าว 60 x 60 x 60 ซม. สำหรับกาแฟ โกโก้ ปาล์มน้ำมัน ปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ พวกปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อัตรา 20 กก./หลุม และปุ๋ยร็อคฟอสเฟต อัตรา 170 250 และ 500 กรัม/หลุม สำหรับยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผลตามลำดับ เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของรากให้แข็งแรง ยึดลำต้นกับหลักไม้เพื่อไม่ให้ต้นโยก ปัญหาพื้นที่มีความลาดชัน ควรมีมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทั้งวิธีกลและวิธีพืช โดยวิธีพืชใช้เมื่อพื้นที่มีความลาดเทน้อยกว่า 12 % เช่นการปลูกพืชขวางความลาดเท การปลูกพืชคลุมดิน วิธีกลใช้เมื่อพื้นที่มีความลาดเทมากกว่า 12 % เช่น การทำคันดินกั้นน้ำหรือคูรับน้ำรอบเขา การทำขั้นบันไดดิน ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำ ควรจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ อาจเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในไร่นา และมีการคลมุดินด้วยเศษซากพืช เพื่อลดการคายน้ำ

ปัญหาความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น มังคุด ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี อัตรา 20-50 กก./ต้น/ปี หลุมปลูกใช้ปุ๋ยร็อคฟอสเฟต 500 กรัม/ต้น คลุกเคล้ากับดินบนและอินทรียวัตถุ 20 กก./หลุม ก่อนตกผล ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-6-17 หรือ 15-5-20 อัตรา 200-300 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ต้นและปลายฝน ใช้ร่วมกับปุ๋ยเดี่ยว สูตร 21-0-0 อัตรา 200-300 กรัม/ต้น x อายุปี หรือสูตร 16-3-9 อัตรา 400-500 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 4 ครั้ง เดือน มีนาคม พฤษภาคม สิงหาคม และตุลาคม ตกผลแล้วใช้สูตร 15-3-12 หรือ 16-3-9 อัตรา 250-300 กรัม/ต้น x อายุปี และใช้ปุ๋ยสูตร 14-0-20 หรือ 15-3-12 อัตรา 200-250 หรือ 450-500 กรัม/ต้น x อายุปี ใส่ 2 ครั้ง หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว วิธีใส่ให้หว่านรอบ ๆ ทรงพุ่มรัศมี 300 ซม. แล้วพรวนดินกลบ

เงาะ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี อัตรา 20-50 กก./ต้น/ปี หลุมปลูกใช้ปุ๋ยร็อคฟอสเฟต 500 กรัม/ต้น คลุกเคล้ากับดินบนและอินทรียวัตถุ ก่อนตกผล ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-6-17 หรือสูตร 15-5-20 อัตรา 700-800 หรือ 600-700 กรัม/ต้น x อายุปี ใช้ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 หรือ 46-0-0 อัตรา 500-600 หรือ 250-300 กรัม/ต้น x อายุปี หรือสูตร 16-3-9 อัตรา 1-1.2 กก./ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 4 ครั้ง เดือน มีนาคม พฤษภาคม สิงหาคม และตุลาคม ตกผลแล้ว ใช้สูตร 18-6-6 หรือ 25-7-7 อัตรา 500-600 หรือ 400-500 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง หลังเก็บผลผลิตแล้ว ร่วมกับ 14-0-20 หรือ 16-3-9 อัตรา 500-600 หรือ 1.2-1.4 กก./ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง การใส่ให้หว่านรอบ ๆ ทรงพุ่มรัศมี 30 ซม. แล้วพรวนดินกลบ

ยางพารา ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี โดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก อัตรา 20 กก./หลุม ผสมกับปุ๋ยร็อคฟอสเฟต อัตรา 170 กรัม/ต้น เตรียมหลุมปลูก อายุ 0-42 เดือนใช้ปุ๋ยสูตร 18-10-6 หรือ 8-14-3 อัตรา 60-190 และ 130-400 กรัม/ครั้ง ตามลำดับ อายุ 42-76 เดือนใช้ปุ๋ยสูตร 18-4-5 หรือ 3-9-4 อัตรา 400 และ 530 กรัม/ต้น/ครั้ง อายุมากกว่า 76 เดือนให้ปุ๋ย 2 ครั้ง ต้นและปลายฝน สูตร 15-0-8 อัตรา 500 กรัม/ต้น/ครั้ง สำหรับสวนยางที่ปลูกพืชตระกูลถั่วและมีการใช้ปุ๋ยร็อคฟอสเฟต และสูตร 12-5-14 ครั้ง อัตรา 600 กรัม/ต้น/ครั้ง ในสวนยางทั่ว ๆ ไป วิธีการใส่ปุ๋ย บริเวณพื้นที่ราบให้ใส่แบบหว่าน บริเวณพื้นที่มีความลาดเทมีการทำขั้นบันได ใส่เป็นแถบพื้นที่ที่มีความลาดเทสูงใส่เป็นหลุม

ปลูกพืชไร่ ปัญหาความลาดชันสูง ไม่ปลูกในที่มีความลาดชันสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการชะล้างพังทลายของดิน

ปัญหาความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น ข้าวโพด ใช้สูตร 20-10-0 อัตรา 40-50 กก./ไร่ หลังปลูก 20-25 วัน โรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ ถั่วต่าง ๆ ใช้ 12-24-12 หรือ 10-20-10 อัตรา 20-30 หรือ 25-35 กก./ไร่ โดยรองก้นหลุมก่อนปลูก หรือโรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน แล้วพรวนดินกลบ