กลุ่มชุดดินที่ 5

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นพวกดินเหนียว ดินบนมีสีเทาแก่ น้ำตาลปนเทา ดินล่างมีสีเทาอ่อนหรือสีเทา มีจุดประสีน้ำตาลแก่และน้ำตาลปนเหลือง ตลอดชั้นดินมักพบก้อนสารเคมี เหล็กและแมงกานีสปะปนอยู่ในพื้นที่ปลูกของไม้ผลแต่ละชนิดชั้นดินลึกดินกลุ่มดินนี้ เกิดจากพวกตะกอนลำน้ำ และเป็นดินลึก มีการระบายน้ำเลว พบในพื้นที่ ราบเรียบตามลานตะพักลำน้ำค่อนข้างใหม่ และลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ น้ำแช่ขังลึกน้อยกว่า 30 ซม. นาน 3-5 เดือน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติค่อนข้างต่ำถึงปานกลาง pH 5.5-6.5 แต่ถ้าดินมีก้อนปูนปะปนในดินชั้นล่าง ดินชั้นนี้จะมีปฏิกิริยาเป็นด่างอ่อน pH 7.5-8.0 ได้แก่ ชุดดินหางดง และ พาน ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่ใช้ทำนา ในบริเวณที่มีแหล่งน้ำใช้ปลูกพืชไร่ พืชผัก และยาสูบในช่วงฤดูแล้ง ข้าวที่ปลูกโดยมากให้ผลผลิตค่อนข้างสูง

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ในฤดูฝนน้ำแช่ขังนาน 3 - 5 เดือน ดินมีการระบายน้ำเลว

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : เมื่อพิจารณาถึงสภาพพื้นที่ ลักษณะเนื้อดินและการระบายน้ำของดิน กลุ่มชุดดินที่ 5 มีความเหมาะสมที่จะใช้ทำนามากกว่าปลูกพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งเกษตรกรก็ได้ใช้ประโยชน์ในการทำนาอยู่แล้วในช่วงฤดูฝน อย่างไรก็ตามกลุ่มชุดดินที่ 5 ยังสามารถปลูกพืชไร่และพืชผักต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีในช่วงฤดูแล้งหรือหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว และปฏิบัติกันมากในภาคเหนือของประเทศไทย

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 5

ปลูกข้าวหรือทำนา เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 1 การใช้ปุ๋ยเคมี สำหรับข้าว พันธุ์ข้าวไวแสง และพันธุ์ข้าวไม่ไวแสง ใช้สูตรปุ๋ยและอัตราเช่นเดียวกับในกลุ่มชุดดิน 1

ปลูกพืชไร่ กรณีปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าวหลังปลูกในฤดูแล้งและกรณีเปลี่ยนสภาพพื้นที่จากนาข้าวเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่แบบถาวร ปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 1

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น พืชตระกูลถั่ว ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-46-0 อัตรา 15-20 กก./ไร่ หรือสูตร 0-20-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ หรือสูตรอื่นที่มีธาตุอาหารพืชเท่าเทียมกัน ใส่รองก้นร่องปลูกหรือโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบเมื่อถั่วอายุได้ 20-25 วัน

ข้าวโพดและข้าวฟ่าง ใส่ปุ๋ยสูตร 20-20-0 อัตรา 40-50 กก./ไร่ หรือสูตร 23-23-0 อัตรา 35-45 กก./ไร่ หรือสูตร 25-25-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ โรยข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบเมื่อข้าวโพด-ข้าวฟ่างอายุ 20-25 วัน หรือใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ โดยใส่รองก้นหลุม ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 20-30 กก./ไร่ หรือ 46-0-0 อัตรา 10-15 กก./ ไร่ ใส่สองข้างแถวแล้วพรวนดินกลบเมื่อข้าวโพดหรือข้าวฟ่างอายุ 20-25 วัน

ฝ้าย การใช้ปุ๋ยสูตรและอัตราปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 3

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ทำคันดินล้อมรอบพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วมการเตรียมหลุมปลูกปฏิบัติเช่นเดีวกับกลุ่มชุดดินที่ 4

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น มะม่วง พันธุ์ที่แนะนำได้แก่ เขียวเสวย ทองดำ ฟ้าลั่น น้ำดอกไม้ หนังกลางวัน การใส่ปุ๋ยเคมีให้ใช้อัตราครึ่งหนึ่งของจำนวนอายุ เช่น มะม่วง อายุ 10 ปี ก็ใส่ปุ๋ยจำนวน 5 กก./ต้น โดย 1:3 ส่วน ใช้ปุ๋ย 13-13-21 ใส่ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 1:3 ส่วน ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่ในช่วงเดือนพฤษภาคม และใส่ปุ๋ยที่เหลืออีก 1:3 ส่วนในรูปของปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ
8-24-24 ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม

มะละกอ พันธุ์ที่แนะนำได้แก่ โกโก้ แขกดำ จำปาดะ สายน้ำผึ้ง ฮาวาย มาเลเซีย ปุ๋ยเคมีควรใช้สูตร 14-12-12 หรือ 20-15-15 ควรใส่ครั้งแรกหลังจากย้ายปลูก 2-3 อาทิตย์ ถึงมะละกออายุได้ 1 ปี ใส่ปุ๋ย 1 กก./ต้น/ปี หลังจากอายุได้ 1 ปีขึ้นไปใส่ประมาณ 1-1.5 กก./ต้น/ปี

ฝรั่ง พันธุ์ที่แนะนำ ได้แก่ พันธุ์เวียดนาม ทูลเกล้า กลมสาลี่ ใส่ปุ๋ย สูตร
15-15-15 หรือ13-13-21 อัตราประมาณ 1 กก./ต้น/ปี ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 10 กก./ต้น

กล้วยหอม พันธุ์ที่แนะนำ ได้แก่ กล้วยหอมทอง ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เมื่ออายุได้ 1 สัปดาห์ 1 เดือน และ 2 เดือน ตามลำดับ ครั้งละ ประมาณ 5 กก./ต้น

ลำใย พันธุ์ที่แนะนำ ได้แก่ อีดอ ชมพู แห้ว เบี้ยวเขียว เมื่อต้นลำใยเริ่มให้ผล
ควรงดการให้น้ำ ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ควรทำความสะอาดบริเวณโคนต้น ถากหญ้าและเก็บกวาดใบ ที่ร่วงออกเพื่อให้หน้าดินแห้ง เดือนกุมภาพันธ์ ลำใยแทงช่อดอก เริ่มให้น้ำโดยค่อย ๆ เพิ่มปริมาณจนถึงปกติ เดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ใส่ปุ๋ยบำรุงผล สูตร 12-12-17-2 หรือปุ๋ยสูตรเสมอในอัตราครึ่งหนึ่งของอายุต้นและควรมีการค้ำยันกิ่งและฉีดสารเคมีป้องกันโรคและแมลงด้วย ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมควรมีการลดการให้น้ำลงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ควรมีการตัดแต่งกิ่ง ฉีดยาป้องกันโรคแมลงและใส่ปุ๋ยบำรุงต้นสูตร 15-15-15 อัตราครึ่งหนึ่งของอายุต้น ร่วมกับการใส่ปุ๋ยคอกในอัตราเท่ากับอายุของต้น