กลุ่มชุดดินที่ 49

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินบนเป็นดินร่วนปนทราย ดินล่างเป็นดินเหนียวปนลูกรังหรือเศษ หินทราย ดินมีสีน้ำตาลหรือเหลือง ใต้ลงไปเป็นดินเหนียวสีเทา มีจุดประสีน้ำตาล สีแดง และศิลาแลงอ่อนปะปนอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก อาจพบชั้นหินทรายหรือหินดินดานที่ผุพังสลายตัวในชั้นถัดไป พบบริเวณพื้นที่ดอน มีลักษณะเป็นลูกคลื่น มีความลาดชัน 3 - 20 % เป็นดินตื้นถึงตื้นมาก มีการระบายน้ำดีระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกกว่า 2 เมตร มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ PH 5.0 - 6.5 ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง บางแห่งใช้ปลูกพืชไร่และไม้โตเร็ว ทุ่งหญ้าธรรมชาติ ได้แก่ ชุดดินโพนพิสัย และสกล, บรบือ ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ปลูกพืชไร่ ทุ่งหญ้าธรรมชาติ ที่รกร้างว่างเปล่า ป่าเต็งรัง หรือใช้ปลูกไม้โตเร็ว

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินตื้นปนลูกรังแน่นทึบ มีชั้นศิลาแลงและหินพื้นน้ำซึมผ่านชั้นดินได้ปานกลางถึงช้า การอุ้มน้ำของดินต่ำถึงปานกลาง ดินมีการกัดกร่อนมากที่ความลาดชันสูง ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 49 มีศักยภาพค่อนข้างไม่เหมาะสมถึงไม่เหมาะสมในการปลูกพืชโดยทั่วไป เนื่องจากเป็นดินตื้นถึงตื้นมาก ถ้าจะใช้ปลูกพืชไร่ต้องมีหน้าดินบนหนาไม่ต่ำกว่า 15 ซม.และจะต้องเลือกพืชรากตื้นมากปลูก

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 49

ปลูกพืชไร่ ปัญหาดินตื้นมีลูกรังปนและดินมีความชื้นต่ำในช่วงฤดูแล้ง ปฎิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 48 ปัญหาดินเกิดการชะล้างพังทลาย ปฎิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 48

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำหรือเสื่อมลง

ข้าวไร่,มันสำปะหลัง,ข้าวโพด ปฎิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 48

ถั่วลิสง (ควรปลูกในดินชุดบรบือ) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 3-9-6 (N-P2O5-K2O) กก./ไร่ หรือสูตร 18-24-16 อัตรา 46 กก./ไร่ แบ่งใส่สองครั้ง คือใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก และใส่ครั้งที่สอง เมื่อถั่วอายุ 20 วัน โดยโรยข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ

ถั่วเหลือง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 3-9-6 (N-P2O5-K2O) กก./ไร่ หรือปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 20-20-0 อัตรา 30 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ 15 กก./ไร่ หรือสูตร 8-24-16 อัตรา 46 กก./ไร่ โดยหว่านปุ๋ยทั้งหมดในแปลงแล้วคราดกลบก่อนปลูก 1 วัน หรือ โรยข้างแถวพืชหลังจากดายหญ้าครั้งแรกแล้วพรวนดินกลบโคนต้น

ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น

ปัญหาดินตื้นมีลูกรังปนและดินมีความชื้นต่ำในบางช่วง ปฎิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 48 ปัญหาดินเกิดการชะล้างพังทลาย ปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 48

ปัญหาความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มะม่วง ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 20-50 กก./ต้น
ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือปุ๋ยสูตรอื่นที่มีธาตุอาหารพืชใกล้เคียงกัน จำนวนกิโลกรัมของปุ๋ยเคมีที่ใส่/ต้น/ปี มีอัตราเฉลี่ยเท่ากับครึ่งหนึ่งของอายุมะม่วง ถึงเท่ากับอายุมะม่วงใส่ทุกๆ ปี ๆ ละ 4 ครั้ง ในช่วงเดือนมีนาคม พฤษภาคม สิงหาคมและตุลาคม การใส่ให้ใส่โดยหว่านให้รอบรัศมีทรงพุ่ม ปุ๋ยคอกให้โรยรอบรัศมีทรงพุ่มแล้วพรวนดินกลบ

ขนุน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กก./ต้น ใส่ตอนต้นฤดูฝน และปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1-2 กก./ต้น ช่วงปลายฝน และควรใส่ปุ๋ยคอกทุกปี อัตรา 20-30 กก./ต้น โดยใส่รอบรัศมีทรงพุ่ม

มะม่วงหิมพานต์ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 50-100 กก./ต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 300-800 กรัม/ต้น เมื่ออายุ 1-2 ปีและใส่อัตรา 1 กก./ต้น เมื่ออายุ 3 ปี อายุ 4-6 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1.5-5 กก./ต้น อายุ 7 ปีขึ้นไป ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 2-3 กก./ต้น

ยูคาลิปตัส ดินตื้นเนื้อดินปนลูกรังหรือเศษหิน เตรียมหลุมปลูกขนาด 50 x 50 x 50 ซม. แล้วใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก อัตรา 10-15 กก./ต้น รองก้นหลุมด้วยเศษพืชหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือสูตรอื่นที่มีธาตุอาหารพืชใกล้เคียงกัน ดังนี้ ครั้งแรก ใส่อัตรา 50 กรัม/ต้น รองก้นหลุมก่อนปลูก ครั้งที่สอง ใส่อัตรา 50 กรัม/ต้น โรยรอบโคนต้นหลังปลูก 15 วัน ครั้งที่สาม ใส่อัตรา 50 กรัม/ต้น โรยรอบโคนต้นตอนปลายฝน เมื่ออายุ 2-4 ปี ให้ใส่ครั้งละ 50 กรัม/ต้น ในต้นและปลายฤดูฝน