กลุ่มชุดดินที่ 48

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินบนส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ส่วนดินล่างเป็นดินร่วนเหนียวปนเศษหินหรือปนกรวด ก้อนกรวดขนาดใหญ่เป็นหินกลมมน ถ้าเป็นดินปนเศษหินมักพบชั้นหินพื้นตื้น กว่า 50 ซม. ดินเป็นสีน้ำตาล สีน้ำตาลปนแดง สีแดงปนเหลือง พบบริเวณพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดถึงเนินเขา มีความลาดชันประมาณ 3 - 25 % เป็นดินตื้นมาก มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกกว่า 2 เมตร ตลอดปี pH 5.0-7.0 ได้แก่ชุดดินท่ายาง แม่ริม นาเฉลียง พะเยา น้ำขุน ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าละเมาะ และทุ่งหญ้าธรรมชาติ บางแห่งใช้ปลูกพืชไร่ หรือไม้โตเร็ว

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินตื้นมีก้อนกรวดมาก ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีการกัดกร่อนของดินได้ง่ายที่ความลาดชันสูง สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นถึงเนินเขา

ความเหมาะสมสำหรับพืช : โดยทั่วไปแล้วกลุ่มชุดดินที่ 48 มีศักยภาพไม่ค่อยเหมาะสมและไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการปลูกพืชไร่ พืชผัก และไม้ยืนต้น เนื่องจากเป็นดินตื้นถึงตื้นมากและมีก้อนหิน หรือเศษหินที่หน้าผิวดินไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการทำนา เนื่องจากสภาพพื้นที่สูงและดินเก็บกักน้ำไม่อยู่ แต่มีศักยภาพพอที่จะใช้ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์และปลูกไม้โตเร็วบางชนิด

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 48

ปลูกพืชไร่ ปัญหาดินตื้นมีลูกรังปนและดินมีความชื้นในดินต่ำ เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน ใส่อัตรา 1-3 ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบลงดินเมื่อพืชปุ๋ยสดอายุประมาณ 60 วัน ใช้วัสดุ เช่นฟางข้าว เศษหญ้า ตอ หรืออย่างอื่นคลุมดินระหว่างแถวพืชที่ปลูก การไถเตรียมดิน ควรให้ลึกไม่น้อยกว่า 20 ซม. พร้อมกับคลุกเคล้ากับปุ๋ยอินทรีย์หรือวัสดุปรับปรุงดิน พัฒนาแหล่งน้ำเสริมในการเพาะปลูก เลือกพันธุ์พืชรากตื้นมาปลูก และมีหน้าดินหนาไม่ต่ำกว่า 15 ซม. ปัญหาดินเกิดการชะล้าง-พังทลาย(โดยเฉพาะชุดดินแม่ริม และท่ายาง ที่มีความลาดเทสูง) ปลูกพืชไร่ตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ ปลูกแถบหญ้า เช่น หญ้าแฝกตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่เพื่อช่วยชลอการไหลบ่าของน้ำผิวดิน ปลูกพืชตระกูลถั่วแซมระหว่างแถวพืชหลักหรือปลูกพืชเหลื่อมฤดู บริเวณที่มีความลาดเทเกิน 5% ควรนำมาตรการทางวิธีกลมาใช้ เช่น คันดิน คันเบนน้ำ ทางระบายน้ำ บ่อดักตะกอนหรือบ่อน้ำในไร่นา

ปัญหาดินมีความอุดมสมูรณ์ต่ำหรือเสื่อมลง ข้าวไร่ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 อัตรา 20-25 กก./ไร่ ใส่หลังข้าวงอก 20-30 วันร่วมกับแอมโมเนียมซัลเฟต หรือแอมโมเนียมคลอไรด์ อัตรา 10-20 กก. /ไร่ เป็นการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ใส่ระยะประมาณ 30 วันก่อนข้าวออกดอก

มันสำปะหลัง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือสูตรอื่นที่มีธาตุอาหารพืชใกล้เคียงกันอัตรา 50-100 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่รองก้นหลุมก่อนปลูกและครั้งที่สอง โรยข้างต้นเมื่อมันสำปะหลังอายุ 2 เดือน

ข้าวโพด ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือสูตรอื่นที่มีธาตุอาหารพืชใกล้เคียงกัน อัตรา 50-75 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ แรกใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก และครั้งที่สองเมื่อข้าวโพดสูงประมาณ 40 ซม.โดยโรยข้างแถวปลูก ห่างแถวข้าวโพดประมาณ 15-20 ซม.แล้วพรวนดินกลบ

ปลูกไม้ผล-ไม้ยืนต้น ปัญหาดินตื้นมีลูกรังปนและดินมีความชื้นต่ำในบางช่วง ปฎิบัติเช่นเดียวกับการปลูกพืชไร่ การเตรียมหลุมปลูก ควรขุดหลุมปลูกขนาด 75 x 75 x 75 ซม. หรือโตกว่า แล้วหาหน้าดินหรือดินจากที่อื่นมาคลุกเคล้ากับปุ๋ยอินทรีย์ อัตราประมาณ 20-30 กก. /หลุม เสร็จแล้วใส่ลงไปในหลุมปลูกให้เต็มก่อนที่จะปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ปัญหาดินเกิดการชะล้างพังทลายปฎิบัติเช่นเดียวกับการปลูกไม้ผลในกลุ่มชุดดินที่ 47

ปัญหาความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ มะม่วงหิมพานต์ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 50-100 กก./ต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 300-800 กรัม/ต้น เมื่ออายุ 1-2 ปี และใส่อัตรา 1 กก./ต้นเมื่ออายุ 3 ปี อายุ 4-6 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1.5-5 กก./ต้น อายุ 7 ปีขึ้นไป ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 2-3 กก./ต้น

ยูคาลิปตัส ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือสูตรอื่นที่มีธาตุอาหารพืชใกล้เคียงกัน ดังนี้

ครั้งแรก ใส่อัตรา 50 กรัม/ต้น รองก้นหลุมก่อนปลูก

ครั้งที่สอง ใส่อัตรา 50 กรัม/ต้น โรยรอบโคนต้นหลังปลูก 15 วัน

ครั้งที่สาม ใส่อัตรา 50 กรัม/ต้น โรยรอบโคนต้นตอนปลายฝน เมื่ออายุ 2-4 ปี ให้ใส่ครั้งละ 50 กรัม/ต้น ในต้นและปลายฤดูฝน