กลุ่มชุดดินที่ 47

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นพวกดินเหนียวหรือดินร่วน ที่มีเศษหินปะปนมาก และพบชั้นหิน พื้นลึก 50 - 80 ซม. ดินมีสีน้ำตาล สีน้ำตาลปนแดง เกิดจากการสลายตัวผุพังของหินเนื้อละเอียด มีสภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดถึงเนินเขา มีความลาดชันประมาณ 2 - 20 % เป็นดินตื้น มี การระบายน้ำดี ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกกว่า 3 เมตรตลอดปี มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำถึง ปานกลาง pH 5.0-7.5 ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง บางแห่งทำไร่เลื่อนลอย หรือปลูกป่าทดแทน ได้แก่ ชุดดินลี้ มวกเหล็ก นครสวรรค์ ท่าลี่ สบปราบ และไพสาลี หินซ้อน โคกปรืด โป่งน้ำร้อนงาว ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง หรือป่าละเมาะ บางแห่งใช้ทำไร่เลื่อนลอย หรือปลูกป่าทดแทน

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินตื้นมากมีชั้นหินผุ และหินพื้น น้ำซึมผ่านชั้นดินได้ปานกลาง ถึงค่อนข้างเร็ว มีการอุ้มน้ำปานกลางถึงต่ำ ดินถูกกัดกร่อนได้ง่ายที่ความลาดชันสูง สภาพพื้นที่ เป็นลูกคลื่นถึงเนินเขา ระดับน้ำใต้ดินลึก

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 47 มีศักยภาพค่อนข้างไม่เหมาะสมและไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการปลูกพืชทั่วไป เนื่องจากเป็นดินตื้นถึงตื้นมาก และสภาพพื้นที่มีความลาดเทสูงเป็นส่วนใหญ่

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 47

ปลูกพืชไร่ ปัญหาดินตื้นมีลูกรังหรือเศษหินปะปนเนื้อดินมาก เลือกดินที่มีความลึกปานกลางถ้าเป็นดินตื้นควรมีเนื้อดินบนหนาไม่น้อยกว่า 15 ซม. และเลือกพืชไร่รากตื้นถึงรากหยั่งลึกปานกลางมาปลูก ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือใส่วัสดุปรับปรุงดิน เช่นกากถั่วลิสง แกลบ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อัตรา 2-3 ตัน/ไร่

ปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน นำมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมมาปฏิบัติทั้งวิธีการทางพืชและวิธีกล อาจเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งหรือผสมผสานทั้งสองวิธี ดังนี้

1) ไถเตรียมดินปลูกและปลูกพืชไร่เป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่

2) พื้นที่ที่มีความลาดเทสูงกว่า 12% เป็นดินตื้นควรมีการไถพรวนน้อยที่สุด หรือไม่มีการไถพรวนเลย

3) ใช้วัสดุคลุมดินเช่น เศษพืชหรือฟางข้าว

4) ปลูกพืชเป็นแถบหรือแถบหญ้าแฝกขวางความลาดเทของพื้นที่เพื่อช่วยชลอการไหลบ่าของน้ำผิวดิน

5) ปลูกแถบไม้พุ่มตระกูลถั่วยืนต้นตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่

6) ในบริเวณที่มีความลาดเทเกิน 12 % นำมาตรการทางวิธีกลมาใช้ เช่น คันคูรอบเขา ทางระบายน้ำ และบ่อดักตะกอน เป็นต้น

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำหรือเสื่อมลง จัดระบบการปลูกพืชให้มีพืชบำรุงดินหรือพืชตระกูลถั่วอยู่ในระบบการปลูกพืชหมุนเวียน -ปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบลงดิน -ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2-3 ตัน/ไร่

ข้าวไร่ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8อัตรา 20-25 กก./ไร่ ใส่หลังข้าวงอก 20-30 วัน ร่วมกับแอมโมเนียมซัลเฟต หรือแอมโมเนียมคลอไรด์ อัตรา 10-20 กก./ไร่เป็นการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 หรือประมาณ 30 วันก่อนข้าวออกดอก

ข้าวโพด ใส่ปุ๋ยสูตร 20-20-0 อัตรา 40-50 กก.ต่อไร่ สำหรับดินที่มีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืชต่ำ ใส่หลังปลูก 20-25 วัน โดยโรยข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ ในกรณีที่ดินมีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืชสูงให้ใช้ปุ๋ยสูตร 20-10-0 อัตรา 40-50 กก./ไร่

สับปะรด ใส่ปุ๋ยเคมีครั้งแรก สูตร 13-13-21 อัตรา 10-25 กรัม/ต้น ใส่ที่กาบใบล่างเมื่ออายุ 3 เดือน ครั้งที่สอง ใส่ปุ๋ยสูตร 12-15-15 อัตรา 10-25 กรัม/ต้น ใส่ที่กาบใบล่างสุดเมื่อสับปะรดอายุ 6 เดือน

ปลูกไม้ผล-ไม้ยืนต้น ปํญหาดินตื้นมีกรวดลูกรังหรือเศษหินปนในปริมาณมาก เลือกปลูกเฉพาะดินที่มีความลึกปานกลาง การเตรียมหลุมปลูก ควรขุดให้มีขนาดไม่น้อยกว่า 75 x 75 x 75 ซม. ถ้าโตกว่าจะเป็นการดี หาหน้าดินจากที่อื่นมาใส่และคลุกเคล้ากับปุ๋ยอินทรีย์หรือเศษใบไม้ ใบหญ้า หรือเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้ ปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน ปลูกพืชตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ ปลูกพืชคลุมดิน โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว นอกจากป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินแล้วยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบรูณ์ให้แก่ดิน และรักษาความชื้นในดินอีกด้วย หรือการปลูกพืชแซมระหว่างแถวไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ขณะที่ยังแผ่กิ่งก้านคลุมดินยังไม่ทั่วถึง หรืออาจปลูกแถบหญ้าแฝกตามแนวระดับขวางความความลาดเทของพื้นที่เป็นช่วง ๆ เพื่อช่วยชลอการไหลบ่าของน้ำผิวดิน

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำหรือเสื่อมลง การปลูกพืชตระกูลถั่วแซมระหว่างแถวไม้ผลหรือไม้ยืนต้น เพื่อช่วยเพิ่มธาตุอาหารพืชบางอย่างและอินทรียวัตถุให้แก่ดิน

มะม่วง ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 20-50 กก./ต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือปุ๋ยสูตรอื่นที่มีธาตุอาหารพืชใกล้เคียงกัน จำนวนกิโลกรัมของปุ๋ยเคมีที่ใส่/ต้น/ปี เท่ากับครึ่งหนึ่งของอายุมะม่วง ใส่ทุก ๆ ปี ๆ ละ 2 ครั้ง ในตอนต้น และปลายฤดูฝนให้ใส่เป็นจุดรอบรัศมีทรงพุ่มส่วนปุ๋ยคอกให้โรยรอบรัศมีทรงพุ่มแล้วพรวนดินกลบ

ขนุน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กก./ต้น ใส่ตอนต้นฤดูฝน และปู๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1-2 กก./ต้น ช่วงปลายฝนและควรใส่ปุ๋ยคอกทุกปี อัตรา 20-30 กก./ต้น โดยใส่รอบรัศมีทรงพุ่ม