กลุ่มชุดดินที่46

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : ส่วนใหญ่เนื้อดินเป็นพวกดินเหนียวปนกรวดหรือปนลูกรัง ดินสีน้ำตาลหรือสีเหลืองหรือแดง พบบริเวณที่ดินมีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาดถึงลูกคลื่นลอนชัน มีความลาดชันประมาณ 5-20 % เป็นดินตื้นมาก มีการระบายน้ำดี ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกกว่า 5 เมตรตลอดปี มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ pH 4.5-7.0 ได้แก่ชุดดินเชียงคาน ภูสะนา กบินทร์บุรี สุรินทร์ โป่งตอง ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ปลูกพืชไร่บางชนิด เช่น มันสำปะหลัง อ้อย และปอ บางแห่งเป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติ และป่าละเมาะ หรือมีการปลูกป่าทดแทน

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินมีลูกรังตลอด และชั้นหินพื้นอยู่ตื้นมาก การซาบซึมของน้ำปานกลางถึงค่อนข้างเร็ว ดินมีการอุ้มน้ำปานกลางถึงต่ำ มีการกัดกร่อนของดินที่ความลาดชันสูงความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : โดยทั่วไปแล้วกลุ่มชุดดินที่ 46 มีศักยภาพไม่ค่อยเหมาะสมและไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการปลูกพืชไร่ พืชผัก และไม้ผล เนื่องจากเป็นดินตื้นถึงตื้นมาก เนื้อดินมีกรวดลูกรังปนไม่ต่ำกว่า 35 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการทำนา เนื่องจากสภาพพื้นที่สูงและดินเก็บกักน้ำไม่ค่อยอยู่ อย่างไรก็ตามมีศักยภาพพอที่จะใช้ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์หรือพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้ ถ้าในกรณีที่จะใช้ปลูกพืชไร่ ควรเลือกพืชไร่ที่มีรากตื้นและหน้าดินควรจะหนาไม่ต่ำกว่า 15 ซม.

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 46

ปลูกพืชไร่ ปัญหาดินตื้นมีลูกรังปนและดินมีความชื้นในดินต่ำ เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ใส่อัตรา 1-3ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบลงดิน เมื่อพืชปุ๋ยสดอายุประมาณ 60 วัน หรือเมื่อออกดอก ประมาณ 50 % พันธุ์พืชปุ๋ยสดที่แนะนำได้แก่ปอเทือง หว่านเมล็ดปุ๋ยพืชสดในกลางเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม ใช้วัสดุ เช่นฟางข้าว เศษหญ้า ตอซังข้าวโพด ข้าวฟ่าง หรืออย่างอื่น คลุมดินระหว่างแถวพืชที่ปลูก จะช่วยรักษาความชื้นในดิน เมื่อสลายตัวดีแล้วยังจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุแก่ดินอีกทางหนึ่ง การไถเตรียมดิน ควรให้ลึกไม่น้อยกว่า 20 ซม. พร้อมกับคลุกเคล้ากับปุ๋ยอินทรีย์หรือวัสดุปรับปรุงดินเพื่อทำให้ดินร่วนซุย พัฒนาแหล่งน้ำเสริมในการเพาะปลูก โดยพัฒนาแหล่งน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เลือกพันธุ์พืชรากตื้นมาปลูก และมีหน้าดินหนาไม่ต่ำกว่า 15 ซม.

ปัญหาดินเกิดการชะล้างพังทลาย ปลูกพืชไร่ตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ ปลูกแถบหญ้าแฝกตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ เพื่อช่วยชลอการไหลบ่าของน้ำผิวดิน ปลูกพืชตระกูลถั่วแซมระหว่างแถวพืชหลักหรือปลูกพืชเหลื่อมฤดูบริเวณที่มีความลาดเทเกิน 5% ควรนำมาตรการทางวิธีกลมาใช้เช่นคันดิน คันเบนน้ำ ทางระบายน้ำ บ่อดักตะกอนหรือบ่อน้ำในไร่นา

ปัญหาดินเป็นกรด ในบางพื้นที่มีดินเป็นกรดจัด มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง 4.5 หรือต่ำกว่า ควรใส่ปูนขาวตามความต้องการของดิน หว่านให้ทั่วแปลงพร้อมกับปุ๋ยอินทรีย์ตอนเตรียมดินปลูกแล้วไถกลบทิ้งไว้ประมาณ 30 วัน ก่อนปลูกพืช

ปัญหาดินมีความอุดมสมบรูณ์ต่ำหรือเสื่อมลง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี

ข้าวไร่ ใส่ปุ๋ยเคมีแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรก ใส่ปุ๋ยสูตร (4+6)-6-4 กก./ไร่ (N-P2-O5-K20) สำหรับพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง ส่วนข้าวไวต่อช่วงแสง ใช้ปุ๋ย (3+3)-4-2 กก./ไร่ (N-P2O5-K2O) ใส่หลังข้าวงอก 20-30 วัน ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตหรือแอมโมเนียมคลอไรด์ อัตรา15-30 กก./ไร่ หรือปุ๋ยยูเรีย อัตรา 7-15 กก./ไร่ ใส่ระยะกำเนิดช่อดอกหรือประมาณ 30 วันก่อนข้าวออกดอก

มันสำปะหลัง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือสูตรอื่นที่มีธาตุอาหารพืชใกล้เคียงกันอัตรา 50-100 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่รองก้นหลุมก่อนปลูกและครั้งที่สอง โรยข้างต้นเมื่อมันสำปะหลังอายุ 2 เดือน

ข้าวโพด ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือสูตรอื่นที่มีธาตุอาหารพืชใกล้เคียงกัน อัตรา 50-75 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ แรกใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก และครั้งที่สองเมื่อข้าวโพดสูงประมาณ 40 ซม. โดยโรยข้างแถวปลูก ห่างแถวข้าวโพด ประมาณ 15-20 ซม. แล้วพรวนดินกลบ

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ปัญหาดินตื้นมีลูกรังปนและดินมีความชื้นต่ำในบางช่วง การเตรียมหลุมปลูก ควรขุดหลุมปลูกขนาด 75 x 75 x 75 xซม. หรือโตกว่าแล้วหาหน้าดินหรือดินจากที่อื่น มาคลุกเคล้ากับปุ๋ยอินทรีย์อัตราประมาณ 20-30 กก./หลุมเสร็จแล้วใส่ลงไปในหลุมปลูกให้เต็ม ก่อนที่จะปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ใช้วัสดุคลุมโคนต้น เช่น ฟางข้าว เศษหญ้า ใบไม้ หรือปลูกพืชคลุมดินระหว่างแถวไม้ผลหรือไม้ยืนต้น เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน พัฒนาแหล่งน้ำเสริมในการปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งดินจะแห้ง ทำให้พืชที่ปลูกขาดน้ำ

ปัญหาดินเป็นกรด ในบางพื้นที่ดินจะเป็นกรดจัด ใส่ปูนขาว อัตรา 3-5 กก./ต้น

ปัญหาดินเกิดการชะล้างพังทลาย ปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ ปลูกพืชคลุมผิวหน้าดิน เช่นพืชตระกูลถั่วหรือหญ้า ปลูกหญ้าแฝกขวางความลาดเทของพื้นที่พร้อมทางระบายน้ำเพื่อช่วยชลอการไหลบ่าของน้ำผิวดิน การปลูกพืชแซมระหว่างแถวไม้ผลหรือไม้ยืนต้น โดยเฉพาะปลูกพืชตระกูลถั่วนอกจากช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดินแล้ว ยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินอีกทางหนึ่งด้วย

ปัญหาความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ มะม่วง ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 20-50 กก./ต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือปุ๋ยสูตรอื่นที่มีธาตุอาหารพืชใกล้เคียงกันจำนวนกิโลกรัมของปุ๋ยเคมีที่ใส่/ต้น/ปี มีอัตราเฉลี่ยเท่ากับครึ่งหนึ่งของอายุมะม่วง ถึงเท่ากับอายุมะม่วง ใส่ทุกๆ ปี ๆ ละ 4 ครั้ง ในช่วงเดือน มีนาคม พฤษภาคม สิงหาคมและตุลาคม การใส่ให้ใส่โดยหว่านให้รอบโรยรัศมีทรงพุ่ม ปุ๋ยคอกให้โรยรอบรัศมีทรงพุ่มแล้วพรวนดินกลบ