กลุ่มชุดดินที่ 45

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : หน่วยที่ดินนี้เป็นกลุ่มชุดดินที่มีเนื้อดินเป็นพวกดินเหนียวหรือดินร่วนที่มีกรวดหรือลูกรังปะปนเป็นปริมาณมาก พบในเขตชุ่มชื้น เช่น ภาคใต้ และภาคตะวันออก กรวดส่วนใหญ่เป็นพวกหินกลมมน สีดินเป็นสีน้ำตาลอ่อน สีเหลืองหรือสีแดง พบบริเวณพื้นที่ดอนที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นจนถึงเนินเขาเป็นดินตื้นมาก มีการระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงกรดแก่ มีค่าความเป็นกรด เป็นด่างประมาณ 4.5 - 5.5 ปัญหาสำคัญในการใช้ประโยชน์ที่ดินของหน่วยที่ดินนี้ได้แก่ เป็นดินตื้น มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำบริเวณที่มีความลาดชันสูง มีแนวโน้มที่จะเกิดการชะล้างพังทลายได้ง่าย ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ปลูกยางพารา มะพร้าว หรือไม้ผลบางชนิด บางแห่งเป็นที่รกร้างวางเปล่า หรือเป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติ ตัวอย่างชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ชุดดินชุมพร ชุดดินหาดใหญ่ ชุดดินคลองชาก ชุดดินเขาขาด ชุดดินท่าฉาง ชุดดินหนองคล้า ชุดดินยะลา

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 45 มีศักยภาพในการปลูกยางพารา และมะม่วงหิมพานต์และพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์มากกว่าที่จะนำมาใช้ทำนาเนื่องจากเป็นที่ดอน สภาพพื้นที่ดินลูกคลื่นลอนลาดถึงเป็นเนินเขา เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังอาจจะสามารถใช้ปลูกไม้ผลชนิดต่างๆ เช่น โก้โก้ มังคุด หรือ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว พืชไร่ชนิดต่างๆ ได้ แต่ไม่ค่อยเหมาะสมนัก เนื่องจากการมีชั้นก้อนกรวดหรือชั้นลูกรังตื้น ซึ่งอาจจะขัดขวางการเจริญเติบโตของรากพืชได้ และไม่เหมาะสมในการใช้ทำนา เนื่องจากมีสภาพพื้นที่สูงยากต่อการเก็บกักน้ำ

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 45

ปลูกไม้ยืนต้น ปัญหาเป็นดินตื้น, พื้นที่มีความลาดชัน, ดินขาดความอุดม-สมบูรณ์

ยางพารา ขยายหลุมปลูก เพื่อทำลายชั้นลูกรังหรือชั้นกรวด ควรมีขนาด 1 x 1 x 1 ม. ยึดลำต้นกับหลักไม้ เพื่อไม่ให้ลำต้นโยกพื้นที่มีความลาดชันน้อยกว่า 12% ใช้มาตราการอนุรักษ์ดินและน้ำด้านพืช เช่น ปลูกพืชตามแนวระดับขวางความลาดเท พื้นที่มีความลาดชันมากกว่า 12% ใช้วิธีกล เช่น ทำชั้นบันไดดิน คันคูรับน้ำรอบเขา ใช้ปุ๋ยร็อคฟอสเฟต อัตรา 170 กรัม/ต้น, รองก้นหลุมก่อนปลูก ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี พวกปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อัตรา 20-50 กก./ต้น/ปี

-อายุ 0-42 เดือน ใช้ปุ๋ยสูตร 18-10-6 หรือ 8-14-3 หรือ 60-190 หรือ 130-400 กรัม/ต้น/ครั้ง

-อายุ 42-76 เดือน ใช้สูตร 18-4-5 หรือ 13-9-4 อัตรา 400 หรือ 530 กรัม/ต้น/ครั้ง

-อายุมากกว่า 76 เดือน ให้ปุ๋ย 2 ครั้ง ต้นและปลายฝน ใช้สูตร 15-0-8 อัตรา 500 กรัม/ต้น/ครั้ง

สำหรับสวนยางที่ปลูกพืชตระกูลถั่ว และมีการใส่ปุ๋ยร็อคฟอสเฟต และสูตร
12-5-14 อัตรา 600 กรัม/ต้น/ครั้งในสวนยางทั่ว ๆ ไป วิธีการใส่ บริเวณที่ราบใส่แบบหว่านพื้นที่มีความลาดเทมีการทำขั้นบันได ใส่เป็นแถบ พื้นที่มีความลาดเทสูงใส่เป็นหลุม

ปลูกไม้ผล ปัญหาเป็นดินตื้น พื้นที่มีความลาดชันปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกยางพารา ปัญหา ขาดแคลนน้ำ เป็นสิ่งจำเป็นควรหาแหล่งน้ำสำรองเช่น ขุดบ่อเก็บน้ำหรือมีการใช้วัสดุพวกปุ๋ยหมัก ฟางข้าวคลุมโคนต้นในฤดูแล้งเพื่อรักษาความชื้นในดิน

ปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 500 กก./ต้น รองก้นหลุมปลูก ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี อัตรา 20-50 กก./ต้น/ปี

เงาะ ก่อนตกผลใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 500 กรัม/ต้น x อายุ(ปี) ปีละครั้ง ตกผลแล้ว ก่อนแทงช่อดอก ใช้สูตร 12-24-12 อัตรา 2 กก./ต้น ช่วงติดผลใช้สูตร 13-13-21 หรือ 12-12-7-2 MgO อัตรา 1-2 กก./ต้น และก่อนเก็บเกี่ยว 30 วัน ใช้สูตร 0-0-50 อัตรา 1 กก./ต้น และหลังตกแต่งกิ่ง ใช้สูตร 20-11-11 หรือ 15-15-15 อัตรา 2 กก./ต้น

กาแฟ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี อัตรา 10-20 กก./ต้น/ปี ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 จำนวน 3 ครั้ง/ปี โดยใส่ปีละ 100-150 กรัม/ต้น x อายุ(ปี) ครั้งในปีที่ 4 ใส่ 13-13-21 อัตรา 150-350 กก./ต้น/ครั้ง ปีละ 3 ครั้ง

สะตอ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี อัตรา 10-20 กก./หลุม ร่วมกับ ใช้ปุ๋ยร็อคฟอสเฟต รองก้นหลุม 250 กรัม ก่อนปลูก ใช้ปุ๋ยเคมี 2 ครั้ง สูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 0.5 และ1 กก./ต้น/ปี สำหรับสะตอที่ยังไม่ให้ผลผลิตและที่ให้ผลผลิตแล้วตามลำดับใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปริมาณ 15-30 กก./ต้น/ปี ก่อนให้ผลผลิตและ 45-60 กก./ต้น/ปี เมื่อให้ผลผลิตแรก

พริกไทย ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี อัตรา 10 กก./หลุม ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 17-17-17 อัตรา 50-100 กรัม/ครั้ง ใส่ 4 ครั้ง/ปี

พืชไร่ พืชสวน (พืชแซม) ปัญหาพื้นที่มีความลาดเท ความลาดชันมากกว่า 20% ไม่ควรปลูกพืชแซม ควรปลูกพืชตระกูลถั่ว และไถกลบเมื่อออกดอก เพื่อช่วยคลุมดิน ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน

แตงโม ปัญหาดินเป็นกรดใช้ปูนขาว อัตรา 200-400 กก./ไร่ ปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ พวกปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อัตรา 3-5 ต้น/ไร่ และรองก้นหลุม 5-10 กก./หลุม ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 50-100 กก./ไร่ (แบ่งใส่ 2 ครั้ง) รองก้นหลุมและเมื่ออายุ 30 วัน โดยโรยข้างต้น