กลุ่มชุดดินที่ 44

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นพวกดินทราย สีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดิน พวกตะกอนลำน้ำ หรือเกิดจากการสลายตัวผุพังของหินเนื้อหยาบ พบบริเวณพื้นที่ดินที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นจนถึงเชิงเขา มีความลาดชันประมาณ 3 - 20 % เป็นดินลึก มีการระบายน้ำดีมากเกินไป มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำมาก pH 5.5-7.0 ได้แก่ชุดดินน้ำพอง และจันทึก ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ปลูกพืชไร่ต่าง ๆ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย สับปะรด ปอ ส่วนไม้ยืนต้นได้แก่ มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ บางแห่งเป็นป่าเต็งรัง หรือทุ่งหญ้าธรรมชาติ

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : เนื้อดินเป็นทรายจัด น้ำซึมผ่านชั้นดินได้เร็วมาก มีการอุ้มน้ำของดินต่ำพืชมีโอกาสขาดน้ำได้ง่าย ระดับน้ำใต้ดินลึก มีการกัดกร่อนของดินที่ความลาดชันสูงความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ และโครงสร้างไม่ดี บริเวณที่มีความลาดชันสูงจะมีปัญหาเกี่ยวกับการชะล้างพังทลายของหน้าดิน

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 44 มีศักยภาพค่อนข้างไม่เหมาะสมในการปลูกพืชไร่ และไม้ผลและไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการทำนา แต่มีศักยภาพพอที่จะใช้ในการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์และปลูกไม้โตเร็วบางชนิด

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 44

ปลูกพืชไร่ ปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน -ใช้วัสดุคลุมดิน เช่น ฟางข้าวหรือ เศษพืชต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เม็ดฝนที่ตกลงมากระทบผิวดินโดยตรง -ไถพรวนดินและปลูกพืชไร่ขวางความลาดเทของพื้นที่ -สร้างสิ่งกีดขวางทิศทางการไหลของน้ำผิวดิน เมื่อฝนตกหนัก เช่น คันดิน ร่องระบายน้ำ คันเบนนา บ่อดักตะกอน หรือบ่อน้ำประจำไร่นา -ปลูกแถบหญ้า เช่น หญ้าแฝกสลับกับพืชที่ปลูกเป็นแถวขวางความลาดเทของพื้นที่

ปัญหาเนื้อดินค่อนข้างเป็นทรายและมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ -ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยเทศบาล อัตรา 2-3 ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชปุ๋ยสด แล้วไถกลบลงดินเมื่อปุ๋ยพืชสดอายุ 40-50 วัน หรือออกดอกได้ประมาณ 50 % พืชปุ๋ยสดที่แนะนำได้แก่ ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วดำ โสนต่างๆ

ปัญหาดินแฉะในช่วงที่มีฝนตกชุก โดยเฉพาะดินชุดน้ำพอง ทำร่องระบายน้ำเพื่อช่วยการระบายน้ำผิวดิน ไม่ให้ซึมลงไปในดินชั้นล่างมากจนทำให้เกิดการขังแฉะบริเวณรากพืชที่ปลูก

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ (อัตรา 2-3 ตัน/ไร่) สำหรับปุ๋ยเคมี

มันสำปะหลัง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-17 หรือสูตร 13-13-21 หรือ 40-60 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 40-50 กก./ไร่ วิธีใส่แบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละ เท่า ๆ กัน ครั้งแรกหลังปลูก 1-2 เดือน และครั้งที่สองเมื่อมันสำปะหลังอายุ 4-6 เดือน

ปอแก้ว ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 40-60 กก./ไร่ โดยโรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ เมื่อปอแก้วอายุ 20-25 วัน

งา ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-8 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ใส่ 2 ครั้ง แบ่งครึ่งใส่ ครั้งแรกรองก้นหลุมปลูก ครั้งที่สองโรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน หรือหว่านทั้งหมดหลังปลูก ถ้าปลูกแบบหว่าน เมื่องาอายุ 20-25 วัน

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกพืชไร่

ปัญหาเนื้อดินค่อนข้างเป็นทรายและมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ คลุกเคล้าดินในหลุมปลูกด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหลุมละ 20-50 กก.

มะม่วง ใส่ปุ๋ยเคมีทุกปี ๆ ละ 2 ครั้ง ในตอนต้นและปลายฤดูฝน ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือสูตรอื่น ๆ ที่มีธาตุอาหารเท่าเทียมกัน อัตราที่ใช้/ต้น/ปีจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของอายุต้นมะม่วง ควรใส่ร่วมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 20-50 กก./ต้น ให้ใส่ปุ๋ยเคมีเป็นจุดรอบรัศมีทรงพุ่ม ส่วนปุ๋ยคอกให้โรยรอบรัศมีทรงพุ่ม

มะม่วงหิมพานต์ ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 30-50 กก./ต้น และควรใส่ทุกปีร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 300-800 กรัม/ต้น เมื่ออายุ 1-2 ปี และใส่ 1 กก./ต้น เมื่ออายุ 3 ปี

อายุ 4-6 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1.5-2.0 กก./ต้น

อายุ 7 ปี ขึ้นไป ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 2-3 กก./ต้น