กลุ่มชุดดินที่ 42

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : หน่วยที่ดินนี้เป็นกลุ่มชุดดินที่มีเนื้อดินเป็นดินทรายจัด สีดินบนเป็นสีเทาแก่ ใต้ลงไปเป็นชั้นทรายสีขาว ดินล่างเป็นชั้นสะสมของพวกอินทรียวัตถุ มีสีน้ำตาลหรือสีแดง ชั้นล่างนี้มีการอัดตัวแน่นเป็นชั้นดาน พบบนหาดทรายเก่าหรือสันทรายชายทะเล เป็นพื้นที่ดินที่มีลักษณะค่อนข้างราบเรียบไปจนถึงลูกคลื่นเล็กน้อยเป็นดินค่อนข้างลึก มีการระบายน้ำดีปานกลาง มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำมาก ปฏิกิริยาดินเป็นกรดแก่ถึงเป็นกรดปานกลาง มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ประมาณ 5.0-6.0 ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวเป็นป่าเสม็ด ป่าชายหาด ป่าละเมาะ บางแห่งใช้ปลูกมะพร้าว มะม่วงหิมพานต์และพืชไร่บางชนิด เช่น มันสำปะหลัง อ้อย สับปะรด ตัวอย่างชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ชุดดินบ้านทอน

ปัญหาสำคัญในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : เนื้อดินเป็นทรายจัดและดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำมาก พืชมักแสดงอาการขาดธาตุอาหารให้เห็น ในช่วงฤดูแล้งชั้นดินจะแห้งและแข็งมาก รากพืชไม่สามารถไชชอนผ่านไปได้ ส่วนในช่วงฤดูฝนจะเปียกแฉะและมีน้ำแช่ขัง

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 42 มีศักยภาพค่อนข้างไม่เหมาะสมในการปลูกพืชทั่วไป มีพืชน้อยชนิดที่สามารถขึ้นได้และให้ผลผลิต เนื่องจากเป็นดินทรายจัด ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำมาก และมีชั้นดานอินทรีย์อยู่ในดินชั้นล่าง แต่สามารถจะพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงได้

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 42

การจัดการทั่วไปสำหรับดินทรายที่มีชั้นดานอินทรีย์ -การใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือสารปรับปรุงดิน เช่น เปลือกถั่วลิสง เศษพืช เศษหญ้า ฯลฯ -คลุมดินหรือปลูกพืชคลุมดิน -ทำร่องระบายน้ำ เนื่องจากดินกลุ่มนี้มีชั้นดานอินทรีย์อยู่ในดินชั้นล่าง เวลาฝนตกน้ำจะขังแช่ในดินชั้นล่าง จึงจำเป็นต้องทำร่องระบายน้ำ -การปรับปรุงหน้าดินโดยการขุดและถมหน้าดิน ให้มีความหนาพอที่จะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ได้ -เลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสม -การจัดการน้ำ ควรให้น้ำแบบหยด หรือแบบฝนเทียม

ปลูกพืชไร่ (สับปะรด) การเตรียมดินโดยปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ ยกร่องเป็นแถวคู่ให้มีระยะระหว่างแถว 50 ซม. และระยะห่างระหว่างแถวคู่ 1 เมตร หว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบนร่องอัตรา 3-4 ตัน/ไร่ ใส่ปูนขาวอัตรา 80 กก./ไร่ แล้วปลูกสับปะรดลงในแถวระยะระหว่างต้น 25 ซม.

การใส่ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 500 กก./ไร่ บริเวณโคนต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง/ปี สำหรับครั้งแรกควรใส่หลังจากปลูกประมาณ 1-3 เดือน เนื่องจากสับปะรดสามารถเก็บผลผลิตได้ 2-3 ฤดู ต่อการปลูก 1 ครั้ง ฉะนั้นการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในปีที่ 2 และ 3 ในอัตรา 3-4 ตัน/ไร่ จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมีและเพิ่มการดูดยึดความชื้นของดิน

ปลูกไม้ผล การปรับปรุงดินเพื่อปลูกไม้ผล นอกจากการปรับปรุงเนื้อดินบน ซึ่งเป็นทรายโดยการเพิ่มอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืชแล้ว ถ้าเป็นพืชที่รากลึก จำเป็นต้องทำลายชั้นดาน หากชั้นดานอยู่ตื้น

มะพร้าว เตรียมหลุมปลูกกว้าง ยาว ลึก 75 x 75 x 75 ซม. และทำลายชั้นดานให้ทะลุสู่ดินชั้นล่าง ดินบนผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยขยะ เป็นต้น ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 30 กก./ต้น ใส่รองก้นหลุมและปลูก กลบด้วยดินล่างที่แยกเอาไว้ และควรมีการคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นของดิน การใส่ปุ๋ยจะต้องใส่ปุ๋ยเคมีควบคุมกับปุ๋ยอินทรีย์ทุก ๆ ปี โดยขุดร่องรอบต้นลึกประมาณ 100 ซม. กว้าง 12 ซม. หรือขุดเป็นหลุมขนาด 30 x 30 x 30 ที่บริเวณโคนมะพร้าวห่างจากลำต้นประมาณ 1.5 เมตร ต้นละ 4-6 หลุม เปลี่ยนหลุมทุก ๆ ปี จนรอบต้น สำหรับปุ๋ยอินทรีย์อัตราที่ใช้ 30-50 กก./ต้น/ปี ส่วนปุ๋ยเคมี สูตรและอัตราที่ใส่ตามอายุมะพร้าว ดังนี้คือ

อายุ 1 ปี ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 1 กก./ต้น

อายุ 2 ปี ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 2 กก./ต้น และปุ๋ยแมกนีเซียมซัลเฟต 250 กรัม/ต้น

อายุ 3 ปี ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 3 กก./ต้น และปุ๋ยแมกนีเซียมซัลเฟต 500 กรัม/ต้น

อายุ 4 ปี ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 4 กก./ต้น และปุ๋ยแมกนีเซียมซัลเฟต 750 กรัม/ต้น

อายุ 5 ปี ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 5 กก./ต้น และปุ๋ยแมกนีเซียมซัลเฟต 1,000 กรัม/ตัน

การใส่ปุ๋ยเคมีให้แก่มะพร้าวในแต่ละปี ควรใส่ปุ๋ย 2-3 ครั้ง โดยแบ่งใส่ครั้งละเท่า ๆ กัน ในระยะต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน