กลุ่มชุดดินที่ 41

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นดินทรายหรือดินทรายปนดินร่วน ลึก 50 ซม. ดินชั้นถัดไปเป็น ดินร่วนเหนียวปนทราย ดินร่วน เป็นดินสีน้ำตาลเข้ม เกิดจากตะกอนลำน้ำหรือวัตถุน้ำ พามาจากบริเวณที่สูงทับอยู่บนชั้นดินที่สลายตัวผุพังของหินพื้น หรือเกิดจากวัตถุต้นกำเนิดต่างชนิดต่างยุค พบบริเวณพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบจนถึงลูกคลื่นลอนลาดบนลานตะพักลำน้ำระดับกลาง มีความลาดชันประมาณ 2 - 12 % เป็นดินลึก มีการระบายน้ำดีปานกลางถึงดี ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกกว่า 3 เมตร ในฤดูแล้งมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ pH 6.0-8.0 ได้แก่ชุดดินกำบง ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ปลูกพืชไร่ต่าง ๆ เช่น ปอแก้ว มันสำปะหลัง อ้อย ปอ ข้าวโพด ฝ้าย ถั่ว และยาสูบ บางแห่งเป็นป่าเต็งรัง

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : เนื้อดินเป็นทราย มีการอุ้มน้ำต่ำถึงปานกลาง มีการกัดกร่อนที่ความลาดชันสูง ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 41 มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น หรือไม้ผลบางชนิด แต่ไม่เหมาะสมในการทำนา เนื่องจากสภาพพื้นที่และเนื้อดินไม่อำนวย

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 41

ปลูกพืชไร่ มันสำปะหลัง ดินเป็นทราย ความชื้นในดินต่ำ -เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน โดยใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก อัตรา 1-3 ตัน/ไร่ หรือใช้ปุ๋ยพืชสดตระกูลถั่ว ได้แก่ ปอเทือง ถั่วพร้า หรือถั่วพุ่ม อัตราเมล็ดพันธุ์ 3-5 กก./ไร่ สำหรับถั่วพร้าใช้เมล็ดพันธุ์อัตรา 10-15 กก./ไร่ หว่านให้ทั่วแปลงในตอนต้นฤดูฝนราวกลางเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม เมื่อพืชปุ๋ยสดออกดอก 50 % หรือมีอายุ 60 วัน จึงทำการไถกลบคลุกเคล้าให้เข้ากับดินพักดินไว้ 5-10 วัน จึงทำการปลูกมันสำปะหลัง -ปัญหาดินเกิดการชะล้างพังทลาย -ปลูกมันสำปะหลังตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่หรือใช้ระบบการปลูกพืช โดยปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียนหรือแซมในระหว่างแถวของมันสำปะหลัง

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

มันสำปะหลัง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือสูตรอื่นที่มีธาตุอาหาร
พืชใกล้เคียงกัน อัตรา 50-100 ก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรก ใส่รองก้นหลุมก่อนปลูกและครั้งที่สองโรยข้างต้นเมื่อต้นมันสำปะหลัง อายุ 2 เดือน

ปอแก้ว ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 14-14-14 หรือ 16-16-16 อัตรา 25-50 กก./ไร่ โรยข้างแถวพืชหลังปลูก 2 เดือน

ข้าวโพด ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50-70 กก./ไร่ แบ่งใส่โดยใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก และใส่ครั้งที่สองเมื่อข้าวโพดสูงประมาณ 40 ซม. ใส่โดยการโรยข้างแถวปลูก ห่างแถวข้าวโพดประมาณ 15-20 ซม. แล้วพรวนดินกลบโคนต้น

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ปัญหาดินเป็นทราย ความชื้นในดินต่ำ เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน โดยใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือเศษใบไม้แห้ง อัตรา 3-5 กก./หลุม ตอนเตรียมหลุมปลูก

มะม่วงหิมพานต์ ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ - ในระยะ 6 เดือน ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 20-30 กก./ต้น และควรใส่ทุกปีร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมี การใส่ปุ๋ยเคมีควรแบ่งใส่ปีละ 2 ครั้ง ตอนต้นและปลายฤดูฝนดังนี้

- ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 300-800 กรัม/ต้น เมื่ออายุ 1-2 ปี และใส่ในอัตรา 1 กก./ต้น เมื่ออายุ 3 ปี

-ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1.5-5 กก./ต้น เมื่ออายุ4-6 ปีขึ้นไป

-ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 2-3 กก./ต้น เมื่ออายุ 7 ปีขึ้น

ไผ่ตง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 20-30 กรัม/หลุม และปุ๋ยฟอสเฟต อัตรา 300 กรัม/หลุม

ยูคาลิปตัส ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ดังนี้

ครั้งแรก อัตรา 50 กรัม/ต้น รองก้นหลุมก่อนปลูก

ครั้งที่สอง อัตรา 50 กรัม/ต้น โรยรอบโคนต้นหลังปลูก 15 วัน

ครั้งที่สาม อัตรา 50 กรัม/ต้น โรยรอบโคนต้นตอนปลายฝน และใส่คราวละ 50 กรัม/ต้น และปลายฝนเมื่ออายุ 2-4 ปี