กลุ่มชุดดินที่ 4

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นพวกดินเหนียว ดินบนมีสีน้ำตาลปนเทาหรือสีน้ำตาล ดินล่างมีสีน้ำตาลปนเทา หรือสีน้ำตาล หรือสีเทาปนสีเขียวมะกอกมีจุดประสีน้ำตาลปนเหลืองหรือสีน้ำตาลแก่ อาจพบก้อนปูน ก้อนสารเคมีสะสมพวกเหล็ก และแมงกานีสในชั้นดินล่าง การระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงเลว พบตามที่ราบเรียบหรือที่ราบลุ่มระหว่างคันดินริมลำน้ำ กับลานตะพักลำน้ำค่อนข้างใหม่ น้ำแช่ขัง ในฤดูฝนลึก 30 - 50 ซม. นาน 4-5 เดือน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลาง pH 5.5-6.5 ถ้าหากดินมีก้อนปูนปะปนอยู่ pH จะเป็น7.0-8.0 ได้แก่ ชุดดินชัยนาท ราชบุรี ท่าพล และสระบุรี, บางมูลนาค ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่ใช้ทำนา บางแห่งยกร่องเพื่อปลูกพืชผักหรือไม้ผล ซึ่งมักจะให้ผลผลิตค่อนข้างสูง

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ในฤดูฝนมีน้ำแช่ขังนาน 4 - 5 เดือน

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : สภาพพื้นที่ราบลุ่มมีสภาพพื้นที่ราบเรียบถึงเกือบราบเรียบ ดินมีสภาพการระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงเลว ในช่วงฤดูฝนมีน้ำขังที่ผิวดินเป็นระยะเวลา 4-5 เดือน เนื้อดินเป็นดินเหนียวเก็บกักน้ำได้ดี จึงเหมาะสมที่จะใช้ในการทำนามากกว่าการปลูกพืชอย่างอื่น อย่างไรก็ตามหลังการเก็บเกี่ยวข้าวหรือในช่วงฤดูแล้งกลุ่มชุดดินนี้ สามารถใช้ในการปลูกพืชไร่หรือพืชผักที่มีอายุสั้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากดินมีความชื้นพอที่จะปลูกได้และดินกลุ่มนี้พบบริเวณที่อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ แม่น้ำสายสำคัญจึงสามารถที่จะนำน้ำจากแม่น้ำดังกล่าวมาใช้เสริมในการปลูกพืชได้และได้มีการปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 4

ปลูกข้าวหรือทำนา เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 3

การใช้ปุ๋ยเคมี ใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรก ใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ สูตร 20-20-0 หรือ สูตร 18-20-0 สูตรใดสูตรหนึ่ง อัตรา 20 กก./ไร่ สำหรับข้าวพันธุ์ไวต่อช่วงแสงและอัตรา 35 กก./ไร่ สำหรับข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงใส่ก่อนปักดำ 1 วัน หรือใส่วันปักดำแล้วคราดดินกลบ ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยแต่งหน้าด้วยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 15 กก./ไร่ หรือปุ๋ยยูเรียอัตรา 6 กก./ไร่ สำหรับข้าวไวต่อช่วงแสง ถ้าเป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงให้ใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตอัตรา 13 กก./ไร่ ให้ใส่ก่อนระยะข้าวออกดอกประมาณ 30 วัน หรือหลังปักดำแล้ว 30-45 วัน โดยหว่านให้ทั่วแปลง พันธุ์ข้าวที่แนะนำ เช่น ขาวตาหยก ไข่มุก รวงยาว สีรวง ลูกเหลือง เหลืองประทิว 123 ขาวดอกมะลิ 105 กข 7 กข. 13 กข 23 สุพรรณบุรี 90

ปลูกพืชไร่ กรณีปลูกพืชไร่ในช่วงฤดูแล้งหรือหลังเก็บเกี่ยวข้าว เตรียมพื้นที่
เพาะปลูก ให้ทำร่องระบายน้ำรอบกระทงนาและทำร่องภายในกระทงนา ห่างกันประมาณ 10-15 เมตร ร่องกว้าง 40-50 ซม. ลึก 20-30 ซม. เพื่อช่วยระบายน้ำหรือให้น้ำดูแลพืชปลูก กรณีเปลี่ยนสภาพพื้นที่จากนาข้าวเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่แบบถาวร ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับ กลุ่มชุดดินที่ 1

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น พืชตระกูลถั่ว ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-46-0 อัตรา 15-20 กก./ไร่ หรือสูตร 0-20-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ใส่รองก้นร่องปลูกหรือโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ เมื่อถั่วอายุได้ 20-25 วัน

ข้าวโพดและข้าวฟ่าง ใส่ปุ๋ยสูตร 20-20-0 อัตรา 40-50 กก./ไร่ หรือสูตร
23-23-0 อัตรา 35-45 กก./ไร่ โรยทั้งแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบเมื่อข้าวโพด ข้าวฟ่าง อายุ 20-25 วัน หรือใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ โดยใส่รองก้นหลุม ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 20-30 กก./ไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 10-15 กก./ไร่ โรยสองข้างแถวแล้วพรวนดินกลบเมื่อข้าวโพดหรือข้าวฟ่าง อายุ 20-25 วัน

ฝ้าย การใช้ปุ๋ยเคมีสูตรและอัตราให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 3

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น เตรียมพื้นที่ปลูกเพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำของดินและน้ำท่วมขัง โดยทำคันดินล้อมรอบพื้นที่ ยกร่องปลูกไม้ผล เพื่อป้องกันการแช่ขังของน้ำ และเพื่อระบายน้ำออกในช่วงที่มีระดับน้ำใต้ดินตื้น เตรียมหลุมปลูกขนาด 50 x 50 x 50 ซม. คลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 25-30 กก./หลุม

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น มะม่วง เช่น พันธุ์เขียวเสวย ทองดำ ฟ้าลั่น หนังกลางวัน น้ำดอกไม้ การใช้ปุ๋ยเคมีให้ใช้อัตราครึ่งหนึ่งของจำนวนอายุ เช่น มะม่วง อายุ 10 ปี ก็ใส่ปุ๋ย จำนวน 5 กก./ต้น แบ่งการใช้ปุ๋ย 3 ครั้ง ๆ ละเท่ากันดังนี้ ครั้งที่ 1 ใช้ปุ๋ย 13-13-21 ใส่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ครั้งที่ 2 ใช้ปุ๋ย 15-15-15 ใส่ในช่วงเดือนพฤษภาคม และครั้งที่ 3 ใช้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24 ในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม

มะละกอ พันธุ์ที่แนะนำได้แก่ โก้โก แขกดำ จำปาดะ สายน้ำผึ้ง ฮาวาย มาเลเซีย ใช้สูตร 14-12-12 หรือ 20-15-15 ควรใส่หลังจากย้ายปลูก 2-3 อาทิตย์ ถึงมะละกออายุได้ 1 ปี ใส่ปุ๋ย 1 กก./ต้น/ปี หลังจากอายุได้ 1 ปีขึ้นไป ใส่ประมาณ 1-1.5 กก./ต้น/ปี

ฝรั่ง พันธุ์ที่แนะนำ ได้แก่ พันธุ์เวียดนาม พันธุ์ทูลเกล้า กลมสาลี การใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตราประมาณ 1 กก./ต้น/ปี ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 10 กก./ต้น

กล้วยหอม พันธุ์ที่แนะนำได้แก่ กล้วยหอมทอง ใส่ปุ๋ยคอกหรือใส่ปุ๋ยหมัก เมื่ออายุได้ 1 สัปดาห์ 1 เดือน และ 2 เดือน ตามลำดับครั้งละประมาณ 5 กก./ต้น ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 1 กก./ต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง เมื่ออายุ 3 เดือน และ 5 เดือน