กลุ่มชุดดินที่ 38

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นพวกดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายละเอียด มีลักษณะการทับถมเป็นชั้นของตะกอนลำน้ำในแต่ละช่วงเวลา ดินมีสีน้ำตาล อาจพบจุดประสีน้ำตาลเข้มในดินชั้นล่างเกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินพวกตะกอนลำน้ำ พบบริเวณสันดินริมน้ำที่มีสภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบ มีความลาดชันประมาณ 0 - 2 % เป็นดินลึก มีการระบายน้ำดีปานกลาง ระดับน้ำใต้ดินลึก ประมาณ 1 เมตร ในฤดูฝนมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลาง pH 5.0-7.0 ได้แก่ ชุดดินเชียงใหม่ ท่าม่วง ป่าสัก และดอนเจดีย์ ชุมพลบุรี ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้เป็นที่อยู่อาศัย ปลูกพืชผักและสวนผลไม้ บางแห่งปลูกยาสูบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : เนื้อดินบนค่อนข้างเป็นทราย ในบางปีจะมีน้ำท่วมฉับพลันจากแม่น้ำ และอาจเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำขณะฝนทิ้งช่วง

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 38 มีความเหมาะสมในการปลูกพืชไร่ พืชผัก และไม้ผลหลายชนิด แต่ไม่ค่อยเหมาะสมถึงไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการทำนา เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่อำนวย

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 38

การปลูกพืชไร่ ปัญหาน้ำท่วมบ่า ทำพนังหรือเขื่อนกั้นน้ำ พร้อมทั้งจัดระบบการระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกหรือ - ปรับระยะเวลาการปลูกพืชเพื่อหลีกเลี่ยงช่วงน้ำท่วมบ่า ปัญหาดินค่อนข้างเป็นทรายและมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยเทศบาล อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบลงดิน เมื่อปุ๋ยพืชสดอายุ 40-50 วัน หรือออกดอกประมาณ 50 %

ข้าวโพด ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 (ในกรณีดินมีโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชต่ำ) อัตรา 50-75 กก./ไร่ หรือสูตร 16-16-18 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 20-25 กก./ไร่ ใส่ตอนปลูกและหลังปลูก 20-25 วัน โดยใส่รองก้นหลุมและโรยสองข้างแถวปลูก แล้วพรวนดินกลบ

ละหุ่ง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 14-14-14 หรือ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 35-40 กก./ไร่ ใส่ตอนปลูกและหลังปลูก 20-25 วัน แบ่งครึ่งใส่ โดยครั้งแรกใส่รองก้นหลุมและครั้งที่สองโรยรอบโคนต้นแล้วพรวนดินกลบ

งา ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ใส่ตอนปลูกและหลังปลูก 20-25 วัน แบ่งครึ่งใส่ ครั้งแรกใส่รองก้นหลุม ครั้งที่สองโรยข้างแถวปลูกหรือหว่านปุ๋ยทั้งหมดหลังปลูก ถ้าปลูกแบบหว่าน

ปอแก้ว ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 25-30 กก./ไร่ โดยโรยข้างแถวหลังปลูก 1 เดือน แล้วพรวนดินกลบ

ยาสูบ ใส่ปุ๋ยสูตร 6-20-16 อัตรา 100 กก./ไร่ โดยหว่านก่อนปลูก หรือแบ่งใส่แต่ส่วนมากนิยมโรยสองข้างแถว ปลูกแล้วพรวนดินกลบ ถ้าแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ รองก้นหลุมและใส่หลังปลูก 20-25 วัน

ปลูกไม้ผล ปัญหาน้ำท่วมบ่า ทำพนังหรือเขื่อนกั้นน้ำพร้อมทั้งจัดระบบการระบายน้ำออกจากพื้นที่ปลูกในกรณีที่น้ำท่วมขังนาน แต่ปกติแล้วจะไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบ่ามากนักสำหรับไม้ผล ปัญหาดินค่อนข้างเป็นทรายและมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ เตรียมหลุมปลูก ขนาด 50 x 50 x 50 ซม. เป็นอย่างน้อย คลุกเคล้าดินในหลุมปลูกด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก 25-30 กก./หลุม ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

มะม่วง ใส่ปุ๋ยเคมีอัตราครึ่งหนึ่งของจำนวนอายุ เช่น มะม่วงอายุ 10 ปี ใส่ปุ๋ยจำนวน 5 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง คือ 1 ใน 3 ส่วนใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ใส่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ครั้งที่สองใส่อีก 1 ใน 3 ส่วน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่ในช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม และปุ๋ยที่เหลือ 1 ใน 3 ส่วนใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24 ใส่ในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม

มะละกอ ควรใส่ปุ๋ยสูตร 14-12-12 หรือ 20-15-15 อัตรา 1 กก./ต้น ระยะต้นอ่อนถึงก่อนออกดอก หลังจาก 1 ปีขึ้นไป ใส่ประมาณ 1-1.5 กก./ต้น

ฝรั่ง ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตราประมาณ 1 กก./ต้น/ปี ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 100 กก./ต้น

ส้ม ปีแรกใส่ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 10-20 กก./ต้น และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 150-200 กรัม/ต้น ใส่ 4-6 ครั้ง/ปี

-ปีที่ 2 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 2 กก./ต้น แบ่งใส่ 4 ครั้ง ๆ ละ 500 กรัม/ต้น

-สำหรับส้มที่ติดผลแล้วใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 2 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ 4 ครั้งเท่า ๆ กัน ตามระยะเวลาดังนี้ ครั้งที่ 1 ใส่หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตและตัดแต่งกิ่งแล้ว ครั้งที่ 2 ใส่ก่อนออกดอก 15 วัน ครั้งที่ 3 ใส่หลังออกดอก 2-3 เดือน ครั้งที่ 4 ใส่ก่อนเก็บผล 2-3 เดือน