กลุ่มชุดดินที่ 37

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินบนเป็นดินทรายปนดินร่วน ส่วนดินในระดับความลึก 50-100 ซม. เป็นดินเหนียว ดินเหนียวปนเศษหิน หรือเป็นชั้นหินผุ สีดินบนเป็นสีน้ำตาลดินล่างเป็นสีน้ำตาลปนเทา บางแห่งมีจุดประสีแดงและมีศิลาแลงอ่อนปะปนอยู่จำนวนมาก พบบริเวณพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย เป็นดินลึก มีการระบายน้ำดีปานกลาง มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงกรดแก่ มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ประมาณ 4.5-5.5 ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง ป่าละเมาะและไม้พุ่ม พืชไร่ที่ปลูกได้แก่ ปอ ข้าวโพด ถั่วเขียวและแตงโม แต่มักให้ผลผลิตต่ำ ตัวอย่างชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ชุดดินนาคู ชุดดินบ่อไทย ชุดดินทับเสลา

ปัญหาสำคัญในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ในช่วงฤดูฝนดินเปียกแฉะเกินไปสำหรับพืชไร่บางชนิด และหน้าดินค่อนข้างเป็นทราย

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 37 มีศักยภาพค่อนข้างไม่เหมาะสมในการปลูกพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชผัก เนื่องจากดินค่อนข้างเป็นทรายจัดและมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการทำนา เนื่องจากเนื้อดินและสภาพพื้นที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย แต่สามารถใช้ประโยชน์ในการปลูกไม้โตเร็วและพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 37

ปลูกพืชไร่ ปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน ใช้วัสดุคลุมดิน เช่น ฟางข้าวหรือเศษพืชต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เม็ดฝนที่ตกลงมากระทบผิวดินโดยตรง -ไถพรวนดินและปลูกพืชไร่ขวางความลาดเทของพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่มีความลาดเทเกิน 5 % - สร้างสิ่งกีดขวางทิศทางการไหลของน้ำผิวดิน เมื่อฝนตกหนัก เช่น คันดิน ร่องระบายน้ำ คันเบนน้ำ บ่อดักตะกอน หรือบ่อน้ำประจำไร่นา - ปลูกแถบหญ้า เช่น หญ้าแฝกสลับกับพืชที่ปลูกเป็นแถวขวางความลาดเทของพื้นที่ ปัญหาดินเป็นทรายค่อนข้างจัดและมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือ ปุ๋ยเทศบาล อัตรา 2-3 ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชปุ๋ยสด แล้วไถกลบลงดินเมื่อปุ๋ยพืชสดอายุ 40-50 วัน หรือออกดอกได้ ประมาณ 50 % พืชปุ๋ยสดที่แนะนำได้แก่ ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วดำ โสนต่าง ๆ

ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืช เช่น ข้าวโพด ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 14-14-14 หรือ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-10 อัตรา 25-30 กก./ไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 10-15 กก./ไร่ การใส่ให้แบ่งครึ่งใส่ ครั้งแรกใส่รองก้นหลุมตอนปลูก ครั้งที่สองโรยสองข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน แล้วพรวนดินกลบ

มันสำปะหลัง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-17 หรือสูตร 13-13-21 หรือสูตร 14-14-21 อัตรา 40-50 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับปุ๋ย 46-0-0 อัตรา 25-35 กก./ไร่ หรือใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 100 กก./ไร่ เลือกใช้สูตรใดสูตรหนึ่ง วิธีใส่ครั้งแรกหลังปลูก 1-2 เดือน และครั้งที่สองเมื่อมันสำปะหลัง อายุ 4-6 เดือน แบ่งใส่สองครั้ง ๆ ละ เท่า ๆ กัน

ปอแก้ว ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ใส่ตอนปลูกและหลังปลูก 20-25 วัน แบ่งครึ่งใส่ ครั้งแรกใส่รองก้นหลุม ครั้งที่สองโรยข้างแถวปลูกหรือหว่านปุ๋ยทั้งหมด หลังปลูก ถ้าปลูกแบบหว่าน

งา ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-8 อัตรา 30-40 กก./ไร่ แบ่งครึ่งใส่ ครั้งแรกรองก้นหลุมปลูก ครั้งที่สองโรยข้างแถวหลังปลูกหรือหว่านทั้งหมดหลังปลูก ถ้าปลูกแบบหว่าน เมื่องาอายุ 20-25 วัน

ปลูกไม้ผล ไผ่ตงหรือไผ่ใช้งาน ปัญหาดินเป็นทราย ความชื้นในดินต่ำ เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน โดยใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือเศษใบไม้แห้งอัตรา 3-5 กก./หลุม ตอนเตรียมหลุมปลูก

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 20-30 กรัม/หลุม และปุ๋ยฟอสเฟต อัตรา 300 กรัม/หลุม

มะม่วง ปัญหาดินเป็นทรายความชื้นในดินต่ำ เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน โดยใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือเศษใบไม้แห้ง อัตรา 3-5 กก./หลุม ตอนเตรียมหลุมปลูก ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ใส่ปุ๋ยเคมี โดยใส่ทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ในตอนต้นและปลายฤดูฝน โดยใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 20-50 กก./ต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 จำนวน กิโลกรัมของปุ๋ยที่ใส่/ต้น/ปี จะเท่ากับครึ่งหนึ่งของอายุต้นมะม่วงให้ใส่เป็นจุดรอบรัศมีทรงพุ่ม

มะม่วงหิมพานต์ ดินเป็นทรายและมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 30-50 กก./ต้น และควรใส่ทุกปี ร่วมกับใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 300-800 กรัม/ต้น เมื่ออายุ 1-2 ปี และใส่ 1 กก./ต้น เมื่ออายุ 3 ปี เมื่ออายุ 4-6 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1.5-2.0 กก./ต้น และเมื่ออายุ 7 ปี ขึ้นไปใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 2-3 กก./ต้น

ขนุน ดินเป็นทราย ความชื้นในดินต่ำ เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน โดยใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก อัตรา 20-30 กก./ต้น รองก้นหลุมด้วยเศษพืชหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ดินมีความสมบูรณ์ต่ำ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กก./ต้น ตอนต้นฤดูฝน และปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1-2 กก./ต้น ช่วงปลายฝนและควรใส่ปุ๋ยคอกทุกปี อัตรา 20-30 กก./ต้น โดยใส่รอบรัศมีทรงพุ่ม