กลุ่มชุดดินที่ 33

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นพวกดินร่วนปนทรายแป้ง ดินมีสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลปนแดง บางแห่ง ในดินล่างลึก ๆ มีจุดประสีเทาและน้ำตาล อาจมีแร่ไมก้าหรือก้อนปูนปะปน เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินพวกตะกอนลำน้ำ พบบนสันดินริมน้ำเก่าและเนินตะกอนรูปพัด มีพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงเป็นลูกคลื่นลอนลาด มีความลาดชันประมาณ 2-12 % เป็นดินลึกมาก มีการระบายน้ำดีถึงดีปานกลาง ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกกว่า 1 เมตรตลอดปี มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลาง ดินชั้นบนมี pH ประมาณ 6.5-7.5 ได้แก่ชุดดินดงยางเอน ชุดดินกำแพงแสน ชุดดินกำแพงเพชร และชุดดินลำสนธิ ธาตุพนม

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : มีความเสี่ยงต่อการขาดน้ำได้ในบางปี

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 33 มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชหลายชนิดทั้งพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล และทำนาข้าว ซึ่งได้ใช้ประโยชน์ดังกล่าวนี้อยู่ในภาคต่าง ๆ ที่พบดินกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับศักยภาพ

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 33

ปลูกข้าวหรือทำนา

ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่างหรือมีแต่ไม่เพียงพอ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อัตรา 1.5-2.0 ตัน/ไร่ใส่ระยะการไถเตรียมดินก่อนปักดำข้าว หรือ อาจจะมีการปลูกพืชตระกูลถั่วพวกปอเทือง โสนอัฟริกาฯ เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด โดยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 5 กก./ไร่หว่านก่อนถึงฤดูทำนาประมาณ 2-3 เดือน แล้วจึงไถกลบ การใส่ปุ๋ยเคมี ควรใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรก ใส่ก่อนปักดำ 1 วัน หรือ ใส่วันปักดำแล้วคราดกลบโดยใช้ปุ๋ย 16-20-0 หรือ20-20-0 อัตรา 20 กก./ไร่ สำหรับข้าวพันธุ์ไวต่อช่วงแสง และอัตรา 35 กก./ไร่ สำหรับข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสง ครั้งที่สอง ใส่ก่อนระยะข้าวออกดอก ประมาณ 30 วัน หรือ หลังจากปักดำแล้วประมาณ 30-45 วัน โดยหว่านให้ทั่วแปลงเป็นการใส่ปุ๋ยแต่งหน้าด้วยปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตอัตรา 15 กก./ไร่ หรือปุ๋ยยูเรีย อัตรา 6 กก./ไร่ สำหรับข้าวพันธุ์ไวต่อแสงหรือใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 13 กก./ไร่ สำหรับข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสง

ปลูกพืชไร่ ปัญหาการระบายน้ำของดินเลว การเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ในกรณีปลูกพืชไร่ในช่วงฤดูแล้งหรือหลังการเก็บเกี่ยวข้าวควรดำเนินการดังต่อไปนี้ ให้ทำร่องระบายน้ำรอบกระทงนาและทำร่องระบายในกระทงนาในกรณีที่กระทงนาใหญ่ ซึ่งห่างกันประมาณ 15-20 เมตรและร่องมีความกว้าง 40-50 ซม.ลึกประมาณ 20-30 ซม. ซึ่งร่องที่กล่าวนี้จะช่วยระบายน้ำผิวดินและสะดวกในการให้น้ำและเข้าไปดูแลพืชที่ปลูก

ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่างและดินค่อนข้างไม่ร่วนซุย เช่น พืชตระกูลถั่ว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เช่นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอัตรา 1-2 ตัน/ไร่ หว่านให้ทั่วแปลงแล้วไถกลบก่อนปลูก 7-14 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-20-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ หรือสูตรอื่นที่มีธาตุอาหารพืชเท่าเทียมกัน ใส่รองก้นร่องปลูกหรือโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบเมื่อถั่วอายุได้ 20-25 วัน

ข้าวโพด และข้าวฟ่าง ใส่ปุ๋ยเคมีปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 4

ปลูกไม้ผล เตรียมหลุมปลูกขนาด 50 x 50 x 50 ซม. คลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 25-30 กก./หลุม

ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่างหรือมีแต่ไม่เพียงพอ เช่น ลำใย พันธุ์ที่แนะนำ ได้แก่ อีดอ สีชมพู แห้ว เบี้ยวเขียว เมื่อต้นลำใยเริ่มให้ผลควรงดการให้น้ำ ช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม ควรทำความสะอาดบริเวณโคนต้น ถากหญ้าและเก็บกวาดใบ ที่ร่วงออกเพื่อให้หน้าดินแห้ง เดือนกุมภาพันธ์ ลำใยแทงช่อดอก เริ่มให้น้ำโดยค่อยๆ เพิ่มปริมาณจนถึงปกติ เดือนมีนาคม-มิถุนายน ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ใส่ปุ๋ยบำรุงผล สูตร 12-12-17-2 หรือปุ๋ยสูตรเสมอในอัตราครึ่งหนึ่งของอายุต้นและควรมีการค้ำยันกิ่งและฉีดสารเคมีป้องกันโรคและแมลงด้วย ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมควรมีการลดการให้น้ำลงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ควรมีการตัดแต่งกิ่งฉีดยาป้องกันโรคแมลงและใส่ปุ๋ยบำรุงต้น สูตร 15-15-15 อัตราครึ่งหนึ่งของอายุต้น ร่วมกับการใส่ปุ๋ยคอกในอัตราเท่ากับอายุของต้น

ลิ้นจี่ พันธุ์ที่แนะนำได้แก่ ฮงฮวย โอเฮียะ กิมเจ็งค่อม หอมลำเจียก กะโหลกใบยาว สาแหรกทอง แห้วสำเภาแก้ว กะโหลกในเตาฯ และแนะนำให้ปลูกเฉพาะภาคเหนือตอนบนที่มีภูมิอากาศเหมาะสม ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม เป็นระยะที่ลิ้นจี่พักตัวเพื่อสร้างตาดอก จึงควรมีการงดการให้น้ำ ทำการตัดแต่งกิ่ง ทำความสะอาดบริเวณโคนต้น ช่วงปลายเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์จะเริ่มเห็นตาดอกชัดเจน จึงเริ่มให้น้ำโดยค่อยๆ เพิ่มปริมาณจนถึงปกติ เมื่อติดผลอ่อนควรมีการใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงผล โดยใช้ปุ๋ยสูตรเสมอหรือ สูตร 12-12-12 อัตราครึ่งหนึ่งของอายุของต้นร่วมกับการใส่ปุ๋ยคอก 10-20 กก./ต้น ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ควรลดการให้น้ำลงก่อนการเก็บเกี่ยว ช่วงกรกฎาคม-ตุลาคม หลังการเก็บเกี่ยวมีการตัดแต่งกิ่งโดยเร็วและควรใส่ปุ๋ยคอกบำรุงต้นถ้าเป็นพวกมูลวัวมูลควาย ใส่ตามอายุของลิ้นจี่ เช่น อายุ 5-10 ปี ให้ใส่ 5-10 ปี๊บ ถ้าเป็นมูลไก่ควรลดเหลือ 50 % หรือถ้าเป็นมูลค้างคาวลดเหลือ10%