กลุ่มชุดดินที่ 32

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : หน่วยที่ดินเป็นกลุ่มชุดดินที่มีเนื้อดินเป็นพวกดินร่วน ดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง บางแห่งอาจมีชั้นดินทรายละเอียดสลับชั้นอยู่ พบในเขตฝนตกชุก เช่น ภาคใต้ สีดินเป็นสีน้ำตาลหรือสีเหลืองปนน้ำตาลและมักมีแร่ปะปนกับเนื้อดิน เกิดจากตะกอนดินที่น้ำพัดมาทับถมบริเวณสันดินริมน้ำ ซึ่งมีสภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงเป็นลูกคลื่นลอนลาดเป็นดินลึกมากมีการระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติค่อนข้างต่ำ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงเป็นกรดแก่ มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ประมาณ 4.5-5.5 ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ปลูกยางพารา กาแฟ และไม้ผลชนิดต่าง ๆ ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติของดิน แต่อาจมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม สร้างความเสียหายให้แก่พืชผลที่ปลูก หากน้ำในลำน้ำมีปริมาณมากจนไหลเอ่อท่วมตลิ่ง และแช่ขังอยู่เป็นเวลานาน ตัวอย่างชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ชุดดินรือเสาะ ชุดดินลำแก่น ชุดดินตาขุน

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 32 มีศักยภาพเหมาะสมที่จะใช้ทำสวนไม้ผล กาแฟ พืชผักและยางพารา เนื่องจากพบในสภาพพื้นที่ราบเรียบถึงเป็นลูกคลื่นลอนลาด ลักษณะเนื้อดินละเอียดปานกลาง มีสภาพการระบายน้ำดี อย่างไรก็ตามในฤดูแล้งสามารถปลูกพืชไร่และพืชผักได้ถ้ามีน้ำชลประทานหรือแหล่งน้ำธรรมชาติช่วยเสริม ในบางพื้นที่เกษตรกรได้ปฏิบัติอยู่แล้ว เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้ที่ดิน

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 32

ปลูกพืชไร่ ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่าง แก้ไขโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ หว่านให้ทั่วแปลงแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากับดินก่อนปลูก 7-14 วัน ถั่วเขียว พันธุ์ที่แนะนำ อู่ทอง 1, 2 พิษณุโลก 2 กำแพงแสน 1, 2 ชัยนาท 60, 36 และ มอ. 1 ใส่ปุ๋ย 12-24-12 อัตรา 20-30 กก./ไร่ หรือ 16-20-0 อัตรา 20-25 กก./ไร่ โดยเปิดร่องให้ลึก 6-8 นิ้ว โดยใส่รองก้นหลุมหรือโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ ปัญหาดินเป็นกรด มีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 ใส่ปูนขาวหรือร็อคฟอสเฟต อัตรา 100-200 กก./ไร่/ทุกๆ 2-4 ปี ข้าวโพด พันธุ์ที่แนะนำ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พันธุ์สุวรรณ 1 ข้าวโพดหวาน พันธุ์ซูเปอร์สวีท ดีเอ็มอาร์ ข้าวโพดฝักอ่อน พันธุ์ รังสิต 1 สุวรรณ 2 ใส่ปุ๋ย 20-20-0 หรือ 16-20-0 อัตรา 25-50 กก./ไร่ ใส่รองก้นหลุมพร้อมปลูกหรือโรยข้างแถว ข้าวโพดเมื่ออายุ 15-30 วัน แล้วพรวนดินกลบ

ปลูกไม้ผล ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น เงาะ พันธุ์ที่แนะนำ โรงเรียน สีชมพู ใช้ปุ๋ย 8-24-24 อัตราต่ำ 2 กก./ต้น/ครั้ง อัตราสูง 5 กก./ต้น/ครั้ง หลังจากเก็บผลผลิตและตัดแต่งกิ่งแล้วประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม ใช้ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 2-5 กก./ต้น และเดือนกันยายนใช้ปุ๋ย 8-24-24 อัตรา 2-5 กก./ต้น เมื่อเงาะเริ่มออกดอกใช้ปุ๋ยสูตร 14-14-21 อัตรา 2-5 กก./ต้น และใส่อีกครั้งหนึ่งเมื่อเงาะติดผลขนาดเล็ก

มังคุด มังคุดที่ยังไม่ให้ผล ใส่ปุ๋ย 15-15-15, 16-16-16 ในต้นมังคุดอายุ 1-2 ปี อัตรา 0.5-1.0 กก./ต้น และเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5 กก./ต้น/ปี โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ในตอนต้นและปลายฤดูฝน มังคุดที่ให้ผลแล้ว

1. ใส่ปุ๋ยหลังเก็บผลเสร็จแล้ว ใส่ปุ๋ย 15-15-15, 16-16-16 ต้นละ 2-3 กก.

2. ใส่ปุ๋ยก่อนการออกดอก ช่วงปลายฤดูฝนใช้ปุ๋ย 12-24-12, 8-24-24 หรือ 9-24-24 ประมาณ 2-3 กก./ต้น

3. ใส่ปุ๋ยเมื่อติดผลแล้ว ใช้ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 16-16-16 ปริมาณ 1-2 กก./ต้น เมื่อผลมังคุดมีอายุประมาณ 4-5 สัปดาห์ หลังดอกบานใส่ปุ๋ย 12-12-17-2 หรือ 13-13-21 อัตรา 1-2 กก./ต้น

ลองกอง ช่วงที่ 1 ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 1-2 ปี๊บ/ต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมี 15-15-15 อัตราการใส่เป็นกิโลกรัมเท่ากับครึ่งหนึ่งของอายุต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ต้นและปลายฤดูฝน หลังย้ายปลูก 1-2 เดือน จะให้ปุ๋ยไนโตรเจน 100-150 กรัม/ต้น

ช่วงที่ 2 เริ่มให้ผล ให้ปุ๋ยคอกทุก 4 เดือน ส่วนปุ๋ยเคมีจะให้ 4 ครั้ง เช่นลองกอง อายุ 8 ปี ให้ปุ๋ยดังนี้

1. หลังเก็บเกี่ยวและตัดแต่งกิ่งแล้วให้ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 2 กก./ต้น

2. เร่งการออกดอกให้ปุ๋ย 12-24-12 อัตรา 2 กก./ต้น

3. บำรุงช่อดอกให้ปุ๋ย 10-52-14 อัตรา 2 กก./ต้น

4. บำรุงผล ให้ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 2 กก./ต้น