กลุ่มชุดดินที่ 31

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นพวกดินเหนียว ดินมีสีน้ำตาล เหลือง แดง เกิดจากการ สลายตัวผุพังของหินหลายชนิด พบบริเวณพื้นที่ดินที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดถึงลอนชัน มีความลาดชัน ประมาณ 3 - 20 % เป็นดินลึก มีการระบายน้ำดีปานกลางถึงดี ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกกว่า 1 เมตร ในฤดูฝนมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลาง pH 5.5-6.5 ได้แก่ชุดดินเลย วังไฮ ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ปลูกพืชไร่ ไม้ผลต่าง ๆ มีส่วนน้อยที่ยังคงสภาพป่าธรรมชาติ

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : น้ำซึมผ่านชั้นดินปานกลางถึงช้า ดินอุ้มน้ำปานกลางถึงสูง มีการพังทลายของดินในบริเวณที่มีความลาดชันน้อยกว่า 20 % ระดับน้ำใต้ดินต่ำมาก

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 31 มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชไร่และไม้ผลหลายชนิด แต่ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการทำนา เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดถึงเป็นเนินเขา ยากในการที่จะเก็บกักน้ำไว้ปลูกข้าว

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 31

ปลูกพืชไร่ ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และปัญหาดินขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกในบางช่วง การไถเตรียมดินปลูกพืชไร่ตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ ทำแนวรั้วหญ้าแฝกขวางความลาดเทของพื้นที่ช่วยชลอการไหลบ่าของน้ำที่ผิวดินเมื่อฝนตกหนัก ขุดบ่อดักตะกอน เพื่อช่วยชลอการไหลบ่าของน้ำที่ผิวดิน และยังสามารถใช้น้ำเสริมในการเพาะปลูก นำมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำทางพืชมาใช้ การปลูกพืชเป็นแถว ขวางความลาดเทของพื้นที่ การปลูกพืชตระกูลถั่วแซมพืชหลัก เป็นต้น

ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่างและดินมีความชื้นไม่เพียงพอในบางช่วง ใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกอัตรา 1.5-2.0 ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชปุ๋ยสด แล้วไถกลบลงดินเมื่อปุ๋ยพืชสดออกดอกได้ประมาณ 50% ปลูกพืชตระกูลถั่วสลับกับพืชไร่หลักหรือปลูกพืชตระกูลถั่วแซมกับพืชหลัก จะช่วยรักษาและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินและยังช่วยเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำของดินอีกด้วย การใช้ปุ๋ย เช่น

ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือสูตร 8-22-12 อัตรา 20-30 กก./ไร่ หรือสูตร 10-20-10 อัตรา 25-35 กก./ไร่ ใส่รองก้นร่องปลูกหรือโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบเมื่อถั่วอายุ 20-25 วันหรือใส่ปุ๋ยสูตร 11-52-0 หรือ 18-46-0 อัตรา 10-15 กก./ไร่ สำหรับดินที่มีโพแทสเซียมสูง ใส่โดยโรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ

ข้าวโพด-ข้าวฟ่าง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50-75 กก./ไร่ สำหรับชุดดินที่มีโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชต่ำ ใส่โดยโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ ใส่หลังปลูก 20-25 วัน หรือใส่ปุ๋ยสูตร 20-20-0 อัตรา 40-50 กก./ไร่ หรือสูตร 23-23-0 อัตรา 35-45 กก./ไร่ หรือสูตร 25-25-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ เลือกใช้สูตรใดสูตรหนึ่ง สำหรับชุดดินที่มีโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชสูง ใส่โดยโรยข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ ใส่หลังปลูก 20-25 วัน

ปลูกไม้ผล ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกพืชไร่ ดินมีธาตุอาหารพืชบางอย่างไม่เพียงพอแก่การเจริญเติบโต เช่น

มะขามหวาน อายุ 1-2 ปี ควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก 30-50 กก./ต้น/ปี หรือใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 450 กรัม/ต้น/ปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง ๆ ละ 100,150 และ 200 กรัมตามลำดับ อายุ 3-5 ปี หรือติดผลแล้วควรใส่ปุ๋ยผสมที่มีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมสูง เช่นสูตร 12-12-17, 13-13-21 หรือ 14-14-14 อัตราที่ใส่ปีละครึ่งหนึ่งของอายุต้นมะขาม โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน หว่านให้สม่ำเสมอรอบบริเวณทรงพุ่ม ห่างจากโคนต้นประมาณ 30 ซม. แล้วพรวนดินกลบ อายุเกิน 6 ปีขึ้นไป หรือมะขามติดผลเต็มที่แล้วให้ใส่ปุ๋ยดังนี้

1) ระยะพักตัว ให้ปุ๋ยทางใบสูตร 11-45-11 หรือ 10-52-17 ให้ทุก 2-3 สัปดาห์ เพื่อช่วยให้มะขามออกดอกมาก

2) ระยะแตกใบอ่อน ให้ปุ๋ยทางใบสูตร 11-45-11 หรือ 10-52-17 พ่นทุก ๆ 7 วัน

3) ระยะเริ่มออกดอก ให้ปุ๋ยทางใบสูตร 11-45-11 หรือสูตร 10-52-17 หรือ 15-30-17 ก็ได้

4) ระยะเริ่มติดฝัก พ่นด้วยสารอิมเบลเสลลิน 1 หลอด (50 มิลลิกรัม) ต่อน้ำ 100 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน

5) ระยะติดฝักเล็ก ให้ปุ๋ยทางใบสูตร 30-20-10 อัตรา 2-3 ช้อนแกง/น้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน

6) ระยะฝักขนาดกลาง ให้ปุ๋ยทางใบสูตรเท่าเช่น 15-15-15 หรือ 20-20-20 อัตราที่ใช้ตามคำแนะนำในสลาก

7) ระยะฝักขนาดใหญ่แล้ว ให้ปุ๋ยทางใบสูตร 12-22-32 หรือ 6-30-30 อัตราที่ใช้ตามคำแนะนำในสลาก

ลำใย เตรียมหลุมปลูก ใส่ปุ๋ยเคมีปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 30