กลุ่มชุดดินที่ 3

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นพวกดินเหนียว ดินบนเป็นสีเทาเข้ม สีน้ำตาลปนเทาเข้ม ดินล่าง เป็นสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน มีจุดประสีน้ำตาลแก่ สีน้ำตาลปนเหลือง สีแดงปนเหลือง พบตามที่ ราบลุ่มหรือที่ราบเรียบ เป็นดินลึก มีการระบายน้ำเลว ฤดูฝนขังน้ำลึก 20-50 ซม. นาน 4-5 เดือน ฤดูแล้งดินแห้งแตกระแหงเป็นร่องกว้างลึก ถ้าพบบริเวณชายฝั่งทะเล มักมีเปลือกหอยอยู่ในดินชั้นล่าง ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลาง มีปฏิกิริยาดินเป็นกรดปานกลางถ้าเป็นกรดเล็กน้อย มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างปริมาณ 5.5-6.5 ส่วนดินชั้นล่างหากมีเปลือกหอยปะปน จะมีปฏิกริยาเป็นด่างอ่อนหรือมีค่าความเป็นด่างประมาณ 7.5-8.0 ได้แก่ชุดดินสมุทรปราการ บางกอก ฉะเชิงเทรา พิมาย บางแพ และสิงห์บุรี ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่ใช้ทำนา หรือยกร่องปลูกพืชผักและไม้ผล ซึ่งไม่ค่อยจะมี

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ถ้าเป็นที่ลุ่มมาก ๆ จะมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมในฤดูฝน

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : ในสภาพปัจจุบันสภาพพื้นที่มีศักยภาพเหมาะสมในการทำนา เนื่องจากสภาพพื้นที่ราบเรียบถึงเกือบราบเรียบ เนื้อดินเป็นดินเหนียว การระบายน้ำเลว ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำขังที่ผิวดินนาน 4-5 เดือน แต่สามารถปลูกพืชไร่และพืชผักบางชนิดได้ในช่วงฤดูแล้งหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วไม่เหมาะที่จะปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นเพราะมีน้ำท่วมขังลึกในฤดูฝน อย่างไรก็ตามสามารถเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์จากนาข้าวเป็นปลูกพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักได้ ถ้าได้มีการพัฒนาที่ดิน โดยการทำคันดินรอบพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมและยกร่องปลูกเพื่อช่วยการระบายน้ำของดิน

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 3

ปลูกข้าวหรือทำนา เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินปฏิบัติเหมือนกลุ่มชุดดินที่ 1 และแก้ไขเนื้อดินเหนียว โดยหว่านปุ๋ยอินทรีย์ ก่อนปลูกข้าวทั่วแปลงอัตรา 1.5-2.0 ตัน/ไร่ การใช้ปุ๋ยเคมีกับพันธุ์ข้าวไวแสงและพันธุ์ข้าวไม่ไวแสง ใช้ปุ๋ยสูตร และอัตราเดียวกับที่ปฏิบัติในกลุ่มชุดดินที่ 1

ปลูกพืชไร่ กรณีทำการปลูกในช่วงฤดูแล้งหรือกรณีเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นพื้นที่ทำไร่ถาวรให้ยกร่องปลูก และทำร่องรอบกระทงนา เพื่อระบายน้ำออก ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 1.5 - 2.0 ตัน/ไร่ การยกร่องและการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกพืชไร่ ในกลุ่มชุดดินที่ 2

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ใช้สูตร 20-20-0 กรณีดินมีฟอสฟอรัสต่ำ อัตรา 25 กก./ไร่ ใส่รองก้นหลุมทั้งหมดหรือใส่ข้างแถวแล้วพรวนดินกลบโคน เมื่ออายุ 25-30 วัน ถ้าดินมีฟอสฟอรัสสูง ใส่สูตร 21-0-0 อัตรา 40-60 กก./ไร่

พืชตระกูลถั่ว ใส่สูตร 0-46-0 อัตรา 15-20 กก./ไร่ ตอนปลูกหรือหลังปลูก 20-25 วัน

อ้อย สำหรับอ้อยปลูกใส่สูตร 20-10-10 อัตรา 50 กก./ไร่ ใส่ครั้งเดียว เมื่ออายุ 30-60 วัน สำหรับอ้อยตอ ใช้สูตร 10-5-5 อัตรา 40-50 กก./ไร่ ใส่ครั้งเดียว

ฝ้าย ใช้สูตร 21-0-0 อัตรา 20-30 กก./ ไร่ หรือ 46-0-0 อัตรา 15-20 กก./ไร่ กรณีดินมีธาตุฟอสฟอรัสต่ำใส่สูตร 20-20-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ .ใส่หลังปลูก 20-25 วัน

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น เตรียมพื้นที่ปลูกเพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำของดินและน้ำท่วมขัง ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเตรียมพื้นที่ปลูก พืชไร่ที่ได้กล่าวมาแล้ว

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น มะม่วง ส้มเขียวหวาน ใช้สูตร 15-15-15 ต้นอายุ 1-2 ปี ใส่ 1 กก./ต้น/ปี ต้นอายุ 3 ปี ใส่ 1.5 กก./ต้น/ปี ต้นอายุ 5 ปี ใส่ 2.5 กก./ต้น/ปี โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง

มะพร้าว อายุ 1-2 ปี ใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กก./ต้น/ปี อายุ 3-6 ปี ใช้สูตร 13-13-21 อัตรา 2-3 กก./ต้น/ปี โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง/ปี

ส้มโอ ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่ 2 ครั้ง/ปี ดังนี้ อายุ 1 ปี ใช้อัตรา 1 กก./ต้น อายุ 2 ปี ใช้อัตรา 2 กก./ต้น อายุ 3 ปี ใช้อัตรา 3 กก./ต้น อายุ 4 ปี ใช้อัตรา 4 กก./ต้น อายุ 5 ปี ใช้อัตรา 5 กก./ต้น

ปาล์มน้ำมัน(ปลูกเฉพาะภาคใต้) อายุ 1 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1.5 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ปีละ 4-5 ครั้ง อายุ 2 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 15-10-30 อัตรา 2.5 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ปีละ 4-5 ครั้ง อายุ 3 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 15-10-30 อัตรา 3.5 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง คือช่วงต้น กลางและปลายฤดูฝน อายุ 4 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 10-10-30 อัตรา 4.5 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง คือ ช่วงต้น กลางและปลายฤดูฝน อายุ 5 ปีขึ้นไป ใส่ปุ๋ยสูตร 10-10-30 อัตรา 5.5 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง คือ ช่วงต้น กลางและปลายฤดูฝน