กลุ่มชุดดินที่ 28

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นพวกดินเหนียวจัดในชั้นดินล่างลึก ๆ อาจพบชั้นปูนมาร์ล สีดินเป็นสีดำ เทาเข้มหรือสีน้ำตาล อาจพบจุดประสีน้ำตาลหรือสีแดงปนน้ำตาลแต่พบเป็นปริมาณน้อยในช่วงดินชั้นบน มีสภาพพื้นที่ราบเรียบหรือค่อนข้างราบเรียบ มีความลาดชันประมาณ 0.2 % บริเวณเทือกเขาหินปูน หรือพวกหินภูเขาไฟ เป็นดินลึก การระบายน้ำดี ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกกว่า 1 เมตรตลอดปี มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลางถึงสูง pH ประมาณ 7.0-8.0 ได้แก่ชุดดินชัยบาดาล ลพบุรี บุรีรัมย์-สูง และวังชมพู ดงลาน น้ำเลน สมอทอด ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่ใช้ปลูกพืชไร่ต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วต่าง ๆ ฝ้ายและไม้ผลบางชนิด

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินเหนียวจัดยากต่อการไถพรวน ชั้นดินล่างมีเศษหินผุ น้ำซึมผ่านได้ช้า มีการอุ้มน้ำสูง ในฤดูฝนดินแฉะ พืชอาจได้รับความเสียหาย ฤดูแล้งดินแตกระแหงเป็นร่องลึก ถ้าฝนทิ้งช่วงพืชจะขาดน้ำ

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 28 มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชไร่และไม้ผลมากกว่าที่จะนำมาปลูกข้าวหรือทำนา เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดถึงลอนชัน ยากในการที่จะเก็บกักน้ำไว้ ปลูกข้าว อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้ที่ดิน

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 28

ปลูกพืชไร่ ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ดินขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกในบางช่วง การไถเตรียมดินปลูกพืชไร่ขวางความลาดเทของพื้นที่ แนวรั้วหญ้าแฝกขวางความลาดเทของพื้นที่ช่วยชลอการไหลบ่าของน้ำที่ผิวดินเมื่อฝนตกหนัก ขุดบ่อดักตะกอน เพื่อช่วยชลอการไหลบ่าของน้ำที่ผิวดิน และยังสามารถใช้น้ำเสริมในการเพาะปลูก นำมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำทางพืชมาใช้ เช่นการปลูกพืชเป็นแถบสลับกับการปลูกพืชเป็นแถว ขวางความลาดเทของพื้นที่ การปลูกพืชตระกูลถั่วแซมพืชหลัก เป็นต้น

ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่างและดินขาดความชื้นในบางช่วง ใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก อัตรา 1.5-2.0ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชปุ๋ยสด แล้วไถกลบลงดินเมื่อปุ๋ยพืชออกดอกได้ประมาณ 50% ปลูกพืชตระกูลถั่วสลับกับพืชไร่หลักหรือปลูกพืชตระกูลถั่วแซมกับพืชหลัก จะช่วยรักษาและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินและยังช่วยเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำของดินอีกด้วย การใช้ปุ๋ยเช่น

ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือสูตร 10-30-20 อัตรา 20-30 กก./ไร่ ใส่รองก้นร่องปลูกหรือโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบเมื่อถั่วอายุ 20-25 วัน

ข้าวโพด-ข้าวฟ่าง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-0 อัตรา 40-50 กก./ไร่ โรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ ใส่หลังปลูก 20-25 วัน หรือใส่ปุ๋ยสูตร 20-20-0 อัตรา 40-50 กก./ไร่หรือสูตร 23-23-0 อัตรา 35-45 กก./ไร่ หรือสูตร 25-25-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ โรยข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบใส่หลังปลูก 20-25 วัน

ปลูกไม้ผล ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกพืชไร่ ปลูกแถวพืชตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ แนวรั้วหญ้าขวางความลาดเทของพื้นที่ เพื่อช่วยชลอการไหลบ่าของน้ำที่ผิวดิน เมื่อฝนตกหนักและบนคันดินให้ปลูกหญ้า เช่นแฝก

ปัญหาดินมีธาตุอาหารพืชบางอย่างไม่เพียงพอแก่การเจริญเติบโต เช่น ลิ้นจี่ เตรียมหลุมปลูก ใส่ปุ๋ยสูตร 0-3-0 อัตรา 500 กรัม/ต้น คลุกกับดินในหลุมปลูก ก่อนตกผล (0-3 ปี) ใส่ปุ๋ยสูตร 12-4-20 หรือ 15-5-20 อัตรา 200--300 กรัม/ต้น x อายุปี ร่วมกับปุ๋ย 14-0-20 อัตรา 200-300 กรัม/ต้น x อายุปี ปุ๋ยหลักแบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละเท่า ๆ กัน โดยหว่านให้สม่ำเสมอรอบบริเวณทรงพุ่ม ห่างจากโคนต้น 30 ซม. แล้วพรวนดินกลบ ส่วนปุ๋ยร่วมเป็นการใส่ครั้งที่ 3 ให้ใส่เช่นเดียวกันระยะเวลาที่ใส่คือเดือน เมษายน มิถุนายน และสิงหาคม ตกผลแล้ว ใส่ปุ๋ยสูตร 14-5-20 หรือ 15-5-20 อัตรา 200-250 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละ เท่า ๆ กัน เป็นการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1และ 2 การใส่ครั้งที่ 3 เป็นการใส่ปุ๋ยร่วมสูตร 14-0-20 อัตรา 50-100 กรัม/ต้น x อายุปี ใส่หลังเก็บเกี่ยวผลิตผลแล้ว 2 ครั้ง และติดผลแล้ว 1 ครั้ง วิธีการใส่ ๆ เช่นเดียวกับการใส่ปุ๋ยก่อนตกผล

มะละกอ ใส่ปุ๋ยสูตร 14-12-12 หรือ 20-15-15 อัตรา 1 กก./ต้น ระยะต้นอ่อนถึงก่อนออกดอก หลังจาก 1 ปีขึ้นไปใส่ประมาณ 1-1.5 กก./ต้น

ขนุน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-10 อัตรา 100-200 กรัม/ตัน/ครั้ง อายุ 1-3 ปี ใส่ 6 ครั้ง/ปี อายุ 4-6 ปี ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หนึ่งครั้งต่อปี อัตรา 20-30 กก./ต้น ใส่ห่างต้นก่อนออกดอก 3 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1-2กก./ต้น ปลายฤดูฝนใส่ปุ๋ยสูตร 14-14-21 อัตรา 1-2 กก./ต้น/ปี