กลุ่มชุดดินที่ 26

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : หน่วยที่ดินเป็นกลุ่มชุดดินที่มีเนื้อดินบนเป็นดินร่วน ดินร่วนปนดินเหนียว หรือเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนดินล่างเป็นพวกดินเหนียว พบในเขตที่มีฝนตกชุก เช่น ภาคใต้ สีดินเป็นสีน้ำตาล สีเหลือง หรือสีแดง ส่วนใหญ่เกิดจากการสลายตัวของหินต้นกำเนิดชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งหินอัคนี หินตะกอนและหินแปร พบบริเวณพื้นที่ดอน ซึ่งมีลักษณะเป็นลูกคลื่นจนถึงพื้นที่เนินเขาเป็นดินลึก มีการระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงเป็นกรดแก่ มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 4.5-5.5 ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ปลูกยางพารา ไม้ผลต่าง ๆ และพืชไร่บางชนิด บางแห่งยังคงสภาพป่าธรรมชาติ ตัวอย่างชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ชุดดินพังงา ชุดดินภูเก็ต ชุดดินโคกลอย ชุดดินท้ายเหมือง ชุดดินห้วยโป่ง ชุดดินอ่าวลึก ชุดดินกระบี่ ชุดดิน
ลำภูรา ชุดดินปากจั่น

ปัญหาสำคัญในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ ส่วนบริเวณที่หน้าดินค่อนข้างเป็นทราย และมีความลาดชันสูงมีอัตราเสี่ยงต่อการชะล้างพังทลายของดินมาก หากมีการจัดการดินที่ไม่เหมาะสม

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : เมื่อพิจารณาถึงสภาพพื้นที่ ลักษณะเนื้อดินและการระบายน้ำของดิน กลุ่มชุดดินที่ 26 มีความเหมาะสมในการปลูกพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชผัก ซึ่งเกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักอยู่แล้ว

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 26

ปลูกพืชไร่ ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่างและการชะล้างธาตุอาหารพืชไปจากดินสูง แก้ไขโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีสำหรับสูตร อัตรา และวิธีการใช้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่ปลูก ดังต่อไปนี้ ปลูกพืชปุ๋ยสด ได้แก่ ถั่วดำ ถั่วพุ่ม ปอเทือง โสนอัฟริกัน ฯลฯ ใช้เมล็ดพันธุ์อัตรา 3-5 กก./ไร่ เมื่อพืชปุ๋ยสดอายุได้ 45-60 วัน หรือออกดอกได้ประมาณ 50 % ไถกลบลงไปในดิน เมื่อสลายตัวแล้ว จะเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินจะช่วยทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้น และช่วยดูดซับธาตุอาหารพืชไว้ไม่ให้สูญหายโดยการชะล้าง

ปัญหาดินเป็นกรด ใส่ปูนขาวอัตรา 100-500 กก./ไร่ ปุ๋ยอินทรย์ เช่น ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก อัตรา 2-3 ตัน/ไร่ และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30-50 กก./ไร่ หว่านให้ทั่วแปลงแล้วไถกลบก่อนปลูก 7-14 วัน ถั่วลิสง พันธุ์ที่แนะนำ ไทนาน 9 ขอนแก่น 60-1 สุโขทัย 38 ขอนแก่น 60-2 หรือพันธุ์พื้นเมือง ควรใช้เมล็ดพันธุ์ 2-3 เมล็ด หยอดลงหลุมปลูก ระยะปลูก 30 x 20 ซม. เมื่อถั่วอายุ 25-30 วัน ควรพรวนดินกำจัดวัชพืช สับปะรด พันธุ์ที่แนะนำ ปัตตาเวีย ภูเก็ต อินทรชิต ปุ๋ยรองพื้นสูตร 16-20-0 หลุมละ 10-15 กรัม ใช้ปุ๋ยสูตร 12-12-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 10-25 กรัม/ต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ใส่หลังจากปลูกประมาณ 3 เดือน โดยใส่ที่กาบใบล่าง ครั้งที่ 2 ใส่เมื่ออายุ 6 เดือน โดยใส่ที่กาบใบล่างสุด

ปลูกไม้ผล ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่าง เช่น เงาะ พันธุ์ที่แนะนำ เงาะโรงเรียน เงาะพันธุ์สีชมพู โดยทั่วไปใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 20-50 กก./ต้น/ปี และปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15, 16-16-16 หรือ 13-13-13 ในอัตราครึ่งหนึ่งของอายุ -การใช้ปุ๋ยเคมีช่วงแทงช่อดอกใช้สูตร 12-24-12 อัตรา 2 กก./ต้น - การใส่ปุ๋ยเคมีช่วงติดผล ใช้สูตร 13-13-21,14-14-21, 15-15-15 หรือ 12-12-17-2 โดยในระยะสร้างเนื้อเยื่อให้ใช้ 12-12-17-2 ประมาณ 1-2 กก./ต้น ส่วนระยะก่อนเก็บเกี่ยวผล 1 เดือน ให้ใช้ 0-0-50 ประมาณ 1 กก./ต้น - การใส่ปุ๋ยช่วงหลังเก็บเกี่ยวให้ใช้สูตร 15-15-15 หรือ 20-11-11 อัตรา 2 กก./ต้น/ครั้ง

ปัญหาพื้นที่ความลาดชัน ต้องมีการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยทำการปรับพื้นที่เฉพาะหลุมและปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน

ปัญหาขาดแคลนน้ำ จัดหาแหล่งน้ำและใช้วัสดุคลุมโคนต้นในฤดูแล้ง เพื่อรักษาความชื้น

ปัญหาดินเป็นกรด ใส่ปูนขาว 100 กรัม/หลุม ตอนเตรียมหลุมปลูก

ปลูกไม้ยืนต้นและพืชสวน ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่าง ปรับปรุงแก้ไข โดยการใส่ปุ๋ยเคมี สูตร อัตรา และวิธีการใช้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่ปลูก ดังนี้ ใช้ปุ๋ยร็อคฟอสเฟตรองก้นหลุมก่อนปลูก ในอัตรา 170 กรัม/หลุม

ยางพารา พันธุ์ที่แนะนำ RRIM 600 BPM 24 KRS 156 ควรใช้ปุ๋ยเคมี ดังนี้ สูตร 1 ปุ๋ยเม็ด 18-10-6 ปุ๋ยผสม 8-14-3 สูตร 2 ปุ๋ยเม็ด 18-4-5 ปุ๋ยผสม 13-9-4 สูตร 5 ปุ๋ยผสม 15-0-18 สูตร 6 ปุ๋ยเม็ด 15-7-18 ปุ๋ยผสม 12-5-14

อายุ 2-41 เดือน ใช้ปุ๋ยเม็ดสูตร 1 อัตรา 60-190 กรัม/ต้น และปุ๋ยผสมสูตร 1 อัตรา 130-400 กรัม/ต้น ใส่รอบโคนต้นรัศมี 30-60 ซม. เมื่ออายุ 35 เดือนขึ้นไปหว่านปุ๋ยให้กระจายสม่ำเสมอในแถวยางพารา ห่างจากโคนต้นข้างละ 1 เมตร

อายุ 47-71 เดือน ใส่ปุ๋ยเม็ดสูตร 2 อัตรา 400 กรัม/ต้น และปุ๋ยผสมสูตร 2 อัตรา 530 กรัม/ต้น เมื่ออายุ 65 เดือนขึ้นไป หว่านปุ๋ยเป็นแถบกว้าง 2.5 เมตร ห่างจากโคนต้นข้างละ 50 ซม. หลังเปิดกรีด ใส่ปุ๋ยสูตร 5 และ 6 อัตรา 1-1.2 กก./ต้น/ปี โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ตอนต้นและตอนปลายฤดูฝน วิธีใส่ 1) ใส่แบบหว่านสำหรับพื้นที่ราบ 2) ใส่แบบหลุมโดยขุดหลุมรอบโคนต้นหรือสองข้างของลำต้น 2-4 หลุม/ต้น ใส่ปุ๋ยแล้วกลบดิน เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีความลาดเท

ปัญหาพื้นที่มีความลาดชัน หากพื้นที่มีความลาดชันสูง ควรจัดทำคันคูรับน้ำรอบเขาและปลูกพืชคลุมดิน

มะม่วงหิมพานต์ เตรียมหลุมปลูกใช้ปุ๋ยสูตร 0-3-0 อัตรา 300-350 กรัม/ต้น หรือสูตร 15-30-15 อัตรา 250-300 กรัม/ต้น ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรที่มีธาตุอาหารพืชหลักครบถ้วนเช่น 20-20-20, 15-15-15, 20-11-11 หรือ 12-12-7 เป็นต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้งตามขนาด และอายุของต้น ในอัตราตั้งแต่ 100-400 กรัม/ต้น/ปี โดยหว่านให้สม่ำเสมอรอบบริเวณทรงพุ่มห่างจากโคนต้น 30 ซม. แล้วพรวนดินกลบ ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีในอัตรา 10-20 กก./ต้น/ปี