กลุ่มชุดดินที่ 25

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินบนเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนดินล่างเป็นดินเหนียวหรือดินร่วนปนดินเหนียวที่เป็นกรวดหรือลูกรังปะปนเป็นปริมาณมาก มีจุดประสีน้ำตาลปนเหลือง สีเทาอ่อน หรือสีน้ำตาลปนเทา ใต้ชั้นดินลูกรังอาจพบชั้นดินเหนียวที่มีศิลาแลงอ่อนปะปน เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินพวกตะกอนลำน้ำทับอยู่บนชั้นหินผุ พบบริเวณพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบ ตามลานตะพักลำน้ำระดับต่ำและระดับกลาง น้ำแช่ขังลึก 30 ซม. นาน 3 - 4 เดือน เป็นดินตื้น ส่วนใหญ่มีการระบายน้ำค่อนข้างเลว ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ pH ประมาณ 4.5-6.0 ได้แก่ชุดดินเพ็ญ อ้น และม่วงค่อม ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ทำนา บางแห่งเป็นป่าละเมาะหรือป่าเต็งรัง

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินตื้นเป็นทรายมีชั้นลูกรังศิลาแลงยากแก่การไถพรวน และ ขุดเจาะ น้ำซึมผ่านชั้นดินได้เร็ว ปานกลาง ถึงช้ามาก มีการอุ้มน้ำต่ำถึงปานกลาง ฤดูฝน น้ำแช่ขัง นาน 3 - 4 เดือน ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ มักขาดน้ำ

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช เนื่องจากกลุ่มชุดดินที่ 25 เป็นดินตื้น เพราะมีชั้นกรวดหรือลูกรังปะปนในเนื้อดินอยู่มาก ดินมีการระบายน้ำเลว มักมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน จึงมีศักยภาพเหมาะที่จะใช้ทำนา ส่วนฤดูแล้งสามารถปลูกพืชไร่ที่ระบบรากสั้น รวมทั้งพืชผักบางชนิดได้ สำหรับการปลูกไม้ผลและพืชไร่เศรษฐกิจในกลุ่มชุดดินนี้ไม่เหมาะสม เนื่องจากดินมีศักยภาพทางการเกษตรต่ำ มีปัญหาเรื่องดินตื้น และการระบายน้ำเลว แล้วยังมีปัญหาในการเขตกรรมด้วย การจะเพิ่มศักยภาพของดินนี้กระทำได้ลำบากและต้องลงทุนสูง การเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินอาจพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์หรือปลูกป่าไม้โตเร็วทดแทน

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 25

ปลูกข้าวหรือทำนา ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชที่จำเป็นบางอย่าง ข้าวพันธุ์ที่แนะนำ ขาวตาหยก ไข่มุก รวงยาว สีรวง อัลฮัมดุลิลละห์ ฯลฯ ใช้ปุ๋ยรองพื้นสูตร 16-20-0 อัตรา 25-40 กก./ไร่ หรือสูตร 16-16-8 อัตรา 30-40 กก./ไร่ โดยหว่านก่อนปักดำ 1-3 วัน หลังจากนั้นใช้ปุ๋ยยูเรียเป็นปุ๋ยแต่งหน้า อัตรา 5-10 กก./ไร่ ใส่เมื่อข้าวตั้งท้อง

ปลูกพืชไร่ ปัญหาการระบายน้ำของดินไม่ดีหรือการระบายน้ำเลวและมีน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน การเตรียมพื้นที่เพาะปลูก

1) กรณีปลูกในช่วงฤดูแล้งหรือหลังการเก็บเกี่ยวข้าว หรือกรณีเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดินจากนาข้าวเป็นปลูกพืชไร่ถาวร ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 1

ปัญหาดินค่อนข้างเป็นทราย ปลูกพืชตระกูลถั่ว หรือใส่วัสดุปรับปรุงดินอย่างอื่น เช่น ขี้เลื่อย แกลบ กากน้ำตาล หรือเศษพืชแล้วไถกลบลงไปในดิน

ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่าง เช่น ข้าวโพดหวาน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-20-20 อัตรา 50-100 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ใส่รองก้นหลุมก่อนปลูกและใส่เมื่อข้าวโพด อายุ 25 วัน และใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 10 กก./ไร่ เมื่อข้าวโพดอายุ 25-30 วัน

ถั่วเหลือง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 20-30 กก./ไร่ หรือสูตร 10-20-10 อัตรา 25-35 กก./ไร่ หรือสูตร 16-20-0 อัตรา 25-30 กก./ไร่ (กรณีชุดดินที่มีโพแทสเซี่ยมเป็นองค์ประกอบอยู่สูง) โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง

ปลูกไม้ผล มีปัญหาการระบายน้ำของดินเลว น้ำท่วมและขังแช่ในช่วงฤดูฝน การเตรียมพื้นที่ปลูกเพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำของดินและน้ำท่วมขัง ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเตรียมพื้นที่ปลูกพืชไร่ที่ได้กล่าวมาแล้ว

ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืช เช่น ปาล์มน้ำมัน(ปลูกเฉพาะภาคใต้) อายุ 1 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1.5 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ปีละ 4-5 ครั้ง อายุ 2 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 15-10-30 อัตรา 2.5 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ปีละ 4-5 ครั้ง อายุ 3 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 15-10-30 อัตรา 3.5 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง คือช่วงต้น กลางและปลายฤดูฝน

เงาะ อายุ 1-3 ปี ยังไม่ให้ผล ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 0.5-1.0 กก./ต้น ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ในตอนต้นและตอนปลายฤดูฝน สำหรับปีต่อไปใส่ปุ๋ยเพิ่มขึ้น 0.5 กก./ต้น/ปี ให้ใส่ปุ๋ยหลังจากตัดแต่งกิ่งและกำจัดวัชพืชแล้ว โดยใส่ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ เงาะที่ให้ผลแล้วแบ่งใส่ 3 ช่วง ครั้งแรก ใส่สูตร 15-15-15 อัตรา 2.0-3.0 กก./ต้น หลังจากเก็บผลผลิตและได้ตัดแต่งกิ่ง พร้อมกำจัดวัชพืชแล้ว ครั้งที่สองใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 อัตรา 2.0-3.0 กก./ต้น ก่อนการออกดอก ครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ย 9-24-24 หรือ 15-15-15 อัตรา 1.0-2.0 กก./ต้น ใส่เมื่อติดผลแล้ว และในระยะก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-17-2 อัตรา 1-2 กก./ต้น

มังคุด มังคุดยังไม่ให้ผล ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 0.5 กก./ต้น/อายุ 1 ปี โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ในต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน หลังจากเก็บผลแล้ว ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กก./ต้น ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของต้นใหญ่หรือเล็ก ก่อนออกดอกและติดผลเล็ก ๆ ใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-17-2 อัตรา 1-2 กก./ต้น

ลองกอง ยังไม่ให้ผล ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 0.5 กก./ต้น/อายุ 1 ปี โดยแบ่งใส่ 2 ครั้งในช่วงต้น และปลายฤดูฝน เมื่อให้ผลผลิตแล้วใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ประมาณ 0.5-1 กก./ต้น

โกโก้ อายุ 1 ปี ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 0.2 กก./ต้น/ครั้ง อายุ 3 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-172 อัตรา 0.6 กก./ต้น/ครั้ง อายุ 4 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-17-2 อัตรา 0.7 กก./ต้น/ครั้ง โดยแบ่งใส่ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ใส่ก่อนฤดูฝน ครั้งที่ 2 ใส่กลางฤดูฝน และครั้งที่ 3 ใส่ปลายฤดูฝน