กลุ่มชุดดินที่ 24

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : หน่วยที่ดินเป็นกลุ่มชุดดินที่มีเนื้อดินเป็นพวกดินทราย มีสีน้ำตาลปนเทาหรือสีเทาปนชมพู พบจุดประสีน้ำตาล สีเหลืองหรือสีเทาในชั้นดินล่าง บางแห่งจะพบชั้นที่มีการสะสมอินทรียวัตถุ เป็นชั้นบาง ๆ มีสภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบหรือราบเรียบ เป็นดินลึก มีการระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงดีปานกลาง มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำมาก ปฏิกิริยาดินเป็นกรดปานกลางถึงเป็นกรดเล็กน้อย มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 5.5-6.5 ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ทำนา หรือปลูกพืชไร่บางชนิด เช่น มันสำปะหลัง อ้อยและปอ บางแห่งเป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติ ตัวอย่างชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ชุดดินอุบล ชุดดินบ้านบึง ชุดดินท่าอุเทน

ปัญหาสำคัญในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ เนื้อดินเป็นทรายจัด พืชมักแสดงอาการขาดน้ำในช่วงฝนทิ้ง และมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำมาก

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 24 ค่อนข้างไม่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในการปลูกพืชทั้งพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เนื่องจากเนื้อดินเป็นทรายจัดและความอุดม-สมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ แต่มีศักยภาพเหมาะที่จะใช้ในการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์หรือพัฒนาเป็นทุ่งหญ้า อย่างไรก็ตามในสภาพปัจจุบันได้มีการใช้ประโยชน์ในการทำนา ปลูกพืชไร่ และไม้ผลบางชนิด แต่ให้ผลผลิตต่ำ หรือค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะใช้ทำนามักได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากดินเก็บกักน้ำไม่ค่อยอยู่

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 24

ปลูกข้าวหรือทำนา ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและดินเป็นทรายจัด ข้าว ใช้ข้าวพันธุ์เบาหรือข้าวพันธุ์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อัตรา 1-3 ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น โสนอัฟริกัน แล้วไถกลบลงดิน เมื่อปุ๋ยพืชสดออกดอก ก่อนปลูกข้าวประมาณ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีสำหรับข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง สูตร 16-20-0, 18-22-0 หรือ 20-20-0 สูตรใดสูตรหนึ่ง อัตรา 35 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ อัตรา 7 กก./ไร่ ใส่ก่อนปักดำ 1 วัน ครั้งที่สองใส่ปุ๋ยแต่งหน้าด้วยแอมโมเนียมคลอไรด์ (25 % N) 25 กก./ไร่ หรือปุ๋ยยูเรีย(46 %N) 13 กก./ไร่ ชนิดใดชนิดหนึ่งใส่หลังปักดำ 35-40 วัน

ปลูกพืชไร่ ควรปลูกบนดินชุดบ้านบึง ปัญหาดินเป็นทรายจัด ใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเทศบาล อัตรา 1-3 ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชปุ๋ยสด แล้วไถกลบลงดินเมื่อปุ๋ยพืชสด อายุได้ 45-50 วัน

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น ถั่วลิสงและถั่วเขียว ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 20-30 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ตอนปลูกและเมื่ออายุ 20-25 วัน

ข้าวโพด ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 10-15 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ตอนปลูก และเมื่ออายุ 20-25 วัน

มันสำปะหลัง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 40-50 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 25-35 กก./ไร่ วิธีใส่ครั้งแรกหลังปลูก 1-2 เดือน และครั้งที่สองเมื่อมันสำปะหลังอายุ 4-6 เดือน แบ่งใส่สองครั้ง ๆ ละเท่า ๆ กัน

ปอแก้ว ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ใส่ตอนปลูกและหลังปลูก 20-25 วัน แบ่งครึ่งใส่ ครั้งแรกใส่รองก้นหลุม ครั้งที่สองโรยข้างแถวปลูกหรือหว่านปุ๋ยทั้งหมด หลังปลูก ถ้าปลูกแบบหว่าน

ฝ้าย ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 14-14-14 หรือ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 40-60 กก./ไร่ ใส่เมื่อปอแก้วอายุ 20-30 วัน โรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ

ปลูกไม้ผล ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและดินเป็นทรายค่อนข้างจัด การปรับปรุงแก้ไขให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี เช่น

มะม่วง

1) เตรียมหลุมปลูก ใส่ปุ๋ยสูตร 0-3-0 อัตรา 500 กรัม/ต้น

2) ก่อนมะม่วงตกผล ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 400-500 กรัม/ต้น x อายุปี ใส่ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 200-250 กรัม/ต้น x อายุปี การใส่ให้แบ่งใส่ 4 ครั้ง ใส่ในเดือนมีนาคม พฤษภาคม สิงหาคม และตุลาคม

3) มะม่วงตกผลแล้วใส่ปุ๋ยสูตร 15-5-20 อัตรา 500-600 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง เท่า ๆ กัน ร่วมกับปุ๋ยสูตร 14-0-20 อัตรา 500-600 กรัม/ต้น x อายุปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง ๆ ละ เท่า ๆ กัน ใส่หลังเก็บเกี่ยวผลแล้ว 2 ครั้ง และหลังตัดผลแล้ว 1 ครั้ง

มะม่วงหิมพานต์ ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 30-50 กก./ต้น และควรใส่ทุกปี ร่วมกับใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 300-800 กรัม/ต้น เมื่ออายุ 1-2 ปี และใส่ 1 กก./ต้น เมื่ออายุ 3 ปี เมื่ออายุ 4-6 ปี ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1.5-2.0 กก./ต้น และเมื่ออายุ 7 ปีขึ้นไป ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 2-3 กก./ต้น