กลุ่มชุดดินที่ 22

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : หน่วยที่ดินเป็นกลุ่มชุดดินที่มีเนื้อดินเป็นพวกดินร่วนปนทราย ดินทรายปนดินร่วนสีพื้นเป็นสีเทาหรือน้ำตาลปนเทา มีจุดประสีน้ำตาลปนเหลือง หรือสีเหลืองปนน้ำตาลอ่อน และอาจพบศิลาแลงอ่อนในดินชั้นล่าง มีสภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบ เป็นดินลึก มีการระบายน้ำค่อนข้างเลว ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงเป็นกรดแก่ ค่าความเป็นกรด เป็นด่างประมาณ 4.5-5.5 บริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่ในฤดูฝนใช้ปลูกข้าว บางแห่งยังคงสภาพเป็นป่าอยู่ หรือใช้ปลูกไม้ยืนต้น แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องการแช่ขังของน้ำในช่วงฤดูฝน ตัวอย่างชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ชุดดินน้ำกระจาย ชุดดินสีทน ชุดดินสันทราย และชุดดินชัยภูมิ

ปัญหาสำคัญในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ของหน่วยที่ดินนี้ได้แก่ ดินค่อนข้างเป็นทราย มีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ และมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช

โดยทั่วไปศักยภาพของกลุ่มชุดดินที่ 22 เหมาะที่จะใช้ในการทำนาเนื่องจากสภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบมีน้ำขังแช่ในช่วงฤดูฝน แต่สามารถปลูกพืชไร่หรือพืชผักเช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโพด ยาสูบ กระเทียม มะเขือเทศ ฯลฯ ก่อนและหลังการปลูกข้าวถ้ามีน้ำชลประทานหรือมีแหล่งน้ำธรรมชาติ ในเขตฝนตกชุก เช่น ภาคใต้ และภาคตะวันออก ใช้ปลูกยางพาราและไม้ผล

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 22

ปลูกข้าวหรือทำนา ข้าว พันธุ์ที่แนะนำ ปทุมธานี 60 สุพรรณบุรี 60 พิษณุโลก 60-1 60-2 ชุมแพ 60 เก้ารวง 88 ขาวดอกมะลิ 105 ขาวตาแห้ง กข.15 กข.7 กข.17 กข.23 กข.25 ฯลฯ ปัญหาเนื้อดินค่อนข้างเป็นทราย ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เช่นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อัตรา 1.5-2.0 ตัน/ไร่ หรือการปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น โสนอัฟริกันฯ เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-18 อัตรา 40 กก./ไร่ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง

ปลูกพืชไร่ ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาการระบายน้ำของดิน ปกติแล้วกลุ่มชุดดินนี้ไม่เหมาะสมที่จะนำมาปลูกพืชไร่ในฤดูฝน ถ้าจะนำมาปลูกพืชไร่ควรปลูกก่อนและหลังการปลูกข้าว ที่ดินมีความชื้นเพียงพอและบริเวณที่มีแหล่งน้ำเสริมก่อนเตรียมดินปลูกพืชควรมีการใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1.5-2.0 ตัน/ไร่

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ แก้ไขโดยการใช้ปุ๋ยเคมีสำหรับสูตร อัตราและวิธีการใช้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่ปลูก เช่น

ถั่วเหลือง พันธุ์ที่แนะนำ ได้แก่ สจ.2, สจ.4, สจ.5, เชียงใหม่60,นครสวรรค์1การใส่ปุ๋ยใช้ปุ๋ยหินฟอสเฟตเป็นปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูกในอัตรา 200 กก./ไร่ หรือใช้ทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) อัตรา 15 กก./ไร่ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์อัตรา 20กก./ไร่ เป็นปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูก

ถั่วลิสง พันธุ์ที่แนะนำได้แก่ ไทนาน 9 เกษตร 1 ใส่ปุ๋ยรองพื้น สูตร
12-24-12 ในอัตรา 30 กก./ไร่ และควรเพิ่มปุ๋ยเดี่ยวในรูปของทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต (46%P2O5) อีกประมาณ 12 กก./ไร่

ปลูกไม้ผล ปัญหาน้ำท่วม ทำคันดินล้อมรอบพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วม ปัญหาการระบายน้ำของดิน ยกร่องขึ้นแปลงปลูกไม้ผลเพื่อป้องกันการแช่ขังของน้ำและเพื่อปรับปรุงการระบายน้ำในช่วงที่มีระดับน้ำใต้ดินตื้นไม่ให้แช่รากพืช เตรียมหลุมปลูกขนาด 50 x 50 ลึก 50 ซม. คลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 25-30 กก./หลุม

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ เช่น มะม่วง พันธุ์ที่แนะนำได้แก่เขียวเสวย ทองดำ ฟ้าลั่น น้ำดอกไม้ หนังกลางวัน ใส่ปุ๋ยเคมีในอัตราครึ่งหนึ่งของจำนวนอายุ เช่น มะม่วง อายุ 10 ปี ก็ใส่ปุ๋ยจำนวน 5 กก./ต้น โดยใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 300 กรัม/ต้น ในช่วงเดือนมีนาคม -เมษายน ใช้ปุ๋ย 15-15-15 ในช่วงเดือนพฤษภาคม ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24 อัตรา 200 กรัม/อายุต้น ในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม

มะละกอ พันธุ์ที่แนะนำ ได้แก่ โกโก้ แขกดำ จำปาดะ สายน้ำผึ้ง ฮาวาย มาเลเซีย ปุ๋ยเคมีใช้สูตร 14-12-12 หรือ 20-15-15 ใส่ ครั้งแรกหลังจากย้ายปลูก 2-3 สัปดาห์ มะละกอ อายุได้ 1 ปี ใส่ปุ๋ย 1 กก./ต้น/ปี หลังจากอายุได้ 1 ปี ขึ้นไป ใส่ประมาณ 1-1.5 กก./ต้น/ปี

ลำใย พันธุ์ที่แนะนำ ได้แก่ อีดอ ชมพู แห้ว เบี้ยวเขียว เมื่อต้นลำใยเริ่มให้ผลควรงดการให้น้ำช่วงเดือนธันวาคม ถึงมกราคม ถางหญ้าและเก็บกวาดใบที่ร่วงออกเพื่อให้หน้าดินแห้งเดือนกุมภาพันธ์ลำใยแทงช่อดอก เริ่มให้น้ำโดยค่อย ๆ เพิ่มปริมาณจนถึงปกติ เดือนมีนาคม ถึงมิถุนายน ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอใส่ปุ๋ยบำรุงผลสูตร 12-12-17 หรือปุ๋ยสูตรเสมอ (15-15-15) ในอัตราครึ่งหนึ่งของอายุต้น และควรมีการค้ำยันกิ่งและฉีดสารเคมีป้องกันโรคและแมลงด้วย ช่วงเดือนกรกฏาคม - สิงหาคม ควรมีการลดการให้น้ำลงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายนควรมีการตัดแต่งกิ่งฉีดยาป้องกันโรคแมลงและใส่ปุ๋ยบำรุงต้น สูตร 15-15-15 อัตราครึ่งหนึ่งของอายุต้นร่วมกับการใส่ปุ๋ยคอกในอัตราเท่ากับอายุของต้น