กลุ่มชุดดินที่ 20

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินบนเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนดินล่างเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายหรือดินร่วนปนดินเหนียว มีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา พบจุดประสีน้ำตาล สีเหลือง หรือสีแดงปะปนมีสภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบหรือราบเรียบ ตามลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ น้ำแช่ขัง 30-100 ซม.นาน 3-4 เดือน เป็นดินลึกมาก มีการระบายน้ำเลวถึงค่อนข้างเลว ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ ดินชั้นบน pH ประมาณ 6.0-7.0 จะมีเกลือโซเดียมสูง แต่ถ้ามีก้อนปูนปะปนมี pH ประมาณ 7.0-8.0 ดินกลุ่มนี้ฤดูแล้งจะมีคราบเกลือเกิดขึ้น ได้แก่ ชุดดินหนองแก กุลาร้องไห้ อุดร ร้อยเอ็ด ประเภทที่มีคราบเกลือ ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ทำนาบริเวณที่เค็มจัดจะปรากฎมีคราบเกลือบนผิวดิน ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรไม่ได้ มีแต่ป่าละเมาะ ไม้พุ่มหนาม ขึ้นกระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ บางแห่งเป็นแหล่งทำเกลือสินเธาว์

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินค่อนข้างเป็นทราย ดินเค็มมีคราบเกลือลอยตามผิวหน้าดิน ฤดูฝนขังน้ำนาน 3 - 4 เดือน ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : ในสภาพปัจจุบันกลุ่มชุดดินที่ 20 ไม่มีความเหมาะสมในการปลูกพืชเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีปริมาณเกลืออยู่สูง แต่มีบางพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ในการทำนาถ้ามีน้ำเพียงพอ ในบางช่วงที่มีน้ำไม่พอหรือฝนไม่ตกดินจะแห้ง ข้าวที่ปลูกมักจะตายเนื่องจากความเค็มของดิน ในฤดูแล้งไม่สามารถปลูกพืชไร่และพืชผักได้

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 20

ปลูกข้าวหรือทำนา ข้าวพันธุ์ที่แนะนำ ได้แก่ หอมอ้ม ขาวตาอู๋ กอเดียวเบา
แดงน้อย เจ๊กกระโดด กข.1 กข.6 กข.7 กข.8 กข.15 ขาวดอกมะลิ 105 สันป่าตอง ขาวตาแห้ง คำผาย 41 เก้ารวง 88 ขาวปากหม้อ 148 ปัญหาความเค็มของดินและคุณสมบัติทางกายภาพไม่ดี ป้องกันการ
แพร่กระจายโดยการปลูกไม้โตเร็วเพื่อช่วยลดระดับน้ำเค็มใต้ดินไม่ให้เกลือขึ้นมาสู่ผิวดิน เช่น ยูคาลิปตัส กระถินณรงค์ ขี้เหล็ก สะเดา ปลูกในพื้นที่สูงเหนือพื้นที่นา การล้างดินด้วยน้ำจืดเพื่อลดระดับความเค็มของดินให้ปฏิบัติดังนี้

1) ปรับผิวหน้าดินให้เรียบ

2) ไถดินให้ลึกกว่า 30 ซม. ทลายดินล่างให้เป็นร่องแล้วปรับระดับผิวดิน

3) แบ่งแปลงขนาดแปลง 1-5 ไร่ แต่ละแปลงมีคันดินกั้นโดยรอบ

4) ทดน้ำเข้าแปลงครั้งละ 250-300 ลบ.ม./ไร่ น้ำจะละลายเกลือในดินและชะล้างลงสู่
ดินล่าง

5) ปล่อยน้ำเข้าเพิ่มในแปลงอีก 250-300 ลบ.ม./ไร่ ทุก ๆ 2-3 วัน และตรวจสอบความเข้มข้นของเกลือที่ละลายออกมา การปรับปรุงให้เหมาะสมในการปลูกข้าว ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

1) ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอัตรา 4-5 ตัน/ไร่ ทำอย่างต่อเนื่อง

2) ใส่วัสดุปรับปรุงดิน ได้แก่ แกลบ อัตราแนะนำ 2-5 ตัน/ไร่

3) การปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบลงในดิน พืชปุ๋ยสดที่แนะนำได้แก่ โสนอัฟริกัน ปลูกก่อนปลูกข้าวประมาณ 3 เดือน แล้วไถกลบลงไปในดิน เมื่อปุ๋ยสดอายุประมาณ 60 วัน

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ปรับปรุงโดยการใช้ปุ๋ยเคมี สูตรปุ๋ย 16-16-8 หรือสูตร 18-12-6 หรือสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กก./ไร่ แบ่งใส่ 3 ครั้ง ครั้งละเท่าๆ กัน ครั้งแรกใส่หลังปักดำ 7-10 วัน ครั้งที่สองระยะที่ข้าวแตกกอสูงสุด และครั้งที่สามใส่ระยะที่ข้าวตั้งรวงวิธีใส่ให้หว่านทั่วแปลงนา

ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ พันธุ์ที่แนะนำ ได้แก่ หญ้าแพรก หญ้าชันกาด หญ้าขน หญ้า
กินนี หญ้านวลน้อย และหญ้าเนเปียร์ลูกผสม ปัญหาความเค็มของดินและดินระบายน้ำเลว มีน้ำท่วมขัง 3-4 เดือนในช่วงฤดูฝน

1. ดินเค็มน้อยถึงเค็มปานกลาง ปฏิบัติดังนี้

1) ทำคันดินรอบพื้นที่ปลูกหญ้าเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน และมีประตูปิด-เปิดเพื่อระบายน้ำเข้า-ออก และช่วยในการชะล้างดินเค็ม และที่แนวคันดินด้านในให้ขุดเป็นร่องระบายน้ำขนาดกว้างระหว่าง 1.5-2.0 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร

2) ไถปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ

3) ทำร่องระบายน้ำในพื้นที่ปลูกหญ้าขนาดกว้าง 50 ซม. และลึก 30-50 ซม. ยาวตามขนาดของพื้นที่ และขุดให้ต่อเนื่องกับร่องระบายน้ำรอบพื้นที่ปลูกและร่องระบายน้ำในบริเวณปลูกหญ้าที่กล่าวห่างกันประมาณ 15-20 เมตร

4) การเตรียมดินปลูกให้ไถดินคลุกเคล้ากับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตราระหว่าง 2-3 ตัน/ไร่ หรือวัสดุปรับปรุงดิน เช่น แกลบ อัตรา 2-4 ตัน/ไร่

2. ดินเค็มมาก ต้องปฏิบัติดังนี้

1) ทำคันดินรอบพื้นที่ปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนเหมือนดินเค็มปานกลาง

2) ยกร่องปลูกให้มีขนาดกว้าง 6-8 เมตรและมีร่องระบายน้ำระหว่างร่องปลูก มีขนาดกว้าง 1 เมตร และลึก 50-75 ซม.

3) ปรับปรุงดินบนแปลงปลูกด้วยการใส่แกลบขี้เลื่อย ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตรา 3-4 ตัน/ไร่

4) การปลูกหญ้าทนเค็ม ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อหลีกเลี่ยงดินแห้งในช่วงที่หญ้าตั้งตัว ที่จะทำให้เกลือขึ้นสู่ผิวดินที่จะทำให้ความเค็มของดินเพิ่มขึ้น

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ปรับปรุงโดยการใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 20-25 กก./ไร่ หรือปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 10-15 กก./ไร่ โดยใส่โรยสองข้างแถวหญ้าที่ปลูกเมื่อหญ้าตั้งตัวหรือหลังปลูก 20-25 วัน

ปลูกไม้ยืนต้น ที่แนะนำได้แก่ ยูคาลิปตัส กระถินณรงค์ สะเดา ขี้เหล็ก สมอ แคบ้าน มะขามเทศ มะขามหวาน และ มะขามเปรี้ยว ปัญหาความเค็มของดินระบายน้ำเลว มีน้ำขังที่ผิวดิน 3-4 เดือนในช่วงฤดูฝน การปรับปรุงแก้ไขให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

1) ทำคัน และมีคูระบายน้ำรอบพื้นที่ปลูก

2) ยกร่องปลูกให้มีขนาดกว้าง 4-8 เมตร และระหว่างร่องปลูก มีคูระบายน้ำขนาดกว้าง 75-100 ซม.ลึกประมาณ 75 ซม.

3) ขุดหลุมปลูกให้มีขนาด 50 x 50 x 50 ซม. คลุกเคล้าดินในหลุมปลูกด้วยวัสดุปรับปรุงดิน เช่น แกลบ ขี้เลื่อย ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก ประมาณ 10-15 กก./หลุม และพูนดินในหลุมปลูกให้สูงกว่าพื้นดินบนร่องปลูก ประมาณ 20 ซม. และควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ปรับปรุงแก้ไขด้วยการใช้ปุ๋ยเคมี สูตรที่แนะนำ 16-8-8 หรือ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 100-200 กรัม/ต้น/ปี ใส่ในปีที่ 1-3 หรือจน
ไม้ยืนต้นตั้งตัวได้ดี