กลุ่มชุดดินที่ 2

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นดินเหนียว ดินบนมีสีเทาหรือเทาแก่ ดินล่างมีสีเทา จุดประสีน้ำตาลและสีเหลืองหรือสีแดง พบตามที่ราบลุ่มภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ มีน้ำแช่ขังลึก 20-50 ซม. นาน 3-5 เดือน ถ้าเป็นดินที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลจะพบสารจาโรไซต์สีเหลืองฝางในระดับความลึกเป็นดิน ลึก มีการระบายน้ำเลว ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลาง pH 4.5-5.5 ได้แก่ ชุดดิน
อยุธยา บางเขน บางน้ำเปรี้ยว ท่าขวาง ชุมแสง บางปะอิน และมหาโพธิ

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : เนื่องจากสภาพพื้นที่ราบเรียบถึงราบลุ่ม
เนื้อดินเป็นดินเหนียวการระบายน้ำเลว ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำขังอยู่ที่ผิวดิน ระหว่าง 4-6 เดือน จึงมีศักยภาพเหมาะสมที่จะใช้ทำนาในช่วงฤดูฝน แต่สามารถปลูกพืชไร่ พืชผัก หรือพืชอื่นที่มีอายุสั้นได้ในช่วงฤดูแล้ง สำหรับในบริเวณพื้นที่ที่มีน้ำชลประทานเข้าถึงหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ถ้าใช้ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล หรือปลูกพืชไร่และพืชผัก ตลอดทั้งปีจะต้องทำคันดินล้อมรอบพื้นที่เพาะปลูกและยกร่องปลูกเพื่อช่วยการระบายน้ำของดิน

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 2

ปลูกข้าวหรือทำนา เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน โดยการปลูกพืชบำรุงดินปฏิบัติเหมือนกลุ่มชุดดินที่ 1 แก้ไขเนื้อดินเหนียว และมีโครงสร้างค่อนข้างแน่นทึบ ด้วยปุ๋ยอินทรีย์ เช่นปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 1.5-2.0 ตัน/ไร่ หรือใช้วัสดุปรับปรุงดินอย่างอื่น เช่น ขี้เลื่อย แกลบ กากน้ำตาล เป็นต้น ไถคลุกเคล้า และกลบลงในดิน ใส่ปูนมาร์ล หินปูนบด หรือหินปูนฝุ่นเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง อัตรา 0.5-1.0 ตัน/ไร่ ไถคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน ปล่อยน้ำแช่ ประมาณ 10 วัน แล้วระบายน้ำออกแล้วค่อยขังน้ำใหม่ เพื่อทำเทือกและรอปักดำ หรือใช้น้ำล้างความเป็นกรดของดิน ประมาณ 4-5 ครั้ง ปุ๋ยเคมี ครั้งที่ 1 ที่ใช้สูตร 16-20-0 อัตรา 25-40 กก./ไร่ หรือสูตร 16-16-8 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ครั้งที่ 2 ใช้ปุ๋ยยูเรีย 5-10 กก./ไร่ ใส่เมื่อข้าวตั้งท้อง พันธุ์ข้าวที่แนะนำ เช่น ขาวตาหยก ไข่มุก สีรวง ลูกเหลือง ขาวดอกมะลิ 105 กข 7 กข 13 สุพรรณบุรี 90 เล็บมือนาง

ปลูกพืชไร่ กรณีปลูกในช่วงฤดูแล้งหรือหลังเก็บเกี่ยวข้าวให้ยกร่องปลูกสูง 10-20 ซม. ทำร่องภายในแปลงห่างกันประมาณ 8-12 เมตร และร่อง 40-50 ซม. ลึก 20-30 ซม. เพื่อช่วยระบายน้ำใส่ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 1.5 - 2.0 ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชตระกูลถั่วไถกลบไปในดิน ในกรณีดินเป็นกรดให้ใส่ปูนในรูปต่าง ๆ เป็นปูนขาว ปูนมาร์ล อื่น ๆ ที่หาได้ง่าย ใช้อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ หว่านให้ทั่วแปลง ไถคลุกเคล้ากับดินทิ้งไว้ประมาณ 15 วันก่อนปลูกพืช กรณีเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นพืชที่ทำไร่แบบถาวร ให้สร้างคันดินรอบพื้นที่ปลูก ภายในพื้นที่ยกร่องปลูกแบบถาวร สันร่องปลูกกว้าง 6-8 เมตร คูกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร บนร่องยกแปลงย่อยสูง 10-20 ซม. กว้าง 1.5 - 2.0 เมตร

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น ข้าวโพดหวาน ใช้ปุ๋ยสูตร 20-20-20 หรือสูตร 15-15-15 อัตรา 50-100 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละเท่า ๆ กัน คือ รองก้นหลุมก่อนปลูก และเมื่ออายุ 25 วันและใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 10 กก./ไร่ โรยข้างแถวข้าวโพด พูนดินกลบโคน เมื่ออายุ 25-30 วัน

ถั่วเขียว ถั่วลิสง ใช้สูตร 12-24-12 อัตรา 30 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละ เท่า ๆ กัน ครั้งแรกใส่รองพื้น และเมื่อต้นถั่วอายุ 20-25 วัน โรยปุ๋ยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ ควรคลุกไรโซเบียมก่อนปลูก

อ้อย สำหรับอ้อยเริ่มปลูกใช้สูตร 16-8-8 หรือ 16-6-6 อัตรา 70-90 กก./ไร่ หรือสูตร 18-6-6 หรือสูตร 18-8-8 อัตรา 65-58 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง สำหรับอ้อยใช้สูตร 14-14-14 หรือสูตร 15-15-15 หรือ สูตร 16-16-16 อัตรา 40-50 กก./ไร่ ร่วมกับสูตร 46-0-0 อัตรา 15-20 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง โรยข้างแถวแล้วพรวนดิน

ฝ้าย ใส่หินฟอสเฟต อัตรา 100-200 กก./ไร่ ร่วมกับใช้ปุ๋ยสูตร 18-4-5 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ร่วมกับสูตร 25-7-7 อัตรา 20-30 กก./ไร่ ในช่วงหลังปลูก 20-25 วัน

ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น เตรียมพื้นที่ปลูกเพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำของดินและน้ำท่วมขัง ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเตรียมพืชที่ปลูกพืชไร่ที่ได้กล่าวแล้ว การแก้ความเป็นกรดของดิน ใส่ปูนลดความเป็นกรดเช่นเดียวกับพืชไร่ หรือใส่ในหลุมปลูกอัตรา 15 กิโลกรัม/หลุม

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น มะม่วง ส้มเขียวหวาน ใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 1 กก./ต้น เมื่อต้นอายุ 1-2 ปี และใช้อัตรา 1.5-3 กก./ต้น เมื่อต้นอายุ 3-6 ปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง/ปี

มะพร้าว ใช้สูตรและอัตราดังต่อไปนี้ อายุ 1 ปี ใช้สูตร 15-15-15 หรือสูตรอื่นสูตรที่มีธาตุอาหารเท่าหรือใกล้เคียงกัน อัตรา 1 กก./ต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง/ปี อายุ 2 ปี ใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 2 กก./ต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง/ปี อายุ 3-4 ปี ใช้สูตร 13-13-21 อัตรา 2 กก./ต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง/ปี อายุ 5 ปี ใช้สูตร 13-13-21 อัตรา 2.5 กก./ต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง/ปี อายุ 6 ปีขึ้นไป ใช้สูตร 13-13-21 อัตรา 3 กก./ต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง/ปี

ส้มโอ ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่ 2 ครั้ง/ปี ดังนี้ อายุ 1 ปี ใช้อัตรา 1 กก./ต้น อายุ 2 ปี ใช้อัตรา 2 กก./ต้น อายุ 3 ปี ใช้อัตรา 3 กก./ต้น อายุ 5 ปี ใช้อัตรา 5 กก./ต้น