กลุ่มชุดดินที่ 19

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินบนเป็นดินทรายปนดินร่วน ดินล่างเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย, ดินเหนียวปนทราย สีน้ำตาลปนแดง สีแดงปนเหลือง จุดประสีเทาปนน้ำตาล , สีเทาปนชมพูบางพื้นที่ อาจพบศิลาแลงอ่อนปะปน อาจพบก้อนสารเคมีพวกปูนและเหล็กปะปนอยู่ เกิดจากตะกอนลำน้ำระดับกลาง น้ำแช่ขังลึก 20-30 ซม. นาน 3 - 4 เดือน ดินลึก มีการระบายน้ำค่อนข้างเลว มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ pH 4.5-5.0 ได้แก่ชุดดินวิเชียรบุรี ชุดดินมาขาม ปัจจุบันพื้นที่นี้มักปล่อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่าหรือเป็นป่าละเมาะเล็ก ๆ มีส่วนน้อยที่ใช้ทำนา แต่มักให้ผลผลิตต่ำ

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินเป็นทราย ดินล่างแน่นทึบไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช ฤดูฝนขังน้ำนาน แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงดินจะขาดน้ำ ปัจจุบันจะเป็นป่าละเมาะ มีส่วนน้อยที่ใช้ทำนา ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 19 พบบริเวณตะพักลำน้ำระดับต่ำถึงระดับกลาง การระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงดีปานกลาง แต่เนื้อดินค่อนข้างเป็นทราย สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาด มีศักยภาพค่อนข้างไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว เพราะมักจะขาดน้ำในการปลูกแม้แต่ในช่วงฤดูฝน อย่างไรก็ตาม กลุ่มชุดดินนี้ได้ใช้ประโยชน์ในการปลูกทั้งพืชไร่และปลูกข้าว แต่ให้ผลผลิตต่ำถึงค่อนข้างต่ำ

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 19

ปลูกข้าวหรือทำนา ปัญหาดินแน่นหลังการทำเทือก ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ ปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบลงไปในดินก่อนปลูกข้าวประมาณ 1 เดือน ข้าวพันธุ์ที่ แนะนำ ข้าวนาปี หรือข้าวไวต่อช่วงแสงได้แก่ พันธุ์เหลืองประทิว เหมยนอง 62 หางยี 71 นางพญา 132 ข้าวปากหม้อ 148 สันป่าตอง ฯลฯ สำหรับข้าวนาปรังหรือข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงได้แก่ พันธุ์ กข.1-9

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ใส่ปุ๋ยเคมีสำหรับข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ครั้งแรกใช้สูตร 10-20-0 หรือ 20-20-0 หรือ 18-12-6 อัตรา 20 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์อัตรา 7 กก./ไร่ หรือใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 อัตรา 20 กก./ไร่ แต่งหน้าด้วยปุ๋ยแอมโมเนียม คลอไรด์ 12 กก./ไร่ หรือปุ๋ยยูเรีย 6 กก./ไร่ สำหรับข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง ใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 18-22-0 หรือ 20-20-0 สูตรใดสูตรหนึ่ง อัตรา 35 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ 7 กก./ไร่ หรือใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 อัตรา 35 กก./ไร่ แล้วใส่ปุ๋ยแต่งหน้าด้วยปุ๋ยแอมโมเนียม คลอไรด์ 25 กก./ไร่หรือปุ๋ยยูเรีย 13 กก./ไร่ วิธีการใส่ให้ใส่ก่อนปักดำ 1 วัน หรือใส่ตอนปักดำ ส่วน การใส่ครั้งที่สอง ใส่ก่อนข้าวออกดอก 30 วัน หรือใส่หลังครั้งแรก 30-40 วัน

ปลูกพืชไร่ ปัญหาดินค่อนข้างเป็นทราย ความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำและการชะล้างธาตุอาหารพืชไปจากดินสูง - ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอัตรา 1-3 ตัน/ไร่ - ปลูกพืชปุ๋ยสดไถกลบลงไปในดิน ปัญหาดินมีการระบายน้ำค่อนข้างเลว ทำร่องระบายน้ำรอบพื้นที่ปลูก ขนาดกว้างระหว่าง 1.0-1.5 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร และภายในพื้นที่ปลูกทำร่องระบายน้ำขนาด 50 x 50 x 50 ซม. และห่างกันระหว่างร่อง 10-15 เมตร และขุดร่องให้ต่อเนื่องกับร่องรอบพื้นที่ปลูกจะช่วยการระบายน้ำของดินให้ดีขึ้น

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น มันสำปะหลัง พันธุ์ที่
แนะนำคือ ระยอง 3 ระยอง 60 ใชัปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 100 กก./ไร่ โรยข้างต้นแล้วพรวนดินกลบเมื่อมันอายุ 1-2 เดือน

อ้อย พันธุ์ที่แนะนำ H38-2915 H48-3166 F140 PT52-227 Q38 ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือปุ๋ยสูตรอื่นที่ใกล้เคียงกัน อัตรา 100 กก./ไร่ วิธีใส่สำหรับอ้อยปลูกให้โรยข้างแถวเมื่ออายุ 30 และ 60 วัน ส่วนอ้อยตอแบ่งใส่สองครั้ง ครั้งแรกหลังแต่งกอ ครั้งที่สองใส่หลังครั้งแรก 45-60 วัน โดยโรยสองข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ

ข้าวโพด-ข้าวฟ่าง ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50-75 กก./ไร่ หรือ 16-16-8 อัตรา 40-80 กก./ไร่ โรยข้างแถวหลังปลูกได้ 2 เดือน

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ปัญหาดินมีการระบายน้ำค่อนข้างเลว ทำร่องระบายน้ำรอบพื้นที่ปลูกมีขนาดกว้าง 1.0-1.5 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร และยกร่องปลูกขนาดกว้าง 4-6 เมตรระหว่างร่องปลูกมีร่องระบายน้ำขนาด 75 x75x75 ซม. เพื่อช่วยการระบายน้ำของดินให้ดีขึ้น

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น ยางพารา (ปลูกในภาคตะวันออก) เตรียมดินปลูกใช้ปุ๋ยสูตร 0-3-0 อัตรา 170 กรัม/ต้น คลุกเคล้ากับดินในหลุมปลูก อายุ 2-40 เดือน ใช้ปุ๋ยสูตร 10-5-9 อัตรา 100-300 กรัม/ต้น อายุ 42-72 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 14-4-9 อัตรา 500 กรัม/ต้น หลังเปิดกรีด ใช้ปุ๋ยสูตร 15-5-20 หรือ 15-6-20 อัตรา 500 กรัม/ต้น

มะม่วงหิมพานต์ เตรียมหลุมปลูกใช้ปุ๋ยสูตร 0-3-0 อัตรา 300-350 กรัม/ต้น หรือสูตร 15-30-15 อัตรา 250-300 กรัม/ต้น แบ่งใส่ 4 ครั้งครั้งละเท่า ๆ กัน ใส่เดือนมีนาคม พฤษภาคม สิงหาคมและตุลาคม

มะม่วง ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวนกิโลกรัมของปุ๋ยเคมีที่ใส่/ต้น/ปี เท่ากับครึ่งหนึ่งของอายุต้นมะม่วง ใส่เป็นจุดรอบร่องมีทรงพุ่มแบ่งใส่ปีละ 2 ครั้ง ตอนต้นและปลายฤดูฝน การใส่ปุ๋ยเคมีที่กล่าวควรใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วยอัตรา 20-50 กก./ต้น ใส่รอบรัศมีทางพุ่มแล้วพรวนดินกลบ