กลุ่มชุดดินที่ 18

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินบนเป็นดินร่วนปนทราย สีเทาปนน้ำตาลอ่อน, สีน้ำตาลปนแดงอ่อน ดินล่างเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย สีเทาปนน้ำตาล, สีเทาปนชมพู พบจุดประสีน้ำตาลแก่ สีแดงปนเหลืองปะปน เกิดจากพวกตะกอนลำน้ำพบบริเวณ พื้นที่ราบเรียบหรือค่อนข้างราบเรียบตามลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ น้ำแช่ขังลึก 30 ซม. นานประมาณ 4 เดือน เป็นดินลึก มีการระบายน้ำค่อนข้างเลว มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติค่อนข้างต่ำ ดินชั้นบน pH 6.0-7.0 ส่วนดินชั้นล่าง pHประมาณ 5.5-6.5 ได้แก่ชุดดินเขาย้อย ชลบุรี และโคกสำโรง ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่ใช้ทำนา บางแห่งใช้ปลูกอ้อย หรือปลูกพืชล้มลุกในฤดูแล้ง

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : เนื้อดินเป็นดินทรายหยาบ พืชมีโอกาสเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ ฤดูฝนมีน้ำแช่ขังนาน 4 เดือน

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 18 พบบริเวณที่ราบต่ำ สภาพพื้นที่ราบเรียบถึงเกือบราบเรียบ ดินมีการระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงเลว ในช่วงฤดูฝนมีน้ำขังนานระหว่าง 3-4 เดือน จึงมีศักยภาพเหมาะสมในการทำนามากกว่าการปลูกพืชไร่ พืชผักและไม้ผล ยกเว้นถ้าได้มีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาน้ำขังและการระบายน้ำของดิน อย่างไรก็ตามในสภาพปัจจุบันสามารถปลูกพืชไร่และพืชผักอายุสั้นได้ ในช่วงฤดูแล้ง ถ้ามีน้ำชลประทานและแหล่งน้ำธรรมชาติเสริม

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 18

ปลูกข้าวหรือทำนา ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ข้าวพันธุ์ที่แนะนำ

1.1 ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ได้แก่ ขาวปากหม้อ ขาวตาแห้ง 17 เก้ารวง
เหลืองประทิว 123 น้ำสะกุ่ย 19 ขาวดอกมะลิ 105 นางมล เอส-4 ปทุมธานี 60

1.2 ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง ได้แก่ กข.1-7 กข.9 กข.10 กข.11 กข.21 กข.25 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 70 พิษณุโลก 60-2 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 35 กก./ไร่ หรือสูตร 16-16-8 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 25-35 กก./ไร่ หรือปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 20-20-0 อัตรา 30 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับปุ๋ยยูเรีย อัตรา 15-20 กก./ไร่ การใส่ให้แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งละเท่า ๆ กัน ครั้งแรกใส่ระยะปักดำ และครั้งที่สองใส่หลังครั้งแรก ประมาณ 30 วัน หรือระยะที่ต้นข้าวตั้งท้อง สำหรับปุ๋ยที่ใส่ร่วมก็ให้แบ่งใส่ 2 ครั้งเช่นเดียวกัน ปัญหาดินแน่นหลังจากการทำเทือกปักดำ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก อัตรา 1.5-2.0 ตัน/ไร่ ในระยะเตรียมดินก่อนปักดำข้าวหรือปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ปอเทือง โสน โสนอัฟริกัน ฯลฯ เป็นปุ๋ยพืชสด ปลูกก่อนปลูกข้าว 2-3 เดือนแล้วไถกลบ เมื่อพืชตระกูลถั่วออกดอกหรือไถกลบฟางข้าวและเศษหญ้าลงไปในดิน ทิ้งไว้ให้สลายตัว เป็นอินทรียวัตถุจะช่วยทำให้ดินร่วนซุยอีกทางหนึ่ง

ปลูกพืชไร่ ปัญหาการระบายน้ำของดินค่อนข้างเลวถึงเลว และน้ำท่วมขังในฤดูฝน การเตรียมพื้นที่ปลูก ในกรณีปลูกพืชไร่ในช่วงฤดูแล้งหลังการเก็บเกี่ยวข้าว หรือกรณีเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไปเป็นปลูกพืชไร่แบบถาวร ให้ทำคันดินล้อมและขุดยกร่องและคูระบายน้ำ ปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 1 ปัญหาดินไม่ร่วนซุยเท่าที่ควร แก้ไขโดยการใช้อินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมัก อัตรา 1-2 ตัน/ไร่

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น พืชตระกูลถั่ว (ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24 อัตรา 20-30 กก./ไร่ หรือ สูตร 10-20-10 อัตรา 25-35 กก./ไร่ ใส่ตอนปลูกหรือหลังปลูก 20-25 วัน โดยใส่รองก้นหลุมหรือโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ

ข้าวโพดและข้าวฟ่าง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 20-25 กก./ไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 10-15 กก./ไร่ ใส่ตอนปลูกและหลังปลูก 20-25 วัน โดยใส่รองก้นหลุมและโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ

ฝ้าย ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 14-14-14 หรือ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา
35-45 กก./ไร่ ใส่ตอนปลูกและหลังปลูกแบ่งครึ่ง ครั้งแรกรองก้นหลุมปลูก ครั้งที่สองโรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝนและดินระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงเลว ปฏิติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 1 ในกรณีเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดินจากนาข้าวเป็นที่ปลูกไม้ผลถาวร

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น มะม่วง ใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา
ครึ่งหนึ่งของจำนวนอายุ เช่น มะม่วงอายุ 10 ปี ใส่ปุ๋ยจำนวน 5 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง คือ 1 ใน 3 ส่วน ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ใส่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ครั้งที่สองใส่อีก 1 ใน 3 ส่วน ใส่ปุ๋ยสูตร
15-15-15 ใส่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม และปุ๋ยที่เหลือ 1 ใน 3 ส่วนใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24 ใส่ในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม

ฝรั่ง พันธุ์ที่แนะนำได้แก่ กลมสาลี ทูลเกล้า เวียดนาม ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตราประมาณ 1 กก./ต้น/ปี ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 10 กก./ต้น

กล้วยหอม ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเมื่ออายุ 1 สัปดาห์ 1 เดือน และ 2 เดือน ครั้งละประมาณ 5 กก./ต้น ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 1 กก./ต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง เมื่ออายุ 3 เดือน และ 5 เดือน

ขนุน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-10 อัตรา 100-200 กรัม/ต้น/ครั้ง อายุ 1-3 ปี ใส่ 6 ครั้ง/ปี อายุ 4-6 ปี ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หนึ่งครั้งต่อปี อัตรา 20-30 กก./ต้น ใส่ห่างต้น ก่อนออกดอก 3 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กก./ต้น ปลายฤดูฝนใส่ปุ๋ยสูตร 14-14-21 อัตรา 1-2 กก./ต้น/ปี