กลุ่มชุดดินที่ 16

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นพวกดินร่วนปนทรายแป้ง สีดินมีสีน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลปนเทา และมีจุดประสีน้ำตาลเข้ม สีเหลือง หรือสีแดง ในดินชั้นล่างอาจพบพวกเหล็กและแมงกานีสปะปน กลุ่มดินนี้เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินพวกตะกอนลำน้ำ พบบริเวณพื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ ตามลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ มีน้ำแช่ขังลึกน้อยกว่า 30 ซม. นาน 4 - 5 เดือน เป็นดินลึกมาก มีการระบายน้ำเลว มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำหรือค่อนข้างต่ำ pH 5.0-6.0 ได้แก่ชุดดินหินกอง ศรีเทพ และพานทอง ลำปาง เกาะใหญ่ ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่ใช้ทำนา

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : หน้าดินแน่นทึบทำให้ข้าวแตกกอได้ยาก ความ
อุดมสมบูรณ์ต่ำ ฤดูฝนมีน้ำแช่ขังนาน 4 - 5 เดือน

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 16 มีศักยภาพเหมาะสมที่จะใช้ทำนามากกว่าการปลูกพืชไร่ ไม้ผลและพืชผัก เนื่องจากพบในสภาพพื้นที่ราบเรียบถึงเกือบราบเรียบ ลักษณะเนื้อดินละเอียดปานกลาง มีสภาพการระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงเลวในช่วงฤดูฝนมีน้ำขังที่ผิวดิน 3-4 เดือน อย่างไรก็ตามในฤดูแล้งสามารถปลูกพืชไร่และพืชผักได้ ถ้ามีน้ำชลประทานหรือแหล่งน้ำธรรมชาติช่วยเสริม ในบางพื้นที่เกษตรกรได้ปฏิบัติอยู่แล้ว

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 16

ปลูกข้าวหรือทำนา ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ พันธุ์ข้าวที่แนะนำ ปทุมธานี 60 สุพรรณบุรี 60 ขาวดอกมะลิ 105 ขาวตาแห้ง เก้ารวง 88 เหนียวสันป่าตอง เหลืองใหญ่
กข.4 กข.6 กข.8 กข.15 กข.17 กข.23 กข.25 ฯลฯ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 35 กก./ไร่ หรือสูตร 16-16-8 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 25-35 กก./ไร่ หรือปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 20-20-0 อัตรา 30 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับปุ๋ยยูเรีย อัตรา 15-20 กก./ไร่ การใส่ให้แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งละเท่า ๆ กัน ครั้งแรกใส่ระยะปักดำและครั้งที่สองใส่หลังครั้งแรกประมาณ 30 วัน หรือระยะที่ต้นข้าวตั้งท้อง สำหรับปุ๋ยที่ใส่ร่วมก็ให้แบ่งใส่ 2 ครั้งเช่นเดียวกัน ปัญหาดินแน่นหลังจากการทำนา ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก อัตรา 1.5-2.0 ตัน/ไร่ ในระยะเตรียมดินก่อนปักดำข้าวหรือปลูกพืชตระกูลถั่วเป็นปุ๋ยพืชสด ปลูกก่อนปลูกข้าว 2-3 เดือนแล้วไถกลบ

ปลูกพืชไร่ ปัญหาการระบายน้ำของดินค่อนข้างเลวถึงเลวและน้ำท่วมขังในฤดูฝน การเตรียมพื้นที่ปลูก ในกรณีปลูกพืชไร่ในช่วงฤดูแล้งหลังการเก็บเกี่ยวข้าวและหรือเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดินจากนาไปเป็นปลูกพืชไร่ถาวร ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 1 ปัญหาดินไม่ร่วนซุยเท่าที่ควร แก้ไขโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ หว่านให้ทั่วแปลงแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากับดินก่อนปลูก 7-14 วัน

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น พืชตระกูลถั่ว (ถั่วเหลือง
ถั่วเขียว ถั่วลิสง) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24 อัตรา 20-30 กก./ไร่ หรือสูตร 10-20-10 อัตรา 25-35 กก./ไร่ ใส่ตอนปลูกหรือหลังปลูก 20-25 วัน โดยใส่รองก้นหลุมหรือโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ

ข้าวโพดและข้าวฟ่าง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 อัตรา 30-40 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 20-25 กก./ไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 10-15 กก./ไร่ ใส่ตอนปลูกและหลังปลูก 20-25 วัน โดยใส่รองก้นหลุมและโรยข้างแถวปลูกแล้วพรวนดิน

ฝ้าย ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 14-14-14 หรือ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 35-45 กก./ร่ ใส่ตอนปลูกและหลังปลูก แบ่งครึ่งครั้งแรกรองก้นร่องปลูก ครั้งที่สองโรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝนและดินระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงเลว ในกรณีเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดิน จากนาข้าวเป็นที่ปลูกไม้ผลถาวร ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเปลี่ยนพื้นที่เป็นการปลูกพืชไร่แบบถาวร เตรียมหลุมปลูกขนาด 50 x 50 x 50 ซม. คลุมเคล้าดินในหลุมปลูกด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 25-30 กก./หลุม

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น มะม่วง พันธุ์ที่แนะนำ ได้แก่ เขียวเสวย หนองแซงทองคำ น้ำดอกไม้ หนังกลางวัน ใส่ปุ๋ยเคมีอัตราครั้งหนึ่งของจำนวนอายุ เช่น มะม่วงอายุ 10 ปี ใส่ปุ๋ยจำนวน 5 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง คือ 1 ใน 3 ส่วน ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ใส่ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน ครั้งที่สองใส่อีก 1 ใน 3 ส่วน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม และปุ๋ยที่เหลือ 1 ใน 3 ส่วน ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24 ใส่ในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม

มะละกอ พันธุ์ที่แนะนำ ได้แก่ โกโก้ แขกดำ จำปาดะ
สายน้ำผึ้ง ฮาวาย มาเลเซีย ควรใส่ปุ๋ยสูตร 14-12-12 หรือ 20-15-15 อัตรา 1 กก./ต้น ระยะต้นอ่อนถึงก่อนออกดอก หลังจาก 1 ปีขึ้นไปใส่ประมาณ 1-1.5 กก./ต้น

ฝรั่ง พันธุ์ที่แนะนำ กลมสาลี่ ทูลเกล้า เวียดนาม ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตราประมาณ 1 กก./ต้น/ปี ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 10 กก./ต้น

กล้วยหอม พันธุ์ที่แนะนำ ได้แก่ กล้วยหอมทอง ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเมื่ออายุ 1 สัปดาห์ 1 เดือน และ 2 เดือน ครั้งละประมาณ 5 กก./ต้น ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 1 กก./ต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง เมื่ออายุ 3 เดือนและ 5 เดือน