กลุ่มชุดดินที่ 15

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : หน่วยที่ดินนี้เป็นกลุ่มชุดดิน ที่มีเนื้อดินเป็นพวกดินร่วนเหนียวหรือดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง ดินบนมีสีน้ำตาลปนเทา ดินล่างสีน้ำตาลหรือสีเทาปนชมพูพบจุดประสีเหลืองหรือสีน้ำตาลปนเหลืองตลอดชั้นดิน ในดินชั้นล่างมักพบก้อนสารเคมีสะสมพวกเหล็กและแมงกานีส กลุ่มชุดดินนี้เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินพวกตะกอนลำน้ำ พบบริเวณพื้นที่ราบเรียบหรือค่อนข้างราบเรียบเป็นดินลึกมาก มีการระบายน้ำค่อนข้างเลว ดินมีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติค่อนข้างต่ำถึงปานกลาง ปฏิกิริยาดินเป็นกรดปานกลางถึงเป็นกลาง มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 6.0-7.5 ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่ใช้ทำนา ในฤดูแล้งบริเวณใกล้แหล่งน้ำใช้ปลูกยาสูบ พืชผักต่าง ๆ หรือพืชไร่บางชนิด ถ้ามีระบบชลประทานใช้ทำนาได้ 2 ครั้ง ในรอบปี ตัวอย่างชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชุดดินแม่สาย ชุดดินน่าน ชุดดินหล่มสักชุดดิน แม่ทะ ชุดดินเฉลียงลับ ชุดดินลับแล

ปัญหาสำคัญในการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยทั่วไปไม่มี แม้บางแห่งดินมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำแต่พอปรับปรุงได้ไม่ยาก

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : เมื่อพิจารณาถึงสถาพพื้นที่ ลักษณะเนื้อดินและการระบายน้ำของดิน กลุ่มชุดดินที่ 15 มีความเหมาะสมในการทำนามากกว่าการปลูกพืชไร่ ไม้ผลและพืชผัก ซึ่งเกษตรกรก็ได้ใช้ประโยชน์ในการทำนาอยู่แล้วในช่วงฤดูฝน อย่างไรก็ตามกลุ่มชุดดินนี้ยังสามารถปลูกพืชไร่ และพืชผักต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีในช่วงฤดูแล้ง ถ้ามีน้ำชลประทานและเกษตรกรได้ปฏิบัติกันอยู่แล้วในบางพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือก

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 15

ปลูกข้าวหรือทำนา ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่างใส่ปุ๋ยอินทรีย์พวก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อัตรา 1.5-2.0 ตัน/ไร่ ในระยะการไถเตรียมดินก่อนปักดำข้าวหรืออาจจะมีการปลูกพืชตระกูลถั่ว เป็นปุ๋ยพืชสดโดยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 5 กก./ไร่ หว่านก่อนถึงฤดูทำนาประมาณ 2-3 เดือน แล้วจึงไถกลบ การใส่ปุ๋ยเคมี ควรใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรก ใส่ก่อนปักดำ 1 วัน หรือใส่วันปักดำแล้วคราดกลบ โดยใช้ปุ๋ย 16-20-0 หรือ 20-20-0 อัตรา 20 กก./ไร่ สำหรับข้าวพันธุ์ไวต่อช่วงแสง และอัตรา 35 กก./ไร่ สำหรับข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสง ครั้งที่สอง ใส่ก่อนระยะข้าวออกดอกประมาณ 30 วัน หรือหลังจากปักดำแล้วประมาณ 30-45 วัน โดยหว่านให้ทั่วแปลง เป็นการใส่ปุ๋ยแต่งหน้าด้วยปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 15 กก./ไร่ หรือปุ๋ยยูเรีย อัตรา 6 กก./ไร่ สำหรับข้าวพันธุ์ไวต่อช่วงแสงหรือใส่ปุ๋ยแอมโมเนียม อัตรา 13 กก./ไร่ สำหรับข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสง พันธุ์ข้าวนาปี (นาดำ) พันธุ์ไวต่อช่วงแสง ได้แก่ ขาวดอกมะลิ 105 เหนียวสันป่าตอง เหลืองใหญ่ 148 เหมยนอง พันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสง ได้แก่ พันธุ์ กข.4 กข.6 กข.8 ข้าวนาปรัง ได้แก่ พันธุ์ กข.23, กข.25

ปลูกพืชไร่ ปัญหาการระบายน้ำของดินเลวและน้ำท่วมขังในฤดูฝน การเตรียมพื้นที่เพาะปลูก

1. ในกรณีปลูกพืชไร่ในช่วงฤดูแล้ง หรือหลังการเก็บเกี่ยวข้าวควรดำเนินการ ดังต่อไปนี้ ให้ทำร่องระบายน้ำรอบกกกระทงนา และทำร่องภายในกระทงนาในกรณีที่กระทงนาใหญ่ ซึ่งห่างกันประมาณ 10-15 เมตร และร่องมีความกว้าง 40-50 ซม. ลึกประมาณ 20-30 ซม. ซึ่งร่องที่กล่าวนี้จะช่วยระบายน้ำผิวดินและสะดวกในการให้น้ำและเข้าไปดูแลพืชที่ปลูก

2. ในกรณีเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดิน จากนาข้าวเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่อย่างถาวร คือปลูกทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ให้ทำคันดินรอบพื้นที่ปลูกและให้ยกร่องปลูกแบบถาวร สันร่องปลูกกว้าง 6-8 เมตร มีคูระบายน้ำกว้างประมาณ 1.5 เมตร และลึกประมาณ 1 เมตร บนสันร่องปลูก อาจแบ่งซอยเป็นสันร่องย่อย โดยยกแปลงให้สูงขึ้น 10-20 ซม. และกว้าง 1.5-2.0 เมตร เพื่อช่วยระบายน้ำบนสันร่องและสะดวกในการเข้าไปดูแลพืชที่ปลูก

ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่างและดินค่อนข้างไม่ร่วนซุย ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ หว่านให้ทั่วแปลงแล้วไถกลบก่อนปลูก 7-14 วัน ส่วนปุ๋ยเคมี เช่น

พืชตระกูลถั่ว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-46-0 อัตรา 15-20 กก./ไร่ หรือสูตร 0-20-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ หรือสูตรอื่นที่มีธาตุอาหารของพืชเท่าเที่ยมกัน ใส่รองก้นร่องปลูกหรือโรยสองข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบเมื่อถั่วอายุได้ 20-25 วัน

ข้าวโพดและข้าวฟ่าง ใส่ปุ๋ยสูตร 20-20-0 อัตรา 40-50 กก./ไร่ หรือสูตร 23-23-0 อัตรา 35-45 กก./ไร่ หรือสูตร 25-25-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ โรยข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบเมื่อข้าวโพด ข้าวฟ่างอายุ 20-25 วัน หรือใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ โดยใส่รองก้นหลุม ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 20-30 กก./ไร่ หรือ 46-0-0 อัตรา 10-15

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ปัญหาน้ำท่วมหรือปัญหาน้ำแช่ขัง ทำคันดินล้อมรอบพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วม ยกร่องขึ้นแปลงปลูกไม้ผล เพื่อป้องกันการแช่ขังของน้ำและเพื่อระบายน้ำออกในช่วงที่มีระดับน้ำใต้ดินตื้น

- เตรียมหลุมขนาด 50 x 50 x 50 ซม. คลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 25-30 กก./หลุม

ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่าง เช่น มะม่วง พันธุ์ที่แนะนำได้แก่ เขียวเสวย ทองดำ ฟ้าลั่น หนังกลางวัน น้ำดอกไม้ การใส่ปุ๋ยเคมี ให้ใส่อัตราครึ่งหนึ่งของจำนวนอายุ เช่น มะม่วงอายุ 10 ปี ก็ใส่ปุ๋ยจำนวน 5 กก./ต้น โดย 1:3 ส่วน ใช้ปุ๋ย 13-13-21 ใส่ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 1:3 ส่วนใช้ปุ๋ย 15-15-15 ใส่ในช่วงเดือนพฤษภาคม และใส่ปุ๋ยที่เหลืออีก 1:3 ส่วนในรูปของปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 8-24 -24 ในช่วงเดือนกันยายน -ตุลาคม

มะละกอ พันธุ์ที่แนะนำได้แก่ โกโก้ แขกดำ จำปาดะ สายน้ำผึ้ง ฮาวาย มาเลเซีย ปุ๋ยเคมี ควรใช้สุตร 14-12-12 หรือ 20-15-15 ควรใส่ครั้งแรกหลังจากย้ายหลังย้ายปลูก 2-3 อาทิตย์ มะละกออายุได้ 1 ปี ใส่ปุ๋ย 1 กก./ต้น หลังจากอายุ ได้ 1 ปีขึ้นไปใส่ประมาณ 1-1.5 กก./ต้น

ฝรั่ง พันธุ์ที่แนะนำได้แก่ พันธุ์เวียดนาม ทูลเกล้า กลมสาลี ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตราประมาณ 1 กก./ต้น/ปี ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอัตรา 10 กก./ต้น

กล้วยหอม พันธุ์ที่แนะนำได้แก่ กล้วยหอมทอง ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เมื่ออายุได้ 1 สัปดาห์ 1 เดือน และ 2 เดือน ตามลำดับครั้งละประมาณ 5 กก./ต้น ปุ๋ยเคมีสูตร
15-15-15 อัตรา 1 กก./ต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง เมื่ออายุ 3 เดือนและ 5 เดือน

ลำใย -เมื่อต้นลำใยเริ่มให้ผล ควรงดการให้น้ำช่วงเดือนธันวาคม- มกราคม ควรทำความสะอาดบริเวณโคนต้น ถากหญ้าและเก็บกวาดใบที่ร่วงออกเพื่อให้หน้าดินแห้ง - เดือนกุมภาพันธ์ ลำใยแทงช่อดอก เริ่มให้น้ำโดยค่อย ๆ เพิ่มปริมาณจนถึงปกติ เดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ใส่ปุ๋ยบำรุงผล สูตร 12-12-17-2 หรือปุ๋ยสูตรเสมอในอัตราครึ่งหนึ่งของอายุต้นและควรมีการค้ำยันกิ่งและฉีดสารเคมีป้องกันโรคและแมลงด้วย ช่วงเดือนกรกฏคมถึงสิงหาคม ควรมีการลดการให้น้ำลงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ควรมีการตัดแต่งกิ่งฉีดยาป้องกันโรคแมลงและใส่ปุ๋ยบำรุงต้นสูตร 15-15-15 อัตราครึ่งหนึ่งของอายุต้น

ลิ้นจี่ ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม เป็นระยะที่ลิ้นจี่พักตัวเพื่อสร้างตาดอก จึงควรมีการงดการให้น้ำทำการตัดแต่งกิ่ง ทำความสะอาดบริเวณโคนต้น ช่วงปลายเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จะเริ่มเห็นตาดอกชัดเจน จึงเริ่มให้น้ำโดยค่อย ๆ เพิ่มปริมาณจนถึงปกติ เมื่อติดผลอ่อนควรมีการใส่ปุ๋ย เพื่อบำรุงผลโดยใช้ปุ๋ยสูตรเสมอหรือสูตร 12-12-12 อัตราครึ่งหนึ่งของอายุของต้นร่วมกับการใส่ปุ๋ยคอก 10-20 กก./ต้น ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ควรลดการให้น้ำลงก่อนการเก็บเกี่ยวช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมหลังการเก็บเกี่ยว ควรมีการตัดแต่งกิ่งโดยเร็วและควรใส่ปุ๋ยคอกบำรุงต้น ถ้าเป็นพวกมูลวัว มูลควาย ใส่ตามอายุของลิ้นจี่ เช่น อายุ 5-10 ปี ให้ใส่ 5-10 ปี แต่ถ้าเป็นมูลไก่ควรลดเหลือ 50 % หรือถ้าเป็นมูลค้างคาวลดลงเหลือ 10 %