กลุ่มชุดดินที่ 14

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : หน่วยที่ดินนี้เป็นกลุ่มชุดดินที่มีเนื้อดินเป็นพวกดินเหนียว ดินบนมีสีดำหรือสีเทาปนดำ ซึ่งมีปริมาณอินทรียวัตถุสูง ดินล่างสีเทา มีจุดประสีเหลืองและสีน้ำตาลปะปนเล็กน้อย ดินล่างช่วงลึกกว่า 80 ซม. มีลักษณะเป็นดินเลนสีเทาปนสีเขียวที่มีสารประกอบกำมะถันมาก พบบริเวณที่ลุ่มต่ำชายฝั่งทะเลหรือบริเวณพื้นที่พรุ เป็นดินลึก มีการระบายน้ำเลวมาก มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติค่อนข้างต่ำ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมาก มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างน้อยกว่า 4.5 ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นป่าเสม็ด มีวัชพืชต่าง ๆ เช่น กก กระจูด และหญ้าชันกาศ เป็นพืชพื้นล่าง บางแห่งใช้ทำนาแต่ให้ผลผลิตต่ำ ตัวอย่างชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชุดดินระแงะ ชุดดินต้นไทร

ปัญหาสำคัญในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ของหน่วยที่ดินนี้ได้แก่ เป็นดินกรดกำมะถันหรือดินเปรี้ยวจัด อีกทั้งจะเป็นกรดเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าหากมีการทำให้ดินแห้งเป็นระยะเวลา นาน ๆ ติดต่อกันหลาย ๆ ปี นอกจากนี้ในช่วงฤดูเพาะปลูกมักมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมเกิดขึ้นเสมอๆ

ความเหมาะสมของดินสำหรับปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 14 ส่วนใหญ่ พบในสภาพพื้นที่ราบเรียบและราบลุ่ม มีน้ำขังแฉะเป็นระยะเวลานานในรอบปี ลักษณะเนื้อดินค่อนข้างเหนียว มีปฏิกิริยาของดินเป็นกรดจัดถึงจัดมาก ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ ศักยภาพในการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสม ได้แก่การทำนา และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในสภาพปัจจุบันไม่เหมาะสมในการปลูกพืชไร่ พืชผัก และไม้ผล เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ดินเปรี้ยวจัด สภาพการระบายน้ำเลวถึงเลวมาก มีน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานในรอบปี และดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ หรือขาดธาตุอาหารที่จำเป็นบางอย่าง การใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชไร่พืชผัก และไม้ผล ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขโดยเฉพาะการป้องกันน้ำท่วมขังและการระบายน้ำของดิน ตลอดทั้งการแก้ไขความเป็นกรดจัดของดิน การใช้ประโยชน์กลุ่มชุดดินนี้ที่เหมาะสมน่าจะเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน ระหว่างการทำนาข้าว เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการปลูกไม้ยืนต้นที่ทนต่อสภาพความเป็นกรดจัดของดินและสภาพที่มีน้ำขังแฉะเป็นเวลานานในรอบปี

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 14

ปลูกข้าวหรือทำนา ปัญหาดินเป็นกรดจัด ใช้หินปูนบดหรือหินปูนฝุ่นในอัตราดังนี้ เขตชลประทาน pH ดินน้อยกว่า 4 ใช้อัตรา 2 ตัน/ไร่ pH ดิน 4-4.5 ใช้อัตรา 1 ตัน/ไร่ เขตเกษตรน้ำฝน pH ดินน้อยกว่า 4 ใช้อัตรา 2.5 ตัน/ไร่ -pH ดิน 4-4.5 ใช้อัตรา 1.5 ตัน/ไร่ ใช้น้ำล้างความเป็นกรด ในกรณีที่มีแหล่งน้ำมากพอ โดยปล่อยน้ำขังในนาแล้วถ่ายออกหลาย ๆ ครั้ง

ครั้งที่ 1 หลังไถดะ ปล่อยน้ำแช่ขัง 1 สัปดาห์ แล้วถ่ายออก

ครั้งที่ 2 หลังไถแปร ปล่อยน้ำแช่ขัง 10 วัน แล้วถ่ายออก

ครั้งที่ 3 หลังปักดำ ปล่อยน้ำแช่ขัง 2 สัปดาห์ แล้วถ่ายออกต่อจากนั้นถ่ายน้ำ 4-5 สัปดาห์/ครั้ง จนข้าวตั้งท้อง

พันธุ์ข้าวที่แนะนำ นาปี ได้แก่ แก่นจันทร์ ข้าวลูกแดง ตำเมไหร อัลฮัมดูลัลละห์ ช่อนางเอื้อง นาปรัง ได้แก่ กข.21 กข.23 กข.4 สุพรรณบุรี90

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 หรือ 16-16-8 อัตรา 25-40 กก./ไร่ หว่านให้ทั่วแปลงก่อนปักดำ 1 วัน หลังจากนั้นใช้ปุ๋ยยูเรีย 5-10 กก./ไร่ ในช่วงตั้งท้องหรือเมื่อเริ่มสร้างรวง

ปลูกพืชไร่ ปัญหาดินมีการระบายน้ำเลวและมีน้ำแช่ขังในช่วงฤดูฝน ทำการทำคันดินรอบพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม ยกร่องปลูกมี 2 แบบ

1. ยกร่องปลูกแบบถาวร โดยให้สันร่องกว้าง 6-8 ม. มีคูน้ำกว้าง 1.5-2.0 ม. ลึก 80-100 ซม. และทำแปลงย่อยบนสันร่องสูง 25-30 ซม. กว้าง 1-2 ม.

2. ปลูกหลังฤดูทำนา (ฤดูแล้ง) ยกแนวร่องปลูกให้สูงขึ้นประมาณ 10-20 ซม. เพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำแช่ขัง ถ้ามีฝนตกผิดฤดูกาล

ปัญหาดินเป็นกรดจัด ใช้หินปูนบดหรือหินปูนฝุ่นในอัตราดังนี้

1. เขตชลประทาน

- ดิน pH น้อยกว่า 4 ใช้อัตรา 2 ตัน/ไร่

- ดิน pH 4-4.5 ใช้อัตรา 1 ตัน/ไร่

2. เขตเกษตรน้ำฝน

- ดิน pH น้อยกว่า 4 ใช้อัตรา 2.5 ตัน/ไร่

- ดิน pH 4-4.5 ใช้อัตรา 1.5 ตัน/ไร่

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำหรือขาดแร่ธาตุอาหารบางชนิด เช่น ข้าวโพดใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 10-10-10 อัตรา 50-100 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละเท่ากัน ครั้งที่ 1 ใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก ครั้งที่ 2 ใส่เมื่ออายุ 25 วัน ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 10 กก./ไร่ ใส่เมื่ออายุ 25-30 วัน โดยโรยสองข้างแถวข้าวโพดแล้วกลบ

ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 20 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละเท่า ๆ กัน ครั้งที่ 1 ใส่รองพื้นก่อนปลูก ครั้งที่ 2 เมื่ออายุได้ 20-25 วัน

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น การเตรียมพื้นที่ ปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกพืชไร่แบบถาวร คือสร้างคันดินขนาดใหญ่ล้อมแปลงพร้อมติดตั้ง เครื่องสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำ

ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น ปาล์มน้ำมัน อายุ 1 ปี ใส่ปุ๋ย 5 ครั้ง สูตรปุ๋ย 12-12-17 หรือ 13-13-21 อัตรา 2.0-2.5 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง และใส่ปุ๋ยสูตร
21-0-0 อัตรา 2.0-2.5 กก./ต้น/ปี หรือ 46-0-0 อัตรา 1.0-1.2 กก./ต้น อายุ 2-4 ปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง ต้น กลางฤดูฝนใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 15-15-21 อัตรา 3.0-5.0 กก./ต้น และปลายฤดูฝน ใช้ปุ๋ยสูตร 12-12-17 อัตรา 3.0-6.5 กก./ต้น อายุ 5 ปีขึ้นไปแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง ต้น กลาง และปลายฤดูฝน ใช้ปุ๋ยสูตร 14-9-21 หรือ 14-9-20 หรือ 12-9-21 อัตรา 8-9 กก./ต้น ร่วมกับโบแรกซ์ 50-100 กรัม/ต้น/ปี

มะม่วงก่อนตกผล (อายุ 0-4 ปี) ใส่ปุ๋ย 4 ครั้ง เดือนมีนาคม พฤษภาคม สิงหาคม และตุลาคม ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 400-500 กรัม/ต้น x อายุปี หรือสูตร
15-30-15 อัตรา 300-400 กรัม/ต้น x อายุปี ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 200-250 กรัม/ต้น x อายุปี หรือปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 100-125 กรัม/ต้น x อายุปี หรือ สูตร 20-20-10 อัตรา 500-600 กรัม/ต้น x อายุปี ตกผลแล้ว ใส่ปุ๋ยหลังเก็บและใส่คงที่เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต อายุ 12 ปี แล้ว 2 ครั้ง และหลังติดผลแล้ว 1 ครั้ง ใส่ปุ๋ยสูตร 14-9-20 หรือ 15-5-20 อัตรา 500-600 กรัม/ต้น x อายุปี ร่วมกับปุ๋ยสูตร 14-0-20 อัตรา 100-150 กรัม/ต้น x อายุปี หรือสูตร 15-3-12 อัตรา 500-600 กรัม/ต้น x อายุปี หรือสูตร 15-5-2 อัตรา 800-900 กรัม/ต้น x อายุปี

มะพร้าว อายุ 1-5 ปี ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ในช่วงต้นและปลายฤดูฝนใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 1.0กก./ต้น x อายุปี ร่วมกับปุ๋ยสูตร 0-0-6 อัตรา 0.5 กก./ต้น x อายุปี อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ใส่ปุ๋ย 2 ครั้งในช่วงต้นและปลายฤดูฝน ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 6 กก./ต้น x อายุปี หรือ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 0.5
กก./ต้น x อายุปี ร่วมกับปุ๋ยสูตร 0-0-6 กก./ต้น x อายุปี