กลุ่มชุดดินที่ 13

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : ดินนี้มีลักษณะดิน สภาพแวดล้อม และการใช้ประโยชน์ที่ดินคล้ายคลึงกับกลุ่มดินที่ 12 แต่เป็นดินที่มีสารประกอบกำมะถันปะปนอยู่มาก ตามปกติเมื่อเปียกดินจะเป็นกลางหรือเป็นด่างแต่เมื่อมีการระบายน้ำออกไปหรือทำให้ดินแห้งสารประกอบกำมะถันจะแปรสภาพปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดมาก การจัดการที่ดินจึงยุ่งยากขึ้นเป็นทวีคูณดินกลุ่มนี้จัดเป็นดินเค็มที่มีกรดแฝงอยู่ ได้แก่ ชุดดินบางปะกง ชุดดินตะกั่วทุ่ง ปกติบริเวณที่พบเหล่านี้ มักมีป่าชายเลนขึ้นปกคลุม ปัจจุบันมีพื้นที่จำนวนมากที่ดัดแปลงมาใช้ทำนากุ้ง เลี้ยงปลา หรือทำนาเกลือ การทำนากุ้ง ถ้าไม่มีการจัดการที่เหมาะสมผลผลิตมักลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเกิดกรดและการเกิดสารพิษบางชนิด เช่น ก๊าซไข่เน่า

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : เมื่อดินเปียกจะเค็ม เมื่อแห้งจะเป็นกรดจัดมาก น้ำทะเลท่วมถึง

ความเหมาะสมสำหรับปลูกพืช : กลุ่มชุดดินที่ 13 มีศักยภาพไม่เหมาะสมในการปลูกพืช เนื่องจากน้ำทะเลท่วมถึงเป็นประจำ ดินเค็มจัดมากเมื่ออยู่ในสภาพเปียก และเปรี้ยวจัดมากในสภาพแห้ง การระบายน้ำเลวมากและดินเป็นดินเลนไม่อยู่ตัว แต่มีศักยภาพเหมาะสมที่จะใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง การทำนาเกลือและรักษาให้คงสภาพเป็นป่าไม้ชายเลน เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้ประโยชน์

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 13

ปลูกข้าวหรือทำนา ปัญหาดินเค็มจัด เนื่องจากน้ำทะเลท่วมถึง ทำคันดินรอบพื้นที่ปลูกพร้อมมีประตูปิด-เปิด เพื่อปัองกันน้ำทะเลเข้าท่วมขังและระบายน้ำเค็มออก ทำร่องระบายน้ำรอบพื้นที่และภายในพื้นที่ เพื่อช่วยลดระดับน้ำใต้ดินและช่วยเร่งการชะล้างเกลือออกจากดิน ทำการชะล้างเกลือออกจากดินด้วย น้ำชลประทานหรือน้ำฝน ตรวจระดับความเค็มของดินให้อยู่ในระดับที่ข้าวสามารถทนทานได้และให้เลือกพันธุ์ข้าวทนเค็มมาปลูก เพื่อเร่งการขับเกลือออกไปจากดินให้ใส่ยิบซั่ม (CaSO4) หรือผงกำมะถัน เพื่อเปลี่ยนเกลือโซเดียมคลอไรด์และโซเดียมคาร์บอเนต ให้เป็นเกลือโซเดียมซัลเฟต ซึ่งจะเป็นพิษแก่พืชน้อย ลดความแน่นทึบของดินและชะล้างเกลือออกไปได้ง่าย พันธุ์ข้าวที่แนะนำ ได้แก่ น้ำสกุ่ย 19 เจ๊กกระโดด ขาวหางเบา ขาวตาอู๋ เก้ารวง คำผาย 14 ขาวตาแห้ง ฯลฯ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวทนเค็มได้ปานกลาง ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตรา 2-3 ตัน/ไร่ การใส่ปุ๋ยข้าวนาปี ใช้สูตร 16-20-0 เพียงอย่างเดียวอัตรา 120-150 กก./ไร่ แบ่งใส่สองครั้งเท่า ๆ กันส่วนที่หนึ่งใส่ระยะปักดำและส่วนที่สองให้ใส่หลังครั้งแรก 30 วัน หรือระยะที่กำเนิดช่อดอก หรือใส่ปุ๋ย 16-20-0 อัตรา 30 กก./ไร่ โดยใส่ร่วมกับแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 75-95 กก./ไร่ หรือยูเรีย อัตรา 35-45 กก./ไร่ การใส่ให้แบ่งปุ๋ยร่วมออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกใส่ร่วมกับปุ๋ยสูตร 16-20-0 ระยะปักดำ ส่วนที่สองใส่หลังครั้งแรก 30 วัน หรือระยะข้าวตั้งรวง การใส่ปุ๋ยข้าวนาปรัง ใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อย่างเดียว อัตรา 85-100 กก./ไร่ หรืออัตรา 30 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับปุ๋ยอื่น ได้แก่แอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 45-60 กก./ไร่ หรือยูเรียอัตรา 20-25 กก./ไร่ วิธีการใส่ให้ใส่เช่นเดียวกับการปลูกข้าวนาปีที่ได้กล่าวมาแล้ว

ปลูกพืชไร่ ปัญหาน้ำทะเลเข้าท่วมถึง ทำคันรอบพื้นที่ปลูกพร้อมมีประตูปิด-เปิด เพื่อป้องกันน้ำทะเลเข้าท่วมถึงและช่วยในการระบายน้ำเค็มออก ปัญหาการระบายน้ำของดินเลวมาก ยกร่องปลูกมีขนาดกว้าง 6-8 เมตร และมีร่องระบายน้ำเค็มอยู่ระหว่างร่องปลูก กว้าง 1.5-2.0 เมตร ขุดให้ต่อเนื่องกับร่องรอบพื้นที่ปลูก ปัญหาดินเค็มจัด ปรับปรุงดินบนสันร่องให้ร่วนซุย โดยการใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก หรือวัสดุปรับปรุงดินอย่างอื่นอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ หว่านให้ทั่วสันร่องเสร็จแล้วใช้จอบสับให้คลุกเคล้ากับดินให้แห้ง เวลาฝนตกลงมาจะช่วยเร่งให้เกลือถูกชะล้างออกไป ทำติดต่อกัน 2-3 ปี ก่อนที่จะปลูกมะพร้าว ปัญหาดินเป็นกรดจัดมากเมื่ออยู่ในสภาพแห้ง ใส่ปูนมาร์ล หรือหินปูนฝุ่นหรือปูนขาว อัตรา 2-3 ตันต่อไร่ หว่านบนร่องปลูกและผสมกับดินในหลุมปลูก อัตรา 2.5 กก./หลุม

ปัญหาดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่าง หรือธาตุอาหารพืชไม่สมดุล แก้ไขโดยการใช้ปุ๋ยทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี 1) การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้แก่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตรา 15-20 กก./ต้น/ปี 2) การใส่ปุ๋ยเคมีควรปฏิบัติดังนี้ เช่น

มะพร้าว อายุ 1-5 ปี ใส่ปุ๋ยสองครั้งในช่วงต้นและปลายฤดูฝน ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 1.0 กก./ต้น x อายุปี ร่วมกับปุ๋ยสูตร 0-0-6 อัตรา 0.5 กก./ต้น x อายุปี มะพร้าวอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ใส่ปีละสองครั้งเช่นเดียวกัน ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือสูตร 16-16-16 อัตรา 6 กก./ต้น x อายุปี ร่วมกับปุ๋ยสูตร 0-0-6 อัตรา 0.5 กก./ต้น x อายุปี