กลุ่มชุดดินที่ 10

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นพวกดินเหนียว ดินบนมีสีดำหรือสีเทาแก่ ดินล่างมีสีเทามีจุดประสีน้ำตาลปนเหลือง สีแดง และพบจุดประสีน้ำตาลปนเหลืองฟางข้าวของสารจาโรไซต์ ภายในระดับความลึก 100 ซม. จากผิวดิน พบบริเวณที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล น้ำแช่ขังลึก 100 ซม. นาน 6-7 เดือน เป็นดินลึก มีการระบายน้ำเลว ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เป็นกรดจัดมาก pH 4.5 ได้แก่ ชุดดินองครักษ์ ชุดดินรังสิตประเภทที่เป็นกรดจัดมาก นูโน๊ะ เชียรใหญ่ ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้ทำนา บางแห่งมีการยกร่องปลูกพืชผัก ส้มเขียวหวาน และสนประดิพัทธ์ หากไม่มีการใช้ปูน เพื่อแก้ไขความเป็นกรดของดิน พืชที่ปลูกมักไม่ค่อยได้ผล

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินเป็นกรดจัดมาก ฤดูฝนมีน้ำแช่ขังนาน 6 - 7 เดือน ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ

ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช : เมื่อพิจารณาสภาพพื้นที่ ลักษณะเนื้อดินและการระบายน้ำของดินกลุ่มชุดดินที่ 10 มีศักยภาพเหมาะสมที่จะใช้ทำนามากกว่าปลูกพืชอย่างอื่น เนื่องจากสภาพพื้นที่ราบเรียบถึงราบลุ่ม เนื้อดินเป็นดินเหนียวและดินมีการระบายน้ำเลวถึงเลวมาก ซึ่งในสภาพปัจจุบันใช้ทำนาอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ให้ผลผลิตต่ำเพราะดินเปรี้ยวจัดหรือ ดินกรดกำมะถัน การที่จะนำกลุ่มชุดดินนี้มาใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชอย่างอื่น เช่น พืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชผักต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงดินหรือการพัฒนาที่ดิน เช่น การทำคันดินล้อมรอบพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วม การยกร่องปลูกเพื่อช่วยการระบายน้ำของดิน และการใส่ปูนเพื่อแก้ความเป็นกรดจัดของดิน สามารถปลูกพืชที่กล่าวนี้ได้

การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 10

ปลูกข้าวหรือทำนา ข้อจำกัดที่สำคัญคือ ความเป็นกรดจัดหรือดินเปรี้ยวจัด ทำให้การปลูกข้าวไม่ได้ผล หรือผลผลิตต่ำ ควรมีการจัดการดังต่อไปนี้ เพื่อเพิ่มผลผลิตของข้าวที่ปลูกดังนี้

1) การยับยั้งความเป็นกรดของดินเพิ่มขึ้น บริเวณที่มีน้ำชลประทาน ดินควรมีน้ำขังแช่ เพื่อไม่ให้หน้าดินแห้ง จะทำให้ดินเป็นกรดเพิ่มขึ้นควรปลูกข้าวอย่างน้อย 2 ครั้ง ในรอบปี

2) การล้างกรดออกจากดิน ทำให้ทั้งล้างด้วยน้ำฝนและน้ำชลประทาน ปล่อยให้น้ำขังแช่ในแปลงนาไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ จะช่วยลดความเป็นกรดของดิน เสร็จแล้วจึงเตรียมดินปลูกข้าว แล้วค่อย ๆ ระบายออกควรทำหลาย ๆ ครั้ง

3) การแก้ไขความเป็นกรด ที่ได้ผล คือ การใช้ปูนต่าง ๆ เช่น ปูนขาว ปูนมาร์ล ปูนเปลือกหอยเผา หินปูนบด หรือหินปูนฝุ่น เป็นต้น ใส่ลงไปในดินเพื่อไปทำปฏิกิริยากับลดความเป็นกรดของดินและลดปริมาณสารพิษต่างๆ ให้น้อยลง อัตราที่ใช้อยู่ระหว่าง 2-4 ตันต่อไร่ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเป็นกรดของดินและชนิดของปูน ใส่ครั้งหนึ่งจะมีผลอยู่ได้ประมาณ 5 ปี สำหรับวิธีการใส่นั้น ให้หว่านปูนให้ทั่วแปลงนา แล้วทำการไถแปรและปล่อยน้ำให้ขังแช่ประมาณ 10 วัน หลังจากนั้น ระบายน้ำออกเพื่อล้างสารพิษ แล้วค่อยขังน้ำใหม่เพื่อทำเทือกและรอปักดำ การปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินเพื่อเพิ่มผลผลิตของข้าว จำเป็นต้องมีการใช้ปุ๋ยช่วยและการปลูกพืชบำรุงดินสลับกับการปลูกข้าว โดยปลูกในช่วงฤดูแล้ง

การใช้ปุ๋ยเคมี สำหรับพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อแสงปลูกในฤดูฝน ใช้ปุ๋ย 16-20-0 อัตรา 123-150 กก./ไร่ หรือปุ๋ย 16-20-0 อัตรา 30 กก./ไร่ ใส่รวมกับปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 74-96 กก./ไร่ หรือร่วมกับปุ๋ยยูเรีย อัตรา 33-43 กก./ไร่ สำหรับพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อแสงปลูกในฤดูแล้ง ใช้ปุ๋ย 16-20-0 อัตรา 87-103 กก./ไร่ หรือ 16-20-0 อัตรา 30 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับปุ๋ยแอมโมเนียม
ซัลเฟต อัตรา 46-58 กก./ไร่ หรือ ร่วมกับปุ๋ยยูเรีย อัตรา 20-26 กก./ไร่ การเลือกปลูกพันธุ์ข้าวทนดินเปรี้ยวจัดจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าว ซึ่งได้แก่ พันธุ์ข้าวที่มีความทนทานต่อสภาพดินเปรี้ยวจัด เช่น พันธุ์ข้าวลูกแดง ข้าวขาวตายก รวงยาว สีรวง อัลอัมดูลิละห์ ลูกเหลือง พันธุ์ข้าวที่มีความทนทานปานกลางต่อสภาพดินเปรี้ยวจัด เช่น ข้าว พันธุ์ข้าวแดง เหลืองประทิว 123 อะพอลโล ทุ่งทอง นวลแก้ว หมออรุณ ลูกนาค ขาวดอกมะลิ 105 ทุ่งทอง กข.21 กข.23 กข.7 กข.13 กข.19 กข.27 กข.25 สุพรรณบุรี 90 แก่นจันทร์ ดอกมะลิ สะกุย ตะเภาแก้ว 161 เล็บมือนาง ขาวตาแห้ง

ปลูกพืชไร่ กรณีปลูกพืชไร่ในช่วงฤดูแล้งหลังการเก็บเกี่ยวข้าว หรือกรณีเปลี่ยนการทำนาไปเป็นปลูกพืชไร่ถาวร ต้องมีการปรับปรุงสภาพพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝนและมีการยกร่องปลูกเพื่อช่วยการระบายน้ำ ปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่มชุดดินที่ 1 แก้ความเป็นกรดของดิน ควรใส่ปูน หินปูนฝุ่นหรือปูนมาร์ลให้ทั่วแปลง อัตราประมาณ 2 ตันต่อไร่ ใส่แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากับดินทิ้งไว้ประมาณ 15 วันก่อนปลูกพืช ทำให้ดินร่วนซุย ควรมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอัตราประมาณ 2-3 ตันต่อไร่ หรือมีการปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบลงไปในดินสลับกับการปลูกพืชไร่

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น ข้าวโพดหวาน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-20-20 หรือสูตร 15-15-15 อัตรา 50-100 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละเท่า ๆ กัน คือ ใส่รองก้นหลุมก่อนปลูกและใส่เมื่อข้าวโพดอายุ ประมาณ 25 วัน และใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 100 กก./ไร่ โดยใส่สองข้างแถวข้าวโพดแล้วพูนดินกลบโคลนเมื่ออายุข้าวโพด 25-30 วัน

ถั่วเขียว ถั่วลิสง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 30 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ยรองพื้น 15 กก./ไร่ และครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยที่เหลือเมื่อต้นถั่วเขียวมีอายุ 20-25 วัน โดยโรยปุ๋ยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ ในกรณีปลูกถั่วเขียวโดยวิธีหว่านให้ใช้อัตราเดียวกัน และ ถั่วเขียว ถั่วลิสง ควรจะคลุกเมล็ดด้วยไรโซเบียมก่อนปลูก

ถั่วเหลือง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 20-30 กก./ไร่ หรือสูตร 10-20-10 อัตรา 25-35 กก./ไร่ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง

ฝ้าย สูตรปุ๋ยเคมีที่ใส่คือ 0-3-0 (หินฟอสเฟต) อัตรา 100-200 กก./ไร่ ใส่ร่วมกับปุ๋ยสูตร 18-4-5 อัตรา 30-40 กก./ไร่ หรือ 25-7-7 อัตรา 20-30 กก./ไร่ โดยใส่ปุ๋ยสูตร 0.3.0 ด้วยการหว่านตอนปลูก (3-4 ปีครั้ง) และใส่ปุ๋ยร่วมหลังปลูก 20-25 วัน โดยโรยข้างแถวปลูกแล้วพรวนกลบและใส่ทุกปี

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น การทำคันดินรอบพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน ถ้าเป็นไปได้ควรติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำออกเมื่อมีฝนตกหนัก การยกสันร่องสำหรับปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ให้มีขนาดกว้าง 6-8 เมตร ส่วนท้องร่อง(ระบายและกักเก็บน้ำ) กว้าง 1-1.5 เมตร ความลึกประมาณ 1 เมตร หรือลึกเหนือชั้นดินเลนที่มีไพไรท์เป็นองค์ประกอบอยู่สูง ซึ่งร่องควรจะต่อเนื่องกับร่องรอบสวนที่อยู่ติดกับคันดินป้องกันน้ำท่วม เพื่อการระบายน้ำเข้าออก ควรระบายน้ำในร่องออก 3-4 เดือน/ครั้ง และควรควบคุมน้ำในร่องไม่ให้ต่ำกว่าชั้นดินเลนทีมีไพไรท์เป็นองค์ประกอบอยู่สูง เพื่อป้องกันไม่ให้ดินเป็นกรดเพิ่มขึ้น การแก้ความเป็นกรดจัด โดยการใช้ปูนฝุ่น หินปูนบด หรือปูนมาร์ล หว่านให้ทั่วทั้งร่องที่ปลูก อัตราประมาณ 2-3 ตัน/ไร่ สำหรับดินในหลุมปลูกให้ผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก และผสมกับหินฝุ่นหรือหินปูนมาร์ล อัตรา 2.5 กก./หลุม ในกรณีที่ไม่ได้หว่านปูนมาร์ลบนร่องปลูก ให้คลุกหินปูนบดหรือปูนมาร์ลกับดินในหลุมปลูก อัตรา 15 กก./หลุม ในการแก้ความเป็นกรดจัดของดิน

การปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ การปลูกไม้ผลในกลุ่มชุดดินที่ 10 ที่จะให้ได้
ผลดีนั้น จำป็นต้องมีการใช้ปุ๋ยเคมีช่วยนอกเหนือจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมัก สูตรอัตราการใช้และวิธีการใช้ปุ๋ยเคมีนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ผลที่ปลูก เช่น ส้มเขียวหวานและส้มโอที่ตกผลแล้ว ใส่ปุ๋ยหลังเก็บผลผลิตแล้ว 2 ครั้ง และหลังติดผลแล้ว 1 ครั้ง สูตร 12-3-6 อัตรา 600-700 กรัม/ต้น คูณอายุต้นและสูตร 14-4-9 อัตรา 500-600 กรัม/ต้น คูณอายุ ร่วมกับ 14-0-20 อัตรา 100-150 กรัม/ต้น คูณอายุต้น ใส่ครั้งที่ 3 ใส่หลังติดผลแล้ว