กลุ่มชุดดินที่ 1

วิธีการใช้เอกสารการจัดการดิน ให้ตรวจสอบว่า พื้นที่ของท่านอยู่ในกลุ่มชุดใด จากแผนที่กลุ่มชุดดิน (62 กลุ่มชุดดิน) หรือรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้นของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน (มาตราส่วน 1:50,000) เมื่อทราบแล้วจึงเลือกใช้เอกสารการจัดการดินตามกลุ่มชุดดินที่ต้องการ

ลักษณะโดยทั่วไป : เนื้อดินเป็นดินเหนียวจัด หน้าดินแตกระแหงเป็นร่องเล็กในฤดูร้อน สีดินส่วนมากเป็นสีดำ หรือสีเทาแก่ ตลอดชั้นดินอาจมีจุดประสีน้ำตาลหรือสีเหลืองปะปนอยู่บ้างในดินชั้นบน ส่วนดินชั้นล่างมักจะมีก้อนปูนปะปน เกิดจากต้นกำเนิดดินพวกตะกอนลำน้ำบริเวณเทือกเขาหินปูน หรือหินภูเขาไฟ สภาพพื้นที่พบตามที่ราบลุ่มตั้งแต่ที่ราบน้ำท่วมถึงตะพักลำน้ำระดับต่ำ มีน้ำแช่ขังในฤดูฝนลึก 30 - 40 ซม.นาน 3-4 เดือน ดินลึก มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลางถึงสูง pH 6.5-8.0 ได้แก่ ชุดดินช่องแค ท่าเรือ โคกกระเทียม บ้านหมี่ ลพบุรี-ทำนาบุรีรัมย์-ทำนา บางเลน บ้านโพด และวัฒนา

ปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน : ดินเหนียวจัด การไถพรวนลำบาก ดินแห้งจะแตกระแหงเป็นร่องลึก ทำให้น้ำซึมหายได้ง่ายเมื่อฝนทิ้งช่วงนานกว่าปกติ ในช่วงฤดูฝนมีน้ำแช่ขัง

ความเหมาะสมสำหรับปลูกพืช : พื้นที่มีศักยภาพเหมาะสมทำนา ในฤดูฝนมีน้ำขัง 3-4 เดือน แต่สามารถปลูกพืชไร่ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว และผักต่าง ๆ ก่อนและหลังการปลูกข้าว ถ้ามีน้ำชลประทาน หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ

การจัดการกลุ่มชุดดิน 1

ปลูกข้าวหรือทำนา เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน โดยการไถกลบตอซัง หลังการเก็บเกี่ยวข้าว การปลูกพืชตระกูลถั่วในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วหมุนเวียนกับพืชไร่อย่างอื่น หรือการปลูกพืชปุ๋ยสด เช่น ปอเทือง โสน โสนอัฟริกัน ถั่วต่าง ๆ อัตราไร่ละ 5 กก./ไร่ หว่านทั่วแปลงแล้ว
ไถกลบต้นลงดินก่อนปลูกข้าว 2-3 เดือน การใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ กรณีใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกให้ใช้อัตรา 2-3 ตัน/ไร่ ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีสำหรับพันธุ์ข้าวไวแสง เช่น ขาวปากหม้อ 148 ขาวตาแห้ง 17 ปทุมธานี 60 ให้ใช้ปุ๋ยครั้งที่ 1 สูตร 16-20-0 หรือสูตร 18-22-0 อัตรา 25-30 กก./ไร่ ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยยูเรีย 5-10 กก./ไร่ หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต 10-20 กก./ไร่ ถ้าเป็นพันธุ์ข้าวไม่ไวแสง เช่น กข. 1-5 กข.7 กข.9 สุพรรณบุรี 60 ให้ใช้ปุ๋ยครั้งที่ 1 สูตร 16-20-0 หรือสูตร 18-22-0 อัตรา 25-35 กก./ไร่ ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยยูเรีย 10-15 กก./ไร่ หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต 20-30 กก./ไร่

ปลูกพืชไร่ กรณีปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าว หรือปลูกฤดูแล้ง พืชไร่ที่จะปลูกควรมีอายุไม่เกิน 120 วัน ให้ยกร่องสูง 20-30 ซม. และมีร่องระบายน้ำรอบแปลง หรือภายในแปลงนาห่างกัน 15-20 เมตร ควรมีความกว้าง 40-50 ซม. ลึก 20-30 ซม. ทำให้ดินร่วนซุยด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ ไถคลุก-เคล้ากับดินและตากดินให้แห้ง 20-30 วัน ก่อนที่จะย่อยดิน กรณีเปลี่ยนสภาพพื้นที่จากนาข้าวเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่แบบถาวร ต้องสร้างคันดินรอบพื้นที่ปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน ภายในพื้นที่ยกร่องปลูกแบบถาวร โดยให้สันร่องกว้าง 6-8 เมตร คูระบายน้ำกว้างประมาณ 1.5 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร บนสันร่องใหญ่อาจแบ่งซอยเป็นสันร่องย่อย โดยยกแปลงให้สูงขึ้นประมาณ 10-20 ซม. และกว้าง 1.5 - 2.0 เมตร เพื่อช่วยระบายน้ำบนสันร่องและเพื่อสะดวกในการเข้าไปดูแลกำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ใช้สูตร 0-46-0 หรือ สูตร
0-40-0 อัตรา 15-20 กก./ไร่ หรือสูตร 0-20-0 อัตรา 30-40 กก./ไร่ โดยโรยปุ๋ยก้นร่องหรือหว่านปุ๋ยที่แปลงพรวนดินกลบปุ๋ยก่อนปลูก

อ้อย ใช้สูตร 16-8-8 อัตรา 70-90 กก./ไร่ หรือสูตร 20-10-10 อัตรา 50 กก./ไร่ สำหรับอ้อยปลูกใส่ครั้งเดียวพรวนกลบ เมื่ออ้อยอายุ 60-90 วัน ส่วนอ้อยตอ ใช้สูตร 10-5-5 อัตรา 40-50 กก./ไร่ ใส่ครั้งเดียวโรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ สำหรับปุ๋ยที่ใส่เพื่อแต่งตอ ใช้สูตร 15-10-10 อัตรา 100 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่หลังแต่งกอ และครั้งที่สองใส่หลังครั้งแรก 40-60 วัน

ฝ้าย ใช้สูตร 21-0-0 อัตรา 20-30 กก./ไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 15-20 กก./ไร่ ใส่หรือปลูก 20-25 วัน โดยโรยข้างแถวแล้วพรวนดิน

ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น จัดทำคันดินรอบพื้นที่ ยกร่องตามความยาวพื้นที่ ขนาดกว้าง 6 เมตร สูง 80-100 ซม. ท้องร่องระหว่างร่องปลูกกว้าง 1.5-2.0 เมตร ลึก 1 เมตร ร่องน้ำระหว่างสันร่องที่ปลูกพืชควรต่อเนื่องกับร่องรอบสวนที่อยู่ติดกับคันดิน ป้องกันน้ำท่วม เตรียมหลุมปลูกขนาดกว้างxยาวxลึก ประมาณ 50-100 ซม. แยกดินชั้นบนและล่าง กองไว้ปากหลุมทิ้งตากแดด 1-2 เดือน
คลุกดินกับปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 10-20 กก./หลุม เป็นดินปลูก ปุ๋ยอินทรีย์ที่ใส่ปีละครั้ง อัตรา 10-30 กก./ไร่ ส่วนปุ๋ยเคมีขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ผล

การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น มะม่วง (ให้ผลแล้ว) ใช้ปุ๋ยสูตร 20-10-10 อัตรา 1.5-3.0 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ครั้งที่ 2 หลังตัดแต่งกิ่ง ครั้งที่ 3 ใส่ช่วงหลัง
ติดผลแล้ว

ส้ม (ที่ตกผลแล้ว) ใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 2.0 กก./ต้น/ปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง

ขนุน ใช้สูตร 15-15-15 หรือสูตร 13-13-21 อัตรา 2.0 กก./ต้น/ปี โรยปุ๋ยรอบโคนต้นรัศมีพุ่มใบ พรวนดิน พูนโคนกลบปุ๋ยต้นฤดูฝน